ฉัตรสุมาลย์ : การอบรมภิกษุณีนานาชาติ

โครงการอบรมภิกษุณีนานาชาติที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม จัดมาเป็นปีที่ 3 โดยเริ่มจากการตระหนักในปัญหาของภิกษุณีเถรวาทที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ส่วนใหญ่จะเดินทางไปรับการบรรพชาและอุปสมบทจากศรีลังกา

แต่เนื่องจากทางศรีลังกาเองก็ยังขาดแคลนอาจารย์ที่มีประสบการณ์ที่จะให้การอบรมแก่ภิกษุณีต่างชาติได้ จึงเกิดปัญหาด้านคุณภาพในการผลิตภิกษุณีกลับคืนสู่ประเทศต่างๆ

ในปีแรก วัตรทรงธรรมกัลยาณีจัดโครงการอบรมทั้งพรรษา โดยมีจุดประสงค์ว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะได้มีประสบการณ์ตรงตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องปวารณาพรรษา การนับวันอุโบสถ ตลอดจนการปวารณาออกพรรษา และการรับกฐิน

ปีนั้น พ.ศ.2558 มีภิกษุณีบวชใหม่จากเวียดนาม 5 รูป และภิกษุณีจากอินเดีย 5 รูป พบปัญหาเรื่องวีซ่า เพราะแม้จะขอวีซ่ามา 3 เดือน แต่ในความเป็นจริงถ้าจะรอรับกฐินก็ต้องยืดออกไป 3 เดือนกว่า สำหรับภิกษุณีอินเดีย ต่อวีซ่าได้ครั้งเดียว แต่ได้เพียง 1 อาทิตย์ (ค่าต่อวีซ่า หัวละ 1,900 บาท) จากนั้นต้องยอมให้ถูกปรับรายหัววันละ 200 บาท

ปีถัดมา พ.ศ.2559 ก็เลยบีบหลักสูตรให้ลงได้ใน 4 อาทิตย์ เพื่อให้สะดวกสำหรับประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ที่สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ปีนั้น มีภิกษุณีจากเวียดนามมา 11 รูป และมีอุบาสิกาจากเกาหลี เยอรมนี อิตาลี และภิกษุณีไทย ทั้งหมดประมาณ 20 รูป/คน

เรียกว่า การอบรมเริ่มลงตัวมากขึ้น ได้เนื้อหาทั้งธรรมวินัย และได้ฝึกในภาคปฏิบัติ

 

ปีนี้ พ.ศ.2560 เรียกว่าประสบความสำเร็จทีเดียว มีผู้เข้าร่วมจาก 11 ประเทศ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส มาเลเซีย พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย เวียดนาม ไทย อเมริกา ประมาณ 40 รูป/คน

สำหรับอินโดนีเซีย ปีนี้มา 7 รูป เวียดนามนั้น มีทั้งเวียดนามที่มาจากเวียดนาม และเวียดนามที่ถือสัญชาติแคนาเดียนแล้วก็มี

ทางฝ่ายผู้จัดเองก็มีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น มีเอกสารที่รวบรวมประเด็นที่จะอบรมชัดเจนเป็นภาคภาษาอังกฤษ และเนื่องจากเพื่อประโยชน์สำหรับคนไทย ก็จะมีแปลไทยตลอดรายการอบรม

ในด้านเนื้อหาส่วนใหญ่ด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ ท่านธัมมนันทาท่านสอนเอง มีพระภิกษุณีชาวไทยที่ไปฝึกที่ศรีลังกามาช่วยสอนสองวันในเรื่องอภิธรรมและพระวินัย

คุณเมียนโล ผู้ให้คำปรึกษาอาชีพจากมาเลเซีย และคุณบาร์บาร่า เดินทางมาจากมาเลเซีย เข้ามาช่วยสอนเทคนิคการให้คำปรึกษาเบื้องต้น 1 อาทิตย์

