ตามหาวัคซีน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ตามหาวัคซีน

 

เว็บไซต์ CNBC รายงานบทวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซค วาณิชธนกิจระดับโลก ระบุว่า การแพร่กระจายของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าซึ่งติดต่อกันง่ายขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนฟิลิปปินส์ไม่น่าผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างเพราะโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้น พร้อมมีข้อจำกัดการทำงาน ประกอบอาชีพและการเดินทางที่เข้มงวดของแต่ละประเทศในอาเซียน

จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนในช่วงครึ่งหลังของปี มากกว่าที่โกลด์แมนแซคคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้น

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ โกลด์แมนแซคจึงปรับลด GDP ของแต่ละประเทศลงดังนี้

อินโดนีเซียจาก 5.0% เหลือ 3.4 %

มาเลเซียจาก 6.2% เหลือ 4.9%

ฟิลิปปินส์จาก 5.8% เหลือ 4.4%

สิงคโปร์จาก 7.1% เหลือ 6.8%

ไทยจาก 2.1% เหลือ 1.4%

แน่นอน มีอีกหลายหน่วยงานที่ประเมิน GDP ของประเทศอาเซียนซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างด้วยใช้ข้อมูลที่ให้น้ำหนักต่างกัน แต่ที่ใกล้เคียงกันคือ GDP ของประเทศในอาเซียนลดต่ำลง

ที่น่าสนใจ GDP ของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ข้อมูลนี้แสดงว่า เศรษฐกิจไทยย่ำแย่

แล้วในภาวะเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ด้วยยอมรับกันว่า การฉีดวัคซีนมากเท่าไรย่อมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากเท่านั้น เพราะป้องกันการเสียชีวิต ความเจ็บป่วย และเกี่ยวโดยตรงกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้วย

รัฐบาลไทยก็เห็นเช่นนี้ แล้วเราก็ได้ยินคำนี้ในบ้านเรามากว่า 2 ปีแล้ว แต่ GDP ลดต่ำลง บอกแก่เราว่า แทนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว กลับแย่ลง

คราวนี้ไม่ใช่ตัวแปรเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นวัคซีน

 

ตามหาวัคซีน

คนที่ใกล้ชิดเศรษฐกิจและประชาชนมากเห็นจะเป็นภาคธุรกิจเอกชน นักธุรกิจอธิบายสภาวะเศรษฐกิจไทยชัดเจนมาก สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า1

“…สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดของไทยค่อนข้างวิกฤต ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะแย่มาก ทั้งภาคเอกชนและประชาชนอยู่ในสภาพย่ำแย่มาก โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ที่วันนี้มีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีแอพพ์จองวัคซีนมากที่สุดในโลก และหลายแอพพ์ก็ถูกเท ยังไม่ได้รับการจัดสรร ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีน ซึ่งขอประกาศตามหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยแจ้งจัดส่งวัคซีนมาฉีดให้เดือนละ 10 ล้านโดส โดยมิถุนายน 10 ล้านโดส และกรกฎาคม 10 ล้านโดส แต่ปัจจุบันไม่ได้รับการจัดสรรตามจำนวนที่กำหนด…”

คนที่มีความสามารถ มีความรู้และมีงบประมาณอย่างนักธุรกิจสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำขณะนี้คือ จัดหาอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 คือเครื่อง Rapid Test สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานถึง 5 คณะทำงานด้าน Rapid Test เรื่องที่สภาอุตสาหกรรมฯ ทำได้ตอนนี้ จริงๆ เป็นแค่ต้นน้ำ แค่ตรวจหาโรคด้วยเครื่องมือที่จัดหากันเอง ประสานงานกับพันธมิตรกันเอง ทำคู่มือการใช้อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโรคกันเอง ใช้งบประมาณจัดหาวัคซีนทางเลือกกันเอง

ไม่ใช่ต้นน้ำไม่สำคัญ น่าสนใจ อย่างแรก คนที่มีกำลังความสามารถอย่างภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้กับเศรษฐกิจไทยมากขนาดนี้ ยังทำได้แค่นี้เองเลย

อย่างที่สอง ถึงที่สุด สภาอุตสาหกรรมฯ ยังเข้าถึงและใช้วัคซีนที่มีอยู่แล้วในไทยไม่ได้เลย

 

ระบบนิเวศน์ (Eco System)

ของแอสตร้าเซนเนก้า

จริงอยู่ที่ ณ เวลานี้ ไทยเองมีวัคซีนหลายยี่ห้อแล้วก็ตาม แม้รู้กันว่า วัคซีนหลายยี่ห้อเข้ามาช้ามากๆ ที่น่าสนใจคือ

วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคจากต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา อันนี้น่าประหลาดใจ เพราะเราได้วัคซีนจากการบริจาคจากต่างประเทศ รวมทั้งบริจาคแอสตร้าเซนเนก้าด้วย

ตามข้อมูลของบีบีซีไทย2

สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ไทยเราได้ทำก่อนใครๆ 12 ตุลาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ลงนามร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร

17 พฤษจิกายน 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยจองล่วงหน้าและจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,000 พันล้านบาทต่อคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทันทีในวันนั้น

วัคซีนนั้นมีอยู่ในประเทศไทยนี่เอง มีการทำสัญญาซื้อ-ขายกันแล้ว

 

น่าประหลาดใจ มีการผลิตวัคซีนแล้ว แต่ได้ส่งมอบให้กับต่างประเทศที่สั่งจองและซื้อวัคซีนไปแล้วด้วย แต่ยังไม่ได้ส่งมอบให้ไทย

น่าประหลาดใจ บริษัทที่เป็นแหล่งรวมของนักวิจัยชั้นหัวกะทิของประเทศ อย่างเช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) เจ้าของเดิมของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นนักบริหารระดับโลกและชั้นแนวหน้าของโลก ไม่ทราบเป้าหมายการผลิตวัคซีนเลยหรือ

มีข้อมูลสำคัญที่ระบุว่า ไทยจะต้องใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์กรที่น่าจะรู้ดีของวัคซีนด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการผลิตและการตลาดด้วย หัวกะทิแห่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติอธิบายว่า3

“…บริษัทกำลังมองหาพันธมิตรได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ บราซิล เป็นต้น นั่นคือ หาฮับ คือไทย เงื่อนไขสำคัญต้องซื้อวัคซีนล่วงหน้า เพราะมันแปลกมาก หากว่าวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตได้ตามมาตรฐานของออกช์ฟอร์ด แล้วประเทศไทยไม่ใช้ มันก็จะลดทอนความน่าเชื่อถือ…”

น่าประหลาดใจยิ่ง เหล่านักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยระดับหัวกะทิที่ได้เพียรพยายามผลักดันให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าตัดสินใจเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนได้ยืนยันว่า ต้องจองวