โควิด-19 ในเมียนมา สถานการณ์สู่ความหายนะ/บทความต่างประเทศ

Volunteers pray in front of bodies of people who died due to the coronavirus disease (COVID-19), during their funeral at a cemetery in Mandalay, Myanmar July 14, 2021. REUTERS/Stringer

บทความต่างประเทศ

 

โควิด-19 ในเมียนมา

สถานการณ์สู่ความหายนะ

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา เวลานี้มีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งที่จะเข้าสู่ความหายนะ

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยซึ่งเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองอยู่แล้วหลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังไม่ถึง 200 ราย

แต่ล่าสุดผลกระทบจากการรัฐประหารและสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เวลานี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเมียนมาเข้าสู่ “ระลอกที่ 3” อย่างเป็นทางการแล้ว และคลื่นผู้ติดเชื้อในระลอกนี้ใหญ่ราวกับคลื่นยักษ์สึนามิ ด้วยยอดผู้ติดเชื้อที่ทำสถิติอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อถึง 5,189 ราย เสียชีวิตมากถึง 281 รายแล้ว

หากนับเฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในเมียนมา เพิ่มขึ้นมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 230,000 คน เสียชีวิตแล้วมากกว่า 5,000 ราย

แน่นอนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง การตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างจำกัด

 

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนการตรวจเชื้อต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 0.26 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นไม่ถึง 15,000 คนต่อวัน ขณะที่สัดส่วนการติดเชื้อต่อผู้เข้ารับการตรวจมีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ MRTV สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารรายงานว่า ในย่างกุ้งมีการต้องจัดการศพมากกว่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม จุดเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 3 ถึง 1,100 รายในวันนั้นเพียงวันเดียว เป็นการสะท้อนสถานการณ์ผู้เสียชีวิตในเมียนมาในเวลานี้ได้อย่างดี

ระบบสาธารณสุขของเมียนมาต้องตกอยู่ในสภาวะโกลาหล นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน กลุ่มแนวร่วมอารยะขัดขืน (ซีดีเอ็ม) ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลที่ลาออกจากโรงพยาบาลของรัฐ รวมไปถึงศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดเพื่อประท้วงรัฐบาลทหาร

และนั่นก็ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นเป้าหมายจากรัฐบาลทหารจากการโดนหมายจับ โดนจับกุม รวมถึงการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีรายงานการส่งทหารบุกยึดโรงพยาบาลด้วย

 

แม้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากจะหันไปทำงานดูแลผู้ป่วยใต้ดิน แต่ด้วยปัญหาดังกล่าวส่งผลให้โรงพยาบาลแทบทุกแห่งขาดแคลนเตียง ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนราคาแพงต้องปฏิเสธที่จะตรวจเชื้อหรือรับรักษาผู้ป่วยเพิ่ม

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายถึงกับเสียชีวิตที่หน้าโรงพยาบาลที่ปฏิเสธรับรักษา และแน่นอนว่า ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตรวจเชื้อ และถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตเพียงอาการ “ปอดอักเสบ” เท่านั้น

ในเมียนมานอกจากปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและชุดพีพีอีที่ถูกศุลกากรพม่ากักของเอาไว้ที่ท่าเรือในนครย่างกุ้งแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาขาดแคลน “ถังออกซิเจน” ที่ประชาชนจำนวนมากต่างต้องแย่งกันหาซื้อ รวมถึงแย่งกันหาแหล่งบริการเติมออกซิเจนที่มีอยู่อย่างจำกัด บางรายตระเวนหาออกซิเจนข้ามคืน ต่อคิวเติมออกซิเจนกันเป็นแถวยาวนานนับชั่วโมง เพื่อความหวังประคองชีวิตของคนในครอบครัวที่ป่วยหนัก และยังเสี่ยงต่อการถูกจับกุมในข้อหาละเมิดมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการละเมิดเคอร์ฟิวในยามค่ำคืน ขณะที่รัฐบาลพยายามจัดการกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นรายวัน

ด้านบุคลากรทางการแพทย์โจมตีบรรดาทหารระดับสูงว่าเป็นฝ่ายกักตุนออกซิเจนเอาไว้เองเป็นจำนวนมาก โดยมีรายงานว่ามีการส่งทหารบุกยึดโรงงานออกซิเจนท้องถิ่น และยึดออกซิเจนเอาไว้จำนวนนับร้อยถัง เพื่อนำไปประมูลขายต่อ รวมถึงส่งต่อให้พรรคพวกครอบครัวของทหารด้วยกันเอง

 

สิ่งที่น่าหวาดหวั่นมากที่สุดก็คือการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเมียนมา ผ่านสื่ออย่าง “เอเชียไทม์” เมื่อสัปดาห์ก่อน คาดการณ์เอาไว้ว่า ประชากรชาวเมียนมาราว 50 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด 55 ล้านคน จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์เดลต้า ภายใน 3 สัปดาห์นับจากนี้

ขณะที่อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงของเมียนมาคาดการณ์ไว้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของเมียนมาจะทำให้ประชากรเมียนมา “หายไป” อย่างน้อย 10-15 ล้านคนเลยทีเดียว

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานข่าวจากโกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมา สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลเมียนมาว่า กระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกมาประกาศเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งประเทศ 54 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่เวลานี้มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วเพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้น หรือราว 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม วัคซีนส่วนใหญ่นั้นเป็นวัคซีนนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งประสิทธิภาพลดลงหากต้องเจอกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่พึ่งของรัฐบาลเมียนมาก็คือการรับบริจาควัคซีน “สปุตนิก” จากรัสเซีย ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงหวังพึ่งจากโครงการ “โคแวกซ์” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดหมายว่าจะส่งให้รัฐบาลเมียนมาเพียงพอกับการฉีดให้กับประชากรราว 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปีนี้

สำหรับหน่วยงานระหว่างประเทศโดยเฉพาะยูเอ็น การดำเนินการแทรกแซงใดๆ ในเมียนมาทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “รัสเซีย” และ “จีน” พันธมิตรสำคัญของรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ด้านประชาคมอาเซียนเองไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ หลังจากการบรรลุฉันทามติ 5 ข้อเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา และปูทางสู่การเจรจาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ข้อมติก็ถูกเมินเฉยอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐบาลทหารเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย

เวลานี้ชาวเมียนมาคงทำได้เพียงต่อสู้ดิ้นรนด้วยความหวังจะพ้นสถานการณ์ที่โหดร้ายราวกับนรกในโลกแห่งความจริงในเร็ววัน ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการของรัฐบาลทหารเมียนมา