หมอหน้างาน : ‘เราไม่ได้มุ่งรักษาโรค เราต้องการรักษาประเทศด้วย’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

หมอหน้างาน

: ‘เราไม่ได้มุ่งรักษาโรค เราต้องการรักษาประเทศด้วย’

 

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าให้ฟังว่าได้คุยกับคุณหมอที่อยู่ต่างจังหวัดกับประสบการณ์การต่อสู้กับโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัส คุยกับหมอรุ่นใหม่สามท่านคือ

พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม (หมอเบียร์) อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ, พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร (หมอแน็ท) อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ, นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ (หมอโอ) สูตินรีแพทย์

ผมถามว่าถ้ามีอำนาจในการบริหารวิกฤตโควิดครั้งนี้จะตัดสินใจทำอะไรบ้าง

หมอแน็ท : “ต้องตรวจเชิงรุกอย่างจริงจังและทำ Bubble and Seal เพราะจังหวัดเรา (สมุทรสาคร) เป็นจังหวัดโรงงาน เราหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว…”

และต้องตรวจพ่อค้าแม่ค้าในตลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกเขาออกมา

“ไม่งั้นจะไม่จบ”

หมอแน็ทไม่กลัวหรือว่าถ้าตรวจเชิงรุกกันจริงๆ ตัวเลขคนติดเชื้อจะพุ่งขึ้นแน่นอน

“ยังไงมันก็พุ่งอยู่แล้ว”

สมุทรสาครได้ทำโรงพยาบาลสนามไว้มากพอสมควร จึงสามารถรับคนป่วยจากกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ

“แต่ในจังหวัดเราเองกลับไม่ได้พยายามตรวจหาเคสให้เต็มที่…”

หมอโอ เสริมว่า

“จากที่ผมได้รับข่าว เจ้าหน้าที่บางโรงงานโทร.มาบอกเอง ไม่ใช่เจ้าของ เจ้าหน้าที่ในโรงงานรู้ว่ามีคนติดเชื้อ เขากลัว เราต้องมาดูว่าทำไมเจ้าของโรงงานไม่กล้าปิด แน่นอนเขากลัวเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าสมมุติว่าภาครัฐมีการช่วยเหลือด้านนี้ ถ้าคุณบอกความจริงและต้องปิดโรงงานจริง รัฐบาลมีการให้เงินช่วยเหลือ ผมคิดว่าเจ้าของยอม แต่เมื่อไม่มีความช่วยเหลือ เจ้าของก็ทู่ซี้ ขอทำแอบหลบๆ ซ่อนๆ ต่อไป…”

ซึ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดไม่หยุด

 

หมอเบียร์ยอมรับว่าเศรษฐกิจต้องไปพร้อมกับสุขภาพ

“แต่เราก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันโรคด้วย จริงๆ แล้วโรงงานไม่ได้ปิด 100% เราดูว่าขนาดของโรงงานแค่ไหน เกิน 500 คนหรือไม่ เราตัดที่ infected rate ที่ 20%…”

แปลว่าถ้าคนไข้เกิน 20% โรงงานต้องร่วมมือกับเราทำโรงพยาบาลสนามในโรงงานเพื่อแยกคนป่วยออกมา

อีกส่วนหนึ่งคือโซนความเสี่ยงสูงซึ่งเราจะไม่ให้ทำงาน จะทำการเฝ้าระวังเป็นระยะๆ สุ่มตรวจ

ส่วนบริเวณที่มีความเสี่ยงต่ำ เราก็ให้มีอยู่อีกโรงเรือนหนึ่งเพื่อจะได้ทำงานต่อโดยที่ทุกคนต้อง seal อยู่ในโรงงาน 28 วัน

ไม่ออกมา และชุมชนก็จะไม่ติดเชื้อจากแรงงานเหล่านั้น

เป็นมาตรการที่จะทำงานต่อไปได้

“อย่างนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากโรงงานต่างๆ มากๆ เลย”

ท่าทีของเจ้าของโรงงานให้ความร่วมมือดีไหม

หมอเบียร์บอกว่า “แน่นอนเขาเสียประโยชน์ ถ้าเป็นโรงงานขนาด 500 ถึง 1,000 คน รายได้เขาคือวันละ 10 ล้าน ถ้าเราปิดเขา 14 วันก็คือ 140 ล้าน

“เขาเสียประโยชน์แน่ เราไม่สามารถจะชดเชยเขาได้แน่ เราจึงต้องออกแบบที่อยู่ตรงกลางที่จะตอบโจทย์ทั้งการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ…”

ความร่วมมือระดับจังหวัดที่ตากถือว่าดีมาก เพราะหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดก็ร่วมประชุมทุกครั้ง

แม่สอดเป็นเมืองชายแดน มีมูลค่าการค้าประมาณ 2 แสนล้าน

“ไม่ว่าจะมีเคสนำเข้าขนาดไหนเราก็ไม่เคยปิดการค้าชายแดน เราสู้สุดๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเรายังไปได้ เราตรวจจมูกทุกคน รถทุกคันที่ผ่านเข้ามาทุกเจ็ดวัน…”

 

หมอเบียร์ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานเต็มที่แล้วที่จะถ่วงดุลไม่ให้ประเทศล่มสลายไปด้วย

“เราไม่ได้มุ่งมองแต่เพียงเรื่องรักษาโรคเท่านั้น เรารักษาประเทศเราด้วย…”

หมอแน็ตบอกว่า ที่สมุทรสาครก็มีการพยายามรักษาสมดุลนี้เช่นกัน

“ผู้ประกอบการที่นั่นเขาก็โดนอ่วมแล้วในคราวที่แล้ว ตอนนี้เขาก็ขอให้เพลาๆ ลงบ้าง…ทุกฝ่ายในจังหวัดก็มาร่วมปรึกษากัน”

ท้ายสุดก็คือเรื่องการต้องเร่งวัคซีนให้เพียงพอและในจังหวะที่ทันการ

หมอโอเสริมว่า เป็นที่รู้ตั้งแต่ต้นว่าวัคซีนอย่าง Moderna ก็บอกแต่ต้นว่าจะเข้ามาได้ก็ต้องไตรมาสที่ 4

“ผมรู้ตั้งแต่เขาประกาศตอนแรกแล้ว แต่เราไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ออกมาให้ประชาชน จำเป็นต้องบอกไทม์ไลน์ให้ชัด มิฉะนั้นจะมีความคาดหวัง…”

“สิ่งที่เราจะต้องถามก็คือก่อนจะถึงไตรมาสสี่ เราจะทำอย่างไร…เราคงไม่สามารถเร่งสปีดในการผลิตวัคซีน…คำถามคือระหว่างนี้เราทำอะไรได้บ้าง…”

 

ผมถามหมอเบียร์ว่า ถ้าจับหมอเบียร์ไปนั่งหัวโต๊ะ ศบค.เลย จะสั่งการอย่างไร

หมอเบียร์ตอบอย่างฉาดฉานว่า

“สิ่งแรกที่จะทำคือพูดความจริง…อาจจะต้องชี้แจงกับประชาชน…คนไทยไม่ใช่คนพูดยาก ที่ผ่านมาสองปีเราอยู่กับสถานการณ์ที่เลวร้ายบ้าง ดีขึ้นบ้าง โดยที่อดทนมาตลอด…และประชาชนก็ฟังกัน ไม่ว่าเราจะสื่อสารกันอย่างไร ประชาชนก็ให้ความร่วมมือมาตลอด เขาแค่อยากจะรู้ว่าใครทำอะไรอยู่บ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาซื้อวัคซีนเสรีได้ไหม”

หมอเบียร์บอกว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งพร้อมจะเสียสละ พร้อมจะซื้อวัคซีนมาฉีด

เพื่อจะได้เอาวัคซีนฟรีไปฉีดให้คนอื่นที่มีโอกาสต่ำกว่า

“เชื่อว่ามีคนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านที่พร้อมจะซื้อหาวัคซีนฉีดเองโดยไม่บ่น เพื่อเสียสละให้เพื่อนร่วมชาติฉีดวัคซีนที่รัฐหามาให้…”

หมอเบียร์บอกว่าถ้าเปิดเสรีให้นำเข้าวัคซีน “ทำตอนนี้ก็ไม่สายไป”

เพราะถ้าทำ ก็จะมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะใช้เงินตัวเองซื้อ

บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในฐานะเสี่ยง ต้องการ booster ที่เป็น mRNA

“เราอยู่หน้างาน เรารู้ว่าเสี่ยงจริง คนที่ไม่ได้อยู่หน้างานอาจจะนึกภาพไม่ออก เราเข้าใจเขา แต่ขอให้เปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้วัคซีน booster อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ภูมิเราตก…”

 

หมอเบียร์เสนอง่าย ๆ ตรงๆ คือ

“พูดความจริง บอกไทม์ไลน์…เปิดเสรีให้มีการแข่งขันในการนำวัคซีนเข้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย ทำตอนนี้ก็ไม่มีใครว่าสายเกินไป สามารถทำได้…”

หมอโอเล่าว่า “ผมเพิ่งได้คุยกับคนที่เขามีหน้าที่เรื่องนี้ ผมบอกเขาว่าได้เวลาที่ต้องเอาวัคซีนมาเพิ่มให้คนหน้างานแล้ว เขาบอกว่ากำลังทำอยู่ ผมบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือบอกว่าเมื่อไหร่ ทุกคนรู้ว่ากำลังทำอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่…”

เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่ได้

หมอแน็ตเสริมว่า “เห็นด้วย อันดับแรกคือให้เปิดเสรีนำเข้าวัคซีนก่อน ได้คุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ได้พยายามตั้งแต่กลางปีที่แล้วเพื่อหาวัคซีนเข้ามา แต่การดำเนินการต่างๆ ต้องผ่านภาครัฐหมด…”

เมื่อหน่วยงานรัฐบอกว่าไม่เคยได้รับคำร้องขอ ก็เกิดคำถามว่า “หนังสือที่ส่งเข้าไปไม่เคยอ่านกันเลยหรือ”

ภาคเอกชนรู้ว่ามีความต้องการสูง ไม่ได้หวังกำไร แต่ต้องการให้ประเทศพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

“รัฐต้องยอมรับก่อนว่าไม่สามารถหาวัคซีนมาตอบสนองความต้องการทั้งประเทศในตอนนี้ ก็ต้องยอมให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วย…”

ฟังหมอในต่างจังหวัดที่กำลังต่อสู้กับโควิดอย่างหนักหน่วงแล้วเห็นชัดว่าพวกเขาและเธอพร้อมจะทำทุกอย่างไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด

ผู้มีอำนาจฟังแล้ว “ได้ยิน” เพียงใด

คำตอบจากภาครัฐจะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะรอดพ้นความล่มสลายของทั้งประเทศหรือไม่