ไม่สู้ก็ ‘อยู่อย่างนี้’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ไม่สู้ก็ ‘อยู่อย่างนี้’

 

วิกฤตของมวลมนุษยชาติที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่หนักหนาสากรรจ์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเราที่เริ่มสาหัสขึ้นเรื่อยๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุใหญ่เกิดด้วยความเหลื่อมล้ำที่หมักหมมขยายชนชั้นของประชาชนร่วมชาติให้ถ่างกว้างจนความเข้าใจและเห็นใจในกันและกันอันเป็นคุณสมบัติอันควรมีอยู่ในทุกชีวิตทำหน้าที่ไม่ได้

ความเมตตา กรุณา น้ำจิตน้ำใจที่ควรจะมีต่อกันถูกลบเลือนไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะแข็งขันช่วงชิง เพื่อให้ได้มากกว่า เหนือกว่า สะสมไว้ไม่รู้จักจบสิ้น

หลักการดำเนินชีวิต แทนที่จะเกื้อหนุนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข กลับค้นคิดสารพัดวิธีที่จะกดข่ม ทำลายกันและกันเพื่อไม่ให้เผยอหน้ามามีโอกาสเท่าเทียมกับตัวเอง

วิกฤตโควิด-19 เปลือยเปลือกสำนึกมนุษย์ให้เห็นความอำมหิตเลวร้ายแห่งยุคสมัยอย่างตอกย้ำความเป็นจริงให้ปรากฏชัดกระจ่างตา

ในนามของ “วิกฤตเป็นโอกาส” จิตใจหยาบช้าในมนุษย์บางพวกที่ได้ชื่อว่า “ผู้เหนือกว่า” ได้ฉกฉวยสร้างความร่ำรวยสะสมบนความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก ความเจ็บป่วย ความตายของเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ตัวเองอย่างน่าสังเวช และไร้สำนึก

ทว่านั่นเอง กลับก่อเกิดปฏิกิริยามุมกลับ การเห็นสันดานดิบของคนจำพวกนี้ ก่อเกิดความตื่นตัวที่จะตั้งคำถามถึงความหมายที่แท้ของ “คนด้วยกัน” มากขึ้น

และที่สุด คำว่า “อภิสิทธิ์ชน” ก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงในความหมายของ “ผู้จำพวกเอาเปรียบ” มากขั้นเรื่อยๆ ท่าทีต่อผู้เหนือกว่าเริ่มเปลี่ยนจากที่เคยยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ มาเป็นการตั้งคำถาม และพร้อมจะมีคำตอบอย่างท้าทายความคุ้นชินมากขึ้น

 

“นิด้าโพล” ล่าสุดสำรวจเรื่อง “อภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย”

ผู้ที่ถูกมองว่าทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน คือ

ร้อยละ 63.80 บอกว่านักการเมืองระดับชาติ

ร้อยละ 46.88 ตอบว่านักการเมืองท้องถิ่น

ร้อยละ 27.13 ตอบว่าเศรษฐีมีเงิน

ร้อยละ 20.27 เห็นว่าพวกข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ

ร้อยละ 10.52 บอกคนในวงการบันเทิง

ร้อยละ 6.55 เห็นว่าเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่

ร้อยละ 6.33 บอกเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ร้อยละ 2.67 สื่อมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อ

ร้อยละ 1.83 นักวิชาการผู้มีการศึกษาสูง

ร้อยละ 1.07 เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างประเทศ หน่วยงานระหว่างประเทศ

ร้อยละ 0.99 เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน

และร้อยละ 3.81 ไม่ตอบ

 

หากดูแนวโน้มความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงแล้วนี้ แนวโน้มชะตากรรมของอภิสิทธิ์ชนไม่น่าจะดีนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ท่าทีที่แสดงออกของคนทั่วไปต่ออภิสิทธิ์ชนจะเป็นความรู้สึกในทางรังเกียจมากขึ้น แต่เพราะความเหลื่อมล้ำอยู่ในสังคมมาจนเคยชิน ทำให้เมื่อถูกถามว่า “สิ่งที่จะทำเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีคนทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน”

คนส่วนใหญ่คือร้อยละ 49.39 จึงตอบว่าขอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ

ร้อยละ 31.86 ตอบว่าอยู่นิ่งๆ เฉยๆ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเราเอง

มีแค่ร้อยละ 11.36 ที่ตอบว่าขัดขวางไม่ปล่อยให้มีใครทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน

ร้อยละ 7.01 ถ่ายคลบิปหรืออัดเสียงเพื่อประจาน

ขณะที่ร้อยละ 0.39 จะทำตัวคล้อยตาม เพื่อประโยชน์ในวันนี้และวันข้างหน้า

เสียงเรียกร้องให้ร่วมมือกันหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ช่วยกันสร้างระบบที่สามารถทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างมีความหวังที่จะเป็นสังคมที่ไม่เอารัดเอาเปรียบด้วยความเหนือกว่า

ให้แต่ละคนมีโอกาสเท่าเทียมที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้ตัวเอง

แม้จะเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการยอมจำนน และเห็นความไม่เท่าเท่าเทียมเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ตราบนั้นช่องว่างของคนอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำไม่มีทางที่จะแคบลงได้

ความหวังที่จะอยู่กันอย่างเข้าอกเข้าใจ และเกื้อกูลกัน แทนที่จะมุ่งเอาชนะคะคาน กีดกัน กดข่ม ทำลายล้าง เพื่อสร้างโอกาสที่เหนือกว่าให้ตัวเอง ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก หรือไม่ได้เลย

เพราะประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่เคยเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการร่วมกันต่อสู้อย่างทุ่มเท