ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เทศมองไทย |
เผยแพร่ |
เทศมองไทย
การบ้านเศรษฐกิจไทย
ในสายตา ‘เวิร์ลด์แบงก์’
รายงานของธนาคารโลก หรือเวิร์ลด์แบงก์ ว่าด้วยการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นข่าวโดยทั่วไปแล้วก็จริง แต่ต้นตอของข่าวที่ว่า ซึ่งก็คือรายงานชื่อ “การติดตามสถานะเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2021” (Thailand Economic Monitor July 2021 : The Road to Recovery) ที่ทุกคนสามารถหาอ่านได้บนเว็บไซต์ของเวิร์ลด์แบงก์ มีอะไรต่อมิอะไรให้รับรู้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น ข้อเท็จจริงที่ว่า ภาวะ “ช็อก” ทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดระลอก 2 ของไทย ส่งผลถึงกับทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกติดลบถึง 2.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นการติดลบต่อเนื่องจากปี 2020 ซึ่งจีดีพีไทยหายไปถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์
จีดีพี -2.6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกนี้ เวิร์ลด์แบงก์บอกว่า เป็นหนึ่งในการรูดลงหนักที่สุดในบรรดาสมาชิกกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกัน
ระลอก 3 ซึ่งเวิร์ลด์แบงก์ระบุว่า ผุดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งหนักหนาสาหัสเป็นพิเศษ จากมาตรการควบคุมการระบาด ลดการเคลื่อนไหวของประชากร
ซึ่งส่งผลเชิงจิตวิทยาในทางลบของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
เวิร์ลด์แบงก์มองว่า แม้จะได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออก ที่ได้รับการขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในระดับโลก ที่ทำให้ความต้องการอะไหล่และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, จักรกล และผลผลิตการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมทรงตัวอยู่ในระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ได้
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เวิร์ลด์แบงก์เคยคาดว่าทั้งปีนี้ จีดีพีไทยจะโต 3.4 เปอร์เซ็นต์ แต่พอถึงตอนนี้ การขยายตัวดังกล่าวถูกปรับลดลงเหลือ 2.2 เปอร์เซ็นต์ เพราะระลอก 3 ที่สาหัสนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสูงมาก “ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจะยังคงต่ำมากตลอดทั้งปี 2021นี้”
ผลก็คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายในไทยจะไม่ฟื้นสู่ระดับที่เคยเป็นก่อนหน้าการแพร่ระบาดจนกว่าจะถึง 2022
“การบริโภคภาคเอกชน” ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักนั้น เวิร์ลด์แบงก์คาดว่า ทั้งปีจะขยายตัวได้เพียง “เล็กน้อย” แค่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาจาก “ความเคลื่อนไหวของประชากรถูกจำกัด, ความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีน, มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการสูญเสียรายได้ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาลชดเชยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น”
ตามรายงานข่าวบอกว่า เวิร์ลด์แบงก์คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งเร็วขึ้นในปี 2020 ที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏควบคู่อยู่ด้วยก็คือ เงื่อนไข 3 ประการที่เวิร์ลด์แบงก์กำกับไว้ว่า จะต้องเกิดขึ้น การขยายตัวในอัตราสูงที่ว่าถึงจะเกิดตามมาด้วย
เงื่อนไขแรกสุดก็คือ ความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีนต้อง “รุดหน้าอย่างมั่นคง” ประการที่สองก็คือ การแพร่ระบาดในระดับโลกต้อง “ดีขึ้นตามการคาดการณ์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศ “ฟื้นตัวได้บางส่วน” และประการที่สามก็คือ จะต้องมีการเบิกจ่ายเงินตามมาตรการบรรเทาผลกระทบ 500,000 ล้านบาทที่ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมเพื่อนำไปใช้ “เต็มจำนวน”
เวิร์ลด์แบงก์ย้ำว่า แผนฉีดวัคซีนให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายในสิ้นปี 2021 ต้องเกิดขึ้น เพราะ “การชะลอช้าลงจากกำหนดดังกล่าว จะส่งผลกระทบในทางลบทั้งต่อการเคลื่อนไหวภายในประเทศ, การบริโภค และการท่องเที่ยว”
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ มุมมองเรื่องผลกระทบจากโควิดที่ก่อให้เกิดการว่างงานขึ้นในไทย เวิร์ลด์แบงก์ชี้ให้เห็นว่า อัตราว่างงานของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นสภาวะที่เพิ่มขึ้นได้ชัดเจน
ข้อมูลของเวิร์ลด์แบงก์ระบุว่า กว่าครึ่งของคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น อยู่ใน “ภาคบริการ” โดยที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ “ตำแหน่งงาน” ในไทยลดน้อยลงถึง 710,000 ตำแหน่ง การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลงมากถึง 10.9 เปอร์เซ็นต์ แต่ไปเพิ่มที่อุตสาหกรรมยานยนต์ 3.3 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง 7.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกภาคโดยรวมยังเพิ่มขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์
สุดท้าย เวิร์ลด์แบงก์ชี้ว่า “มาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาลน่าประทับใจในหลายๆ ทาง” แต่เชื่อว่า รัฐบาลสามารถ “ทำให้เข้มข้นขึ้นได้” เมื่อเวลาผ่านไป
เงินกู้ 500,000 ล้านต้องนำมาใช้ เพราะ “จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้ราว 1.5 เปอร์เซ็นต์”
และ “หากปราศจากมาตรการช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาล คนจนจะเพิ่มขึ้นจาก 6.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 เป็น 7.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021”
เหล่านี้คือ “การบ้าน” ที่รัฐบาลไทยต้องนำไปคิดหนักมากเลยทีเดียว!