เมื่อมาเลเซียประกาศเลิกใช้ Sinovac มองผ่านนักวิชาการไทยในมาเลเซีย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

เมื่อมาเลเซียประกาศเลิกใช้ Sinovac

มองผ่านนักวิชาการไทยในมาเลเซีย

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

มาเลเซียประกาศเลิกใช้ Sinovac ทันทีที่หมดสต๊อก หันพึ่งวัคซีน Pfizer-BioNTech หลังเชื้อกลายพันธุ์ระบาด

ในขณะที่ประเทศไทยสั่ง Sinovac เพิ่ม ท่ามกลางคำถามทั้งประสิทธิภาพ และความโปร่งใส เพิ่มวิกฤตศรัทธานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รวบอำนาจการบริหารจัดการจัดการโควิดที่นับวันจะเพิ่มขึ้นไม่หยุด

สำหรับข่าวรัฐบาลมาเลเซียประกาศเลิกใช้ Sinovac ย่อมเป็นข่าวดังในเมืองไทยเช่นกัน ว่าทำไม อย่างไร ซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยกับอาจารย์รุสนันท์ เจะโส๊ะ นักวิชาการไทยจากชายแดนภาคใต้ ที่ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมลายา อันเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของมาเลเซียและติดอันดับ 1/100 ของโลก ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตลอดสองปีนี้ หากสื่อไทยอยากทราบสถานการณ์โควิด หรือคนไทยในมาเลเซียก็จะต้องถามท่าน สัมภาษณ์ท่าน

โดยท่านให้รายละเอียดดังนี้

อาจารย์รุสนันท์ เจะโส๊ะ

ข่าวประกาศเลิกสั่งวัคซีน Sinovac

15 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียประกาศจะเลิกใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายจาก Sinovac ทันทีที่หมดสต๊อก หันพึ่งวัคซีน mRNA จาก Pfizer-BioNTech เป็นหลัก หลังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ระบาดหนักในหลายพื้นที่

โดยนายอัดฮัม บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มาเลเซียสั่งจองวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรจำนวนมากในประเทศแล้ว โดยสั่งจองวัคซีน Pfizer-BioNTech ไป 45 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนประชากรราว 70% ของประเทศ ขณะที่วัคซีน Sinovac จำนวน 16 ล้านโดส ได้รับการฉีดให้กับประชาชนแล้วราวครึ่งหนึ่ง เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะใช้สำหรับการเป็นวัคซีนโดสที่ 2 สำหรับประชาชนคนใดที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะได้รับวัคซีน Pfizer เป็นหลัก

“สาเหตุที่จะไม่สั่งเพิ่มเพราะตอนนี้วัคซีนตัวอื่นๆ ที่สั่งจองไว้ทยอยมาเรื่อยๆ ค่ะ เช่น Pfizer ก็เลยไม่จำเป็นต้องใช้ sinovac เพิ่มแล้วค่ะ นอกจากนี้ ทางการมาเลเซียยังมีวัคซีนโควิดตัวอื่นๆ (ที่สั่งมาก่อนหน้านี้โดยไม่ได้แทงม้าตัวเดียวเหมือนไทย) ที่จะมีช่วยเสริมทัพอย่างวัคซีน AstraZeneca, วัคซีน CanSino Bio ของจีน และวัคซีนโดสเดียวจาก Johnson & Johnson ซึ่งทางการกำลังพิจารณาว่าจะนำวัคซีนจาก Sinopharm มาใช้ร่วมด้วยหรือไม่” อาจารย์รุสนันท์ระบุ

มาเลเซียใช้วัคซีน 6 ตัว (อนาคตจะเพิ่มตัวอื่นๆ อีก)

1. Pzifer เป็นวัคซีนหลัก 44 ล้านโดส (อเมริกาบริจาคให้ 1 ล้านโดส ที่เหลือซื้อ)

2. AstraZeneca (ได้จาก covax และซื้อเพิ่ม)

3. Sinovac

4. Cansino จะฉีดผู้ลี้ภัยที่มีบัตรของ UNHCR จะมาปลายเดือนนี้ (ฉีดเข็มเดียว)

5. Sputnik V (รอการรับรองและยังไม่มา)

6. Johnson & Johnson (รับรองแล้วได้จาก covax แต่ยังไม่มา)

อีกสาเหตุคือ ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac โดยการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย ว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะเชื้อเดลต้าที่มีโอกาสติดง่ายขึ้นและมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น”

คนมาเลเซียเขาเลือกวัคซีน?

และบริการฉีดกับคนต่างชาติ?

สําหรับคนมาเลเซียมีทัศนะอย่างไรต่อการฉีดวัคซีนอย่างไรนั้น อาจารย์รุสนันท์อธิบายว่า

1. คนมาเลเซียเขาไม่ได้เลือกวัคซีน ได้ฉีดอะไรก็ฉีด ใครมีโรคประจำตัวหรือท้อง ให้นมลูก ก็ได้วัคซีนที่เหมาะสมให้ เขาแบ่งกลุ่มผู้รับวัคซีนชัดเจนมาแต่ต้น

2. แต่ในคนปกติ แข็งแรง ได้วัคซีนอะไรก็ฉีด ไม่มีการขอเลื่อนนัดเมื่อรู้ว่าศูนย์ที่ฉีดเป็น Sinovac ใครอยากได้ Sinovac ก็รีเควสได้ในแอพพ์ ที่มาเลเซียไม่ได้ดราม่าวัคซีนขนาดหนักเหมือนที่ไทย

3. และ…เพราะที่ไทยขาดแคลนวัคซีนและเข้าถึงวัคซีนดีๆ ยากมาก ใครอยากได้วัคซีนดี เช่น โมเดอร์นา ต้องซื้อเอง เป็นชาติเดียวในโลกที่ประชาชนต้องซื้อวัคซีน วัคซีนหลักก็มี Sinovac ขณะที่โควิดที่ระบาดในไทยตอนนี้คือเดลต้า ที่ Sinovac เอาไม่อยู่ และการไม่มีระบบจัดการวัคซีนที่ดีมาแต่ต้นเลยเละเทะแบบนี้ น่าเห็นใจญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ไทยมาก

4. ทีนี้เราเห็นคนไทยที่มาเลเซียเลือกวัคซีนกัน ถ้าได้ Sinovac ก็จะไม่เอา คนมาเลเซียเขาก็รู้สึกและเอาไปพูดว่าคนต่างชาติเรื่องมากจริง ได้วัคซีนฟรีแล้วยังเลือก คนมาเลเซียเองได้ตัวไหนก็ฉีด บางคนอยู่แบบผิดกฎหมาย ทำผิดกฎหมายประเทศเขาด้วยซ้ำ ก็ยังได้ฉีดวัคซีนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังเรื่องมากไม่เกรงใจคนในประเทศเขาเลย คนมาเลเซียเองยังรอคิวอยากฉีดกันมีอีกมาก

สำหรับอาจารย์รุสนันท์ได้บรรยายถึงการฉีดวัคซีน Sinovac ของท่านว่า

“#ThankYouMalaySia เพิ่งไปฉีดวัคซีนมาที่ MITEC ได้ SNV ที่ศูนย์นี้มี Pfizer กับ SNV แต่จะให้ Pfizer แก่คนท้องกับคนให้นมลูก”

“ตอนนี้ตัวไหนเราก็ฉีดไปก่อน ให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิด head immunity แล้วค่อย booster ตัวที่สามอีกครั้ง”

“ในกัวลาลัมเปอร์หรือเคแอลส่วนใหญ่ตอนนี้ถ้าคนปกติ แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว อายุน้อยกว่า 60 มักเป็น SNV ส่วน Pfizer AZ มีให้ตามความเหมาะสมกับกลุ่มคน และกระจายไปตามรัฐต่างๆ เห็นคนอยู่ตามรัฐอื่นๆ มักได้ Pfizer”

“ฉีด SNV ไปตอนบ่ายสอง ตอนนี้ไม่มีผลข้างเคียงเลย วัคซีนแต่ละตัวตอนนี้ก็เหมือนอาวุธป้องกันตัว ฉีด Pfizer เหมือนได้จรวด ฉีด AZ เหมือนได้ปืน ส่วนฉีด SNV เหมือนได้มีด พวกที่อยู่แถวหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์สมควรแล้วที่ฉีด Pfizer ให้เพราะเขาอยู่แนวหน้า กลุ่มคนอายุ 60 ขึ้นไป คนมีโรคประจำตัว คนพิการ ได้ปืนไป เขามีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง ส่วนพวกอายุ 18-60 ปีที่ยังแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้ท้อง ไม่ได้ให้นมลูกเอามีดไปก่อนตอนนี้ เสี่ยงน้อยสุดแล้ว อีกอย่างมันล็อกดาวน์แบบนี้อยู่แต่ในบ้าน เสี่ยงน้อยมาก”

 

ข้อเสนอแนะวัคซีนชายแดนภาคใต้

ด้วยเหตุที่หลายปีที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราการฉีดวัคซีนในเด็กต่ำที่สุดของประเทศ อันเนื่องจากขาดข้อมูลที่จะนำความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยความแตกต่างทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และปัญหาเศรษฐกิจ กอปรกับปัญหาความไม่สงบทำให้กระทบกับระบบบริหารสุขภาพส่งผลให้โรค บางโรคที่เคยหมดจากประเทศไทยแล้วกลับมาระบาดซ้ำ

ดังนั้น รัฐต้องรีบจัดหาวัคซีนเป็นกรณีพิเศษ (เป็นที่น่ายินดีว่า ศอ.บต.กำลังพยายามอยู่) ทั้งจำนวนและคุณภาพ โดยเน้นวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเนื่องจาก 5 จังหวัด เป็นด่านหน้ามีแนว ชายแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านมาเลเซียอาจพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่วัคซีนธรรมดาไม่สามารถป้องกันได้ อีกทั้งเป็นการแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นว่าต้องการดูแลประชาชนทุกคนอยากให้การบริหารจัดการ เข้าถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นต่างซึ่งไม่ไว้วางใจรัฐเป็นทุนเดิม จะได้มีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น

รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์โดยเฉพาะชุมชนห่างไกล ด้วยภาษามลายูถิ่นผ่านผู้นำศาสนา แพทย์ พยาบาลมุสลิม

นอกจากวัคซีนแล้วการแก้ปัญหาโควิดที่นี่ได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพรวมทั้งทำได้ทันทีอีกทั้งจะได้ใจมวลชนคือ การผันงบประมาณความมั่นคงมาช่วยดูแลระบบสาธารณสุขที่ใกล้จะล่ม เนื่องจากการระบาดอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามเปิดไม่ทันกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นมากในแต่ละวัน เตียงไอซียูเต็ม ผู้ป่วยโควิดไปเบียดเตียงของคนไข้โรคอื่น ขอรับบริจาคเครื่องช่วยหายใจที่มีไม่พอ ประชาชนต้องพึ่งตัวเองไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข จนทำให้โรคกำเริบและหลาย รายต้องเสียชีวิตจนต้องรับสมัครอาสาสมัครจัดการศพเพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้

นอกจากนี้ ขอให้ยุติการจับกุมควบคุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ยังมีปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าช่วงเวลาปกติ เช่น การปิดล้อมตรวจค้น และเกิดเหตุปะทะจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน อีกทั้งมีการจับกุมบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกจำนวน 82 คน รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานการณ์โควิด บางรายอาจเป็นกรณีซัดทอด ไม่มีหลักฐานชัดเจน สถิติไม่ได้ลดลงเลย เรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ถูกจับกุม พวกเขายากจนทุกคนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเดินทางข้ามจังหวัด การควบคุมตัวที่ค่ายทหารอิงคยุทธที่จังหวัดปัตตานีทำให้เยี่ยมญาติต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายสูง บางครอบครัวไม่สามารถไปเยี่ยมได้ บางรายควบคุมตัวนานถึง 37 วัน

สำหรับการเรียนออนไลน์ปัจจุบันนั้นยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ดังนั้น ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น พัฒนาคุณภาพบุคลากรครูอาจารย์และการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในชนบทและที่ห่างไกล นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนทางไกล ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันกับโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอล

และต้องไปสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์โดยแปลงงบฯ เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดนักเรียน ค่าทัศนศึกษา ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ เช่น การติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี เป็นต้น

 

ข้อเสนอเฉพาะ “เด็กและสตรี”

เริ่มตั้งแต่แยกสถิติพวกเขาเฉพาะเพื่อสะดวกในดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กและสตรีท้ายสุดให้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่สาธารณสุข เยียวยา ให้คำปรึกษาหารือ ทักษะชีวิตและอาชีพ

ในระยะยาวการปฏิรูปเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เรียกร้องมาตลอดเพราะในเชิงประจักษ์ปรากฏชัดแล้วว่า

“การกระจายอำนาจคือกุญแจสำคัญและหนุนเสริมชุมชนจัดการตนเองในการแก้วิกฤตโควิด” ในขณะที่ “การบริหารรวมศูนย์อำนาจภายใต้รัฐราชการจะคอยซ้ำเติมวิกฤตโควิด” นี่คือจุดร่วมของบทสะท้อนสั้นๆ ในเวที “สร้างสุขภาคใต้” ครั้งที่ 12 สานงาน เสริมพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal 13-14 กรกฎาคม 2564 ทั้งๆ กลไกในพื้นที่มีการหนุนเสริมการทำงานแบบข้ามเครือข่าย ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น สร้างความสุขคนใต้อันเป็นแนวทางสังคมที่ชุมชนลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโดยไม่รอรัฐ อย่างไรก็แล้วแต่ หากได้นำ “ประเด็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” สู่นโยบายสาธารณะได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตโควิดและสร้างสุขอย่างยั่งยืนในอนาคต

“อย่างไรก็แล้วแต่ ท้ายนี้ขอพรต่อพระองค์ ให้เรา ครอบครัว และประชาชนคนไทยทุกๆ คนได้มีพลังที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อให้ผ่านพ้นจากการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติครั้งนี้ด้วยเทอญ ในฐานะมุสลิมที่ต้องทำร่วมกับมาตรการทางสาธารณสุข คือการหันกลับเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงจังจะเป็นวัคซีนทางใจที่จะช่วยปลดเปลื้องความตื่นตระหนกและความทุกข์ทรมานจากการระบาดของโรคร้ายในครั้งนี้”