ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
อาชญา ข่าวสด
เร่งปราบพนันออนไลน์
ซ้ำเติม-พิษวิกฤตโควิด
ลงดาบคนชักชวนด้วย
ฟันอีก-แอพพ์เงินกู้เถื่อน
ยังอยู่ในภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทะลุหมื่น เสียชีวิตหลักร้อยต่อวัน
กลายเป็นงานหนักของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ภัย ที่เร่งมือช่วยควบคุมสถานการณ์ไม่ให้วิกฤตไปมากกว่านี้
รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์ และปิดสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะการให้ทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้ประชาชนต้องติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งความจำเป็นเหล่านั้นทำให้รูปแบบของมิจฉาชีพเปลี่ยนไปเช่นกัน
หันมาใช้ช่องทางออนไลน์หลอกลวงต้มตุ๋น ทั้งหลอกขายสินค้า หรือการกู้เงินจากแอพพ์เงินกู้เถื่อน รวมทั้งชักจูงเข้าสู่วังวนการพนันออนไลน์
หลายคนที่หลงเป็นเหยื่อ ถูกปอกลอกจนหมดตัว กลายเป็นภัยซ้ำเติมประชาชนในช่วงวิกฤตโควิดนี้
ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดูแลไม่ให้มิจฉาชีพเหล่านี้ซ้ำเติมความทุกข์ร้อนของประชาชนอีก
ภัยไซเบอร์ซ้ำเติมโควิด
สําหรับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ หรืออาชญากรรมออนไลน์ ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อให้เท่าทันอาชญากรรมรูปแบบใหม่นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้เสนอตั้งกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขึ้นมาดูแลปัญหาดังกล่าว
มีอำนาจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร บังคับใช้กฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
โดยมีจุดเด่นเรื่องการตรวจพิสูจน์และกู้พยานหลักฐานดิจิตอล ตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิตอล เพื่อสนับสนุนงานที่มีความซับซ้อน
ซึ่งแยกจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ที่รับผิดชอบภารกิจเกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัย และการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นภัยกับความมั่นคงประเทศเป็นหลัก
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ระบุ อาชญากรรมไซเบอร์แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. ประเภทหลอกลวงโอนเงิน หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลไปทำธุรกรรมธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ และแชร์ลูกโซ่หลอกให้ลงทุน
2. การใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการซื้อ-ขายสินค้า และสิ่งของผิดกฎหมาย หลอกขายสินค้าออนไลน์ สินค้าไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม หนีภาษี
3. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้าง หรือแชร์ข่าวปลอม การแฮ็กเกอร์ เพื่อเรียกค่าไถ่
4. ประเภทการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือสตรี การซื้อ-ขายสิ่งของลามกอนาจาร บริการทางเพศ การค้ามนุษย์ การบังคับแรงงาน ทางอินเตอร์เน็ต
และ 5. การพนันออนไลน์ และอาชญากรรมข้ามชาติ
ถือเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่ต้องปราบปราม!??