ตรงนี้ ท่านธัมมนันทาเห็นประโยชน์มาก เพราะทันทีที่บวช ไม่มีทั้งความรู้ ไม่มีทั้งประสบการณ์ญาติโยมที่มาวัตร บางคนก็มาระบายความทุกข์ บางคนก็ขอคำปรึกษา

ภิกษุณีจึงต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะรู้จักเทคนิคพื้นฐานในการให้คำปรึกษา

คุณเมียนโล นั้นมืออาชีพจริงๆ เรียนกับเธอ 2 วัน สนุก และได้เนื้อหาสาระเต็มๆ แอบกระซิบท่านว่า ปีหน้าขอจองคิวไว้หน่อยนะ

เท่าที่ผ่านมา ได้นำคณะออกไปทัศนศึกษา ทั้งที่องค์พระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ และขยับออกไปราชบุรี ได้ไปชมแม่กวนอินที่อยู่บนเขาที่วัดหนองหอยด้วย

รถที่ใช้ก็เป็นรถสองแถวที่รับส่งเด็กนักเรียนในเมืองนครปฐมนั่นเอง

 

ภิกษุณีในประเทศอื่นนั้น ท่านมีจำนวนน้อยมาก เช่น ในอินโดนีเซีย คณะหนึ่งมีกัน 5 รูป อีกคณะหนึ่งมี 4 รูป พอท่านมาลงปาฏิโมกข์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี วันนั้นมี 17 รูป ท่านปลาบปลื้มมาก ไม่เคยเห็นจำนวนภิกษุณีเป็นสงฆ์กลุ่มใหญ่ขนาดนั้นมาก่อน

จำนวนสมาชิกสังฆะที่วัตรตอนนี้ มี 20 รูป ทั้งภิกษุณี สิกขมานาและสามเณรี เวลาฉันก็จะเป็นคณะสงฆ์ใหญ่ถึง 50 รูป

เมื่อเป็นผู้บวชแล้ว หากอยู่ตามลำพัง ไม่สามารถทำสังฆกรรมหลายอย่างได้ ภิกษุณีที่มาจากอินเดีย ท่านมาจากมุมไบ ท่านอยู่ที่นั่นรูปเดียว ไม่มีโอกาสได้สวดปาฏิโมกข์เลย เมื่อมาร่วมกับสังฆะที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ท่านขอโอกาสสวดปาฏิโมกข์ ปรากฏว่าท่านทำเวลาได้ 1 ชั่วโมง 10 นาที ดีกว่าที่ภิกษุณีสงฆ์ไทยทำได้ในตอนนั้น

ช่วงนั้น ท่านธัมมนันทาสวดเองก็ยัง 1 ชั่วโมง 17 นาที ปรากฏว่ามาคราวนี้ ท่านสวดเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ท่านทำลายสถิติของตัวเอง

ภิกษุณีเวียดนามที่มาจากแคนาดา บอกว่าพยายามอ่านตาม งับปากไม่ทัน เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นคณะสงฆ์

ซึ่งมิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

 

ที่เวียดนาม เป็นประเทศที่มีภิกษุณีมากที่สุดในโลก แต่นั่นเป็นมหายาน ในส่วนของเถรวาทตอนนี้ก็มีคณะภิกษุณีสงฆ์เล็กๆ อยู่เพียง 2 วัด คือวัดสุญญตาราม และวัดเขมาราม แต่ละแห่งมีภิกษุณีเพียง 6-7 รูป

การเกิดขึ้นของภิกษุณีสายเถรวาทไม่ง่ายเลย

การฝึกอบรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาที่เราเห็นชัดเจนคือเรื่องภาษา เนื่องจากการอุปสมบทนั้นไม่มีในประเทศของตน เช่น ประเทศไทย มหาเถรสมาคมก็ห้ามมิให้ภิกษุสงฆ์ไทยบวชภิกษุณี เพราะฉะนั้น ก็ต้องออกไปต่างประเทศ ประเทศที่สะดวกที่สุดคือ ศรีลังกา เพราะมีทั้งภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์ที่ยินดีสนับสนุนการบวช แต่ไม่มีวัดใดที่จัดการอบรมฝึกฝนให้เป็นภาษาอังกฤษ ทุกอย่างเป็นภาษาสิงหล ชาวไทยที่ไปบวชกลับมาก็มักจะได้แต่การบวชเท่านั้น

ตรงนี้เองที่ท่านธัมมนันทาเห็นเป็นช่องว่างที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสถานที่ และมีโครงการอบรมให้แก่ทั้งภิกษุณีไทย และภิกษุณีต่างชาติ ซึ่งได้ทำมาแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม

ช่วงที่มีการอบรมปรากฏว่าภิกษุณีศานตนันทาซึ่งเป็นมือขวาของท่านภิกษุณีวิจิตนันทาที่ศูนย์ศากยะธิดาที่ศรีลังกา มรณภาพลงด้วยโรคไข้เลือดออกที่ระบาดอย่างหนักที่ศรีลังกา ทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีก็จัดสวดพระอภิธรรมให้ท่าน 7 วัน เพราะทุกปีที่ส่งสมาชิกไปรับการอุปสมบทที่นั่น ก็ได้อาศัยท่านทั้งสิ้น

ตรงนี้ คือการปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส สมาชิกสังฆะที่เข้าร่วมในโครงการอบรมได้มีโอกาสฝึกสวดในงานศพด้วย

วันที่ 9 มิถุนายน สมาชิกสังฆะที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี เลือกสวดบทมหาสันติงหลวงถวายพระกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 สมาชิกที่เข้ารับการอบรมในโครงการนี้ก็ได้สัมผัสบรรยากาศที่ต่างออกไป

งานหนักหน่อยคือ ต้องพิมพ์บทสวดทั้งหมดเป็นอักษรภาษาอังกฤษด้วยเพื่อให้สมาชิกต่างชาติได้มีส่วนร่วมในการสวดจริง

 

มีเหตุการณ์จริงที่เราต้องแก้ไขสถานการณ์ คือ ภิกษุณีรูปหนึ่งของอินโดนีเซีย ท่านบวชมากับมหายาน แล้วมาถือนิสสัยกับพระภิกษุที่ถือเป็นอาจารย์ฝ่ายเถรวาท เรียกว่า การบวชของท่านยังเป็นมหายานอยู่ ท่านก็จะสวดปาฏิโมกข์กับภิกษุณีสงฆ์ของเราไม่ได้ เราหาทางออกโดยกราบเรียนจากหลวงพ่อ พระอุปัชฌาย์ชาวไทย ท่านให้ทำสังฆสามัคคี คือสวดรับเข้ากลุ่ม แล้วจึงสวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน

กรรมวาจาสำหรับสังฆกรรมนี้ปรากฏในมหาวรรค ภาค 2 ข้อ 258 จากนั้นคณะภิกษุณีสงฆ์ก็สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน วันนั้นมีพระภิกษุณีสงฆ์เข้าร่วม 17 รูป

ในวันสุดท้ายของการอบรม มีการมอบประกาศนียบัตรสำหรับท่านที่เข้าร่วมอบรมตั้งแต่ต้นจนจบหลักสูตร

แม้ว่าจะเป็นการอบรมที่ตั้งใจให้เป็นนักบวช แต่ก็มีฆราวาสเข้าร่วม 3-4 คน ก็ได้ประโยชน์ด้วยกัน เว้นไม่เข้าร่วมเฉพาะสังฆกรรมที่เป็นภิกษุณีเท่านั้น

ขอรายงานว่า การอบรมเป็นไปด้วยดีค่ะ ท่านผู้อ่านได้โมทนาด้วยกัน