สุดจะ ‘ต้าน’ ประยุทธ์-พรรครัฐบาล โดดหนี ‘เรือดำน้ำ’ ผวาเจอตอร์ปิโดโควิด/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สุดจะ ‘ต้าน’

ประยุทธ์-พรรครัฐบาล

โดดหนี ‘เรือดำน้ำ’

ผวาเจอตอร์ปิโดโควิด

 

ยุคนี้กองทัพตกเป็นเป้าทุกฝีก้าว นับจากเหตุการณ์ คสช.ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านมา 5 ปียุค คสช. และ 2 ปีในยุค “รัฐบาลเลือกตั้ง” แม้แผงอำนาจ 3 ป.ยังคงอยู่ แต่หนทางไม่ง่ายเฉกเช่นยุค คสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะในยุคนี้มี “สภา ส.ส.” ที่ทำหน้าที่ “นิติบัญญัติ” ตรวจสอบรัฐบาล

หนึ่งในนั้นคือการพิจารณางบประมาณในแต่ละปี ทำให้การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไม่ได้ง่ายเช่นยุค คสช.

ผนวกกับที่สังคมตื่นรู้และตรวจสอบ ทำให้กองทัพต้องคิดหนักในการเสนอโครงการแต่ละปี

ล่าสุดคือกรณีกองทัพเรือออกมายอมรับว่าเตรียมเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ลำที่ 2-3 หลังทางกองทัพเรือได้เจรจากับกระทรวงกลาโหมจีน ในการจ่ายเพียง 1 ใน 3 งวดงบประมาณปี 2565 ซึ่งตกอยู่ที่ 900 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 20 จากราคาทั้งหมด 22,500 ล้านบาท ซึ่งกองทัพเรือย้ำว่าเป็นการเสนอตามหน้าที่

หลัง “บิ๊กอุ้ย” พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. เคยกล่าวในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ อย่าให้การ “ทำหน้าที่” ต้องกลายเป็น “จำเลย” หลังกองทัพเรือต้องเลื่อนจัดซื้อลำที่ 2-3 มาแล้ว 2 ปี เพื่อนำงบฯ ส่วนนี้มาช่วยสถานการณ์โควิดที่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 โดยครั้งแรกเป็นการตัดงบฯ ตาม พ.ร.บ.โอนคืนงบประมาณฯ โดยเป็นงบฯ โครงการเรือดำน้ำ 3,375 ล้านบาท

และครั้งที่ 2 ถูกตัดงบฯ ในขั้นคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณปี 2564 วงเงิน 3,925 ล้านบาท หลังทางกองทัพเรือได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ ปรับลดงบฯ เหลือ 0 บาท

 

ทั้งนี้ ไม่ทันข้ามวันที่กองทัพเรืออกมายอมรับจะมีการเสนอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ พล.ร.อ.ชาติชาย ผบ.ทร.ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน เมื่อ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปว่า จะ “ถอนโครงการ” ในที่ประชุม กมธ.พิจารณางบฯ ปี 2565 เมื่อ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยเป็นผลมาจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้กองทัพเรือถอนแผนจัดซื้อเรือดำน้ำ จากงบฯ ปี 2565 ออกไปก่อน

ทั้งนี้ กองทัพเรือจะต้องไปชี้แจงและเจรจากับทางกระทรวงกลาโหมจีนและกองทัพเรือจีนอีกครั้ง เพราะเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์จะถอยแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลยังกระโดดถอยด้วย โดยในฝั่งรัฐบาลผู้ที่จับกระแสได้ไวคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. ออกมาประกาศมติ พปชร. ค้านซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ด้วยเหตุผลไทยยังเจอวิกฤตโรคระบาด เป็นการนำทีมกระโดดหนีต่อกระแสคนไม่พอใจอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าได้สัญญาณมาจาก “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ต่อมาพรรคพรรคภูมิใจไทย นำโดย “แบด” ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย หนึ่งใน กมธ.พิจารณางบฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ครับผม ท่านเสนอตามหน้าที่ พวกผมก็มีหน้าที่พิจารณา และพวกผมภูมิใจไทยไม่เอาครับ ไม่เอาเรือดำน้ำ ควรเอาเงินไปซื้อวัคซีนให้เด็กนักเรียน เป็นไงเป็นกัน”

เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ กรรมาธิการงบประมาณของพรรค 7 คนประกาศจะไม่ผ่านงบฯ ซื้อเรือดำน้ำด้วย ถือเป็นการถอยของพรรคร่วมรัฐบาลที่ค่อนข้างพร้อมเพรียง

มาพร้อมการโหมโรงของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จุดยืนชัดเจนโหวตคว่ำเรือดำน้ำในชั้น กมธ.พิจารณางบฯ ในฝั่งพรรคเพื่อไทย นำโดย “โจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่เปรียบเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับกองทัพเรือ ในโครงการต่างๆ มาตลอด

ในส่วนพรรคก้าวไกลนำโดย “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่แถลงจุดยืนพรรค พร้อมชี้ถึง “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ที่เปลี่ยนไป และย้ำว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ไร้เดียงสาในการมอง “ยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ”

ดังนั้น จึงเป็นฉันทามติร่วมของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในการ “โหวตคว่ำเรือดำน้ำ” ล่วงหน้า 1 วัน ก่อนจะมีการประชุม กมธ.พิจารณางบฯ

 

แต่คลื่นลมก็ยังไม่สงบ คือแม้ในที่ประชุม พล.ร.อ.ชาติชาย ผบ.ทร.ได้ประกาศถอนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไป แต่กลับยังมีโครงการอื่นที่ใช้งบประมาณมากเช่นกัน

โดย “โจ้ ยุทธพงศ์” หนึ่งใน กมธ.พิจารณางบฯ ได้แถลงข่าวว่า พรรคฝ่ายค้านต้องการให้ยกเลิกงบฯ กองทัพเรือ เช่น โครงการอากาศยานไร้คนขับฐานบินชายฝั่ง วงเงิน 4,100 ล้าน ผูกพันงบฯ 4 ปี โดยเป็นงบฯ ปี 2565 จำนวน 820 ล้านบาท และโครงการสร้างระบบวิทยุสื่อสารเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท ที่เป็นเป็นออปชั่นมากับเรือดำน้ำ และถูกเสนอขอมาในงบฯ ปี 2565 ควรถูกตัดทิ้งไปทั้งหมดด้วย

ด้าน “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.ก้าวไกล ในฐานะ กมธ.พิจารณางบฯ เปิดเผยว่า ยังมีงบฯ กองทัพที่ชวนให้ตั้งคำถาม เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักทหาร ซึ่งมีทุกเหล่าทัพในงบฯ สร้าง-ซ่อม เช่น บ้านพักของกองทัพอากาศ 344 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของงบฯ ก่อสร้างในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ที่มีงบฯ ทั้งหมด 878 ล้านบาท โครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำ ในพื้นที่กองเรือยุทธการ วงเงิน 294 ล้านบาท ที่มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง และยกเลิกถึง 3 ครั้ง

นายพิจารณ์กล่าวอีกว่า ยังมีการเสนองบฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ 10 กว่ารายการ รวม 3,760 ล้านบาท มีรายการที่ตั้งใหม่ด้วย คือ โครงการสร้างระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ งบฯ ผูกพัน 3 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายพิจารณ์ตั้งคำถามถึงโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีข้อพิรุธหรือไม่ เช่น โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำระยะ ที่ 1 พบว่า ตั้งงบฯ ไว้ 900 ล้านบาท แต่มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างแบบ แล้วยกเลิกถึง 5 ครั้ง พอมาประกาศใหม่เป็นครั้งที่ 5 ให้จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ถึงได้ผู้ชนะ เป็นบริษัทจากประเทศจีน China Shipbuilding Offshore International Co.,Ltd. (CSOC) ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ขายเรือดำน้ำ เมื่อดูเนื้องานแล้ว เป็นงานโยธาทั่วไป เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทยเข้าแข่งขัน เชื่อได้ว่าอาจกำหนดตั้งแต่ทีโออาร์ทำให้บริษัทไทยไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่