เร่งกวาดล้างแอพพ์เงินกู้เถื่อน
โดยปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์หลอกลวงประชาชนช่วยสถานการณ์โควิดระบาด พบเรื่องแอพพลิเคชั่นกู้เงินสด ใช้จังหวะที่ประชาชนเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ เล็งหาเหยื่อทางไลน์ ให้กู้เงิน ก่อนจะคิดดอกเบี้ยโหด แถมยังแฮ็กเข้าสู่ระบบมือถือ เพื่อเข้าถึงหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้ เมื่อผู้กู้ไม่มีเงินชำระ หรือผิดนัด ก็จะใช้วิธีประจานให้ได้อับอาย
ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บช.สอท.รับแจ้งความกรณีแอพพลิเคชั่น Easy Money หรือ EZ Cash มีการเรียกรับดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ถ้าจะกู้เงิน 2,500 บาท จะได้รับเงินจริงเพียง 1,600 บาท ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าดำเนินการ คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ ต้องคืนเงินภายใน 7 วัน
หากเกินจะถูกปรับวันละ 200 บาท และติดตามหนี้สินข่มขู่ไปยังบุคคลที่สาม โดยใช้โปรแกรมที่จะขอสิทธิ์การเข้าถึงรูปภาพ และข้อมูลรายชื่อ เบอร์โทร.ผู้ติดต่อบนเครื่องผู้กู้
หลังรับแจ้งเหตุ สืบสวนและรวบพยานหลักฐาน ทั้งเรื่องข้อมูลนิติบุคคล การขออนุญาตประกอบกิจการสินเชื่อส่วนบุคคล แอพพลิเคชั่น รวมทั้งหมายเลขไอพีแอดเดรส บัญชีธนาคารต่างๆ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงขออนุมัติศาลขอหมายค้นบริษัทแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก ในการเข้าตรวจค้น สามารถยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตจำนวนมาก ทั้งนี้ ระหว่างทำการตรวจค้นพบพนักงานกว่า 20 รายกำลังทำงานพูดคุย ติดต่อให้กู้เงิน ทวงหนี้ลูกค้าอยู่ภายในบริษัท จึงจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด และสอบสวนหานายทุนใหญ่ ขยายผลไปให้ถึงผู้บงการ
รวมทั้งติดตามตรวจสอบแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่เข้าข่ายการกระทำผิดเช่นนี้ด้วย
ทั้งนี้ แนวทางการป้องกัน ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทัน โดยแนะนำให้กู้เงินกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ไม่ควรยินยอมให้แอพพลิเคชั่นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์ หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาโดยเด็ดขาด ควรอ่านรายละเอียดข้อตกลงและเงื่อนไขในการทำสัญญาให้ดีก่อนทุกครั้ง หากการกู้ยืมใด ที่ต้องโอนค่ามัดจำ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นการหลอกลวง
เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรเหล่านี้
จับดะ! เว็บพนัน-คนชักชวน
อีกกรณีที่เป็นความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชนอีกอย่าง ก็คือเรื่องการผุดขึ้นของบ่อนการพนันออนไลน์ ยิ่งผ่านช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร ที่มีการจับกุมทลายกันไปหลายเว็บไซต์ ได้ผู้ต้องหาหลายราย รวมทั้งเงินหมุนเวียนจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีพฤติกรรมชักชวนบุคคลเล่นการพนัน โดยใช้เน็ตไอดอล หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ จนต้องดำเนินคดี
โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายเรื่องการปราบปรามการพนันทุกรูปแบบโดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างอยู่ในโลกโซเชียล เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก แม้จะเร่งปราบปรามแต่ก็ยังไม่หมดไป
บก.ปอท.สืบสวน จับกุมมาแล้วหลายราย เช่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มงานสนับสนุน บก.ปอท. ร่วมกันจับกุมตัวนายอนุพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี น.ส.ภคมน (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี และนายชวนากร (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ทั้ง 3 รายเป็นเน็ตไอดอล มีผู้ติดตามในบัญชีเฟซบุ๊กและยูทูบรายละหลายแสนคน
ส่วนอีกราย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท.จับกุมน้องพลอย น.ส.สิริกานต์ นางแบบเพลย์บอย อ้างตัวเป็นครีเอเตอร์วิดีโอ เจ้าของบัญชี เฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3.8 หมื่นคน และเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้านคน ที่กระทำความผิดด้วยการแฝงโฆษณาชักชวนเล่นพนันออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหา “เป็นผู้ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนัน ในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต”
จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชน ให้ช่วยกันหยุดวงจรการพนันออนไลน์ โดยหากพบเห็นการกระทำความผิดหรือพบเบาะแสเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ แจ้งไปยังสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง
และเน้นย้ำสำหรับเน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุน ดารานักแสดง นายแบบ นางแบบ ยูทูบเบอร์ วิดิโอ ครีเอเตอร์ ที่มีส่วนชักชวนให้ผู้อื่นเล่นการพนัน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลเหล่านี้อาจเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการชักชวนให้บุคคลอื่นทั้งผู้ใหญ่หรือเด็กและเยาวชนเล่นการพนัน เว็บไซต์การพนันจึงพยายามติดต่อว่าจ้างให้โฆษณาเว็บไซต์การพนันให้
เอาผิดทั้งคนชักชวนและเว็บพนัน
ไม่ให้ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนที่ทนทุกข์จากวิกฤตโควิด!!