จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : หนังเหนียว (2) / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

หนังเหนียว (2)

 

คนไทยเชื่อกันว่า ‘เครื่องรางของขลัง’ ทำให้หนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน อาวุธใดก็ไม่อาจทำอันตรายได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แยก 2 คำนี้ออกจากกัน

เครื่องราง คือ ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ และเหล็กไหล เป็นต้น

ของขลัง คือ สิ่งที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์

เครื่องรางสำคัญที่ป้องกันภยันตราย ของขลังสำคัญที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ในทางปฏิบัติเครื่องรางและของขลังไม่อาจแยกจากกันได้เพราะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงจะแสดงคุณภาพออกมาได้อย่างสมบูรณ์

เครื่องรางจะป้องกันอันตรายได้ต่อเมื่อมีความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ของขลังก็ต้องอาศัยเครื่องรางเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความขลังนั้นออกมา

ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนร่ายคาถาอาคมปลุกเสกอาวุธและเครื่องรางให้ขลัง ทั้งยังทำให้ร่างกายพลายชุมพลคงทนด้วยอำนาจไฟและน้ำว่าน

 

“แล้วปลุกเครื่องศาสตราในทันใด

เครื่องอานบันดาลสะดุ้งโดด                  ดาบกระดิกพลิกโลดดังลูกไก่

แกว่งกวัดฉวัดเฉวียนเวียนระไว              แล้วติดไฟชุบย้อมให้ลูกยา

ไฟดับกลับพรมด้วยน้ำว่าน                   กายแข็งทนทานขึ้นหนักหนา

อยู่คงสารพัดศาสตรา                         มิ่งม้าก็ลงให้คงทน”

คงกระพันทั่วถึงทั้งคนทั้งม้า                  อาวุธและเครื่องราง

 

คาถาอาคม เป็นคำเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางจึงอยู่คู่กับคาถาหรือสิ่งที่ถือว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีวันที่จะทางใครทางมัน

 

จากวรรณคดีและตำรับตำราที่เคยผ่านตามาบ้าง ทำให้รู้ว่าเครื่องรางมีทั้งเกิดขึ้นเองและเกิดจากฝีมือคน

เครื่องรางที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีตั้งแต่พืช (รากไม้ ว่านยา) สัตว์ (เขี้ยว งา เขาสัตว์) โลหะ (เหล็กไหล ปรอท ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว) และแร่ธาตุ (อัญมณีต่างๆ)

เครื่องรางที่ผู้คนสมัยต่างๆ ทำขึ้น ปลุกเสกด้วยคาถาบวกสมาธิ (การรวมใจเป็นหนึ่ง) ให้เกิดความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ผ้า ประเจียด ตะกรุด มงคล ประคำ เข็ม พระเครื่อง ยันต์ ฯลฯ

สมัยโบราณนับถือกันว่า ถ้าเป็นชายชาตรีต้องรบเก่ง เนื้อตัวไร้รอยแผลจากคมอาวุธคู่ต่อสู้ ทุกครั้งที่มีศึกสงคราม ทหารไม่ว่าฝ่ายไหนต่างมีเครื่องรางของขลังป้องกันตัว ขนาดลิงสู้กับยักษ์ใน “รามเกียรติ์” ตอนศึกมังกรกัณฐ์ รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงทหารลิงว่า

“บ้างขี่กระทิงถือปืนยืนยัน  คาดเครื่องคงกระพันศาสตรา”

ในศึกทศกัณฐ์ครั้งที่ 6 สุครีพจัดทัพ เห็นภาพไพร่พลลิง

“บ้างโพกผ้าลงยันต์กันอาวุธ คาดตะกรุดดอกเดียวเขี้ยวหมูตัน”

ในที่นี้เครื่องรางป้องกันอาวุธมีครบ อาทิ ผ้า (ผ้าลงยันต์หรือผ้าลงเลขยันต์ อักขระคาถาอาคม) ถ้ายังนึกไม่ออกอีกชื่อคือ ‘ผ้าประเจียด’ ถือกันว่าเป็นเครื่องป้องกันอันตราย ใช้เป็นผ้าโพกหัว ผูกคอหรือผูกต้นแขน

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องรางที่เป็นกระดูกสัตว์ เช่น เขี้ยวหมูตัน และที่เป็นโลหะ เช่น ตะกรุด

 

ตะกรุด หรือ กะตุด คือแผ่นโลหะบางๆ นำมาลงคาถาอาคม อักขระหรือเลขยันต์ ปลุกเสกแล้วม้วนเข้าเป็นรูปกลมยาว กลวง สำหรับคล้องคอ ผูกแขน ผูกข้อมือ หรือคาดเอวก็ได้ แผ่นโลหะที่ว่ามีทั้งแผ่นทองแดง ตะกั่ว ดีบุก แผ่นเงิน แผ่นทอง แผ่นนาก (โลหะผสมระหว่างทองคำ ทองแดง และเงิน)

อาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์ บันทึกเพลงสรรเสริญเครื่องรางปลุกเสกซึ่งโบราณผูกไว้ว่า

 

“กะตุดโทนต้นทุน                            ของหลวงพ่อจุ่นวัดแจ้ง

ลูกประดู่ทองแดง                            แช่น้ำก็เดือด

หอกหลาวอย่าเลย                           มันไม่เคยกิน – เอยเลือด”

 

บทละครรำพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง “อิเหนา” ตอนที่ระตูบุศสิหนาเตรียมตามจับประสันตา พี่เลี้ยงของอิเหนา ทหารระตูพกพาเครื่องรางของขลังมาเพียบ

 

“บ้างแต่งตัวปลุกเสกเลขยันต์              ทาน้ำมันเคี้ยวขมิ้นกินว่าน

เนื้อเหน็บหนังเหนียวเชี่ยวชาญ            ห้าวหาญทรหดอดทน

บ้างขบฟันขันขออาสา                      รู้วิชาบังเหลื่อมล่องหน

ต่างต่างตัวดีมีเวทมนตร์                    ใส่มงคลประคำคาดเครื่องราง”

 

ในสงครามเดียวกัน ทหารของอิเหนาพร้อมสู้เต็มที่ เครื่องรางบางอย่างใกล้เคียงกับฝ่ายระตู

 

“บ้างรีบจัดแจงแต่งตน                     ใส่มงคลประคำสวมคอ

โพกประเจียดเครื่องอานอาจารย์ให้      ทาน้ำมันเสกใส่ผงดินสอ”

 

ทั้งสองฝ่ายต่างสวมใส่มงคล และประคำซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังป้องกันภยันตราย ‘มงคล’ คือ สิ่งที่ทำเป็นวงกลมด้วยด้ายดิบสำหรับสวมศีรษะ ในขณะที่ ‘ประคำ’ หรือ ‘ลูกประคำ’ ก็คือลูกกลมๆ ที่ร้อยเป็นพวงสำหรับใช้เป็นเครื่องรางทนทานต่ออาวุธทั้งหลาย

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนหนึ่งเล่าถึงย่าทองประศรีพากุมารน้อยพลายงามไปเยี่ยมพ่อบังเกิดเกล้าในคุก ขุนแผนมอบลูกประคำให้ลูกชายที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกด้วยความรักและห่วงใยยิ่งนัก

 

“พลางกอดพลายงามแอบไว้แนบอก          น้ำตาตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา

โอ้มีกรรมทำไว้แต่ไรมา                         พอเห็นหน้าลูกแล้วจะแคล้วกัน

มาหาพ่อพ่อไม่มีสิ่งไรผูก                       ยังแต่ลูกประคำจะทำขวัญ

อยู่หอกปืนยืนยงคงกระพัน                    ได้ป้องกันกายาข้างหน้าไป”

 

เครื่องรางใช่จะมีแต่ประเภทแขวน ห้อย คาดติดตัว ยังมีที่ ‘สัก’ และ ‘ฝัง’ ลงในตัว สักและฝังอะไร

ไม่ตามไม่รู้