และโครงการก่อสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำวงเงิน 958 ล้านบาท ก็มีการประกาศและยกเลิกถึง 4 ครั้ง ถึงได้ผู้ชนะการประมูลแบบเฉพาะเจาะจงถึง 3 ครั้ง โดยใช้วิธีการประกาศเชิญชวน ในชั้นกรรมาธิการได้มีการถามถึงข้อพิรุธในกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับเรือดำน้ำ กองทัพเรือกลับเลี่ยงตอบถึงความไม่โปร่งใสนี้

“การที่กองทัพเรือออกข่าวว่าจะเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำออกไป เป็นการเบี่ยงความสนใจของสังคมให้ไปโฟกัสที่เรือดำน้ำ แล้วสอดไส้ผ่านงบประมาณอื่นได้ง่ายขึ้น เรายังเห็นมีตั้งซื้ออาวุธมูลค่าสูงของกองทัพเพิ่มเติมในปีนี้ ผมจึงอยากถามว่า ในภาวะที่ประชาชนกำลังยากลำบากจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ กองทัพกลับยังตั้งซื้ออาวุธเป็นปกตินั้น มีความเหมาะสมหรือไม่” นายพิจารณ์กล่าว

 

ด้านนายพิธา หนึ่งใน กมธ.พิจารณางบฯ ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานกระทรวงกลาโหม ว่า กระทรวงกลาโหมมีแผนแม่บทการปฏิรูป การบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมปี 2560-2569 ออกมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อที่จะปรับลดอัตรากำลังพล ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยรบ และยุบควบรวมหน่วยที่ไม่จำเป็นแล้วปรับโอนงานให้เอกชน ซึ่งตอนนี้ปี 2564 แผนปรับโครงสร้างกลาโหมใช้มาได้ 4 ปีแล้ว จึงต้องมาขอทวงความคืบหน้าจากปลัดกระทรวงและผู้นำเหล่าทัพว่าลดกำลังพลและปรับโครงสร้างได้จริงหรือไม่

นายพิธากล่าวต่อว่า จากข้อมูลสถานภาพกำลังพลทหารบกเมื่อปี 2561 ที่เผยแพร่โดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยเป็นรายงานของ พล.ท.สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. ผ่านรายงานที่ชื่อว่า “การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” พบว่ากองทัพบกมีการบรรจุอัตรากำลัง 260,000 นาย เป็นส่วนการรบ รวมไปถึงการมีส่วนสนับสนุนการรบ เช่น ทหารปืนใหญ่ ปืนต่อต้านอากาศยาน เป็นจำนวน 160,000 อัตรา และอีก 100,000 นาย น่าจะใช้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมทดแทนได้ โดยทหารจำนวน 160,000 นายที่กล่าวถึงนั้น ซึ่งจาก 160,000 นาย มีทหารที่ทำหน้าที่ภารกิจหลักคือการป้องกันชายแดนเพียงแค่ 25,000 นาย ใช้สนับสนุน กอ.รมน. 28,000 นาย

สรุปว่ามีเพียง 53,000 นายเท่านั้นเองที่ทำภารกิจหลักของกองทัพ ซึ่งก็หมายความว่าส่วนที่เหลือทำภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาของกองทัพที่ต้อง “รีดไขมัน” ทั้ง “อาวุธ” และ “กำลังพล” เพื่อให้ตอบโจทย์กับภารกิจของกองทัพอย่างแท้จริง ไม่ซ้ำซ้อนหน่วยงานพลเรือน

รวมทั้งการ “ปฏิรูปกองทัพ” ในแง่โครงสร้างไปถึง “วัฒนธรรมทางความคิด” เพื่อให้เป็น “ทหารอาชีพ” แบบสากล ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง

เพราะเมื่อกองทัพอยู่กับภารกิจของตัวเองอย่างชัดเจนและตอบโจทย์สังคมประชาธิปไตย เมื่อนั้นกองทัพก็จะสามารถ “ฟื้นศรัทธา” กลับมาได้ ไม่ตกเป็นเป้านิ่งเช่นนี้

ถือเป็นช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของกองทัพที่ต้องระวัง เพราะวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาล ต่อกองทัพกำลังขึ้นสูง จำต้องถอย โดยเฉพาะเรือดำน้ำ มิเช่นนั้นอาจเจอตอร์ปิโดจากไวรัสโควิด-19 ถล่มซ้ำไม่ใช่เฉพาะเรือดำน้ำ หากแต่เป็นรัฐนาวาด้วย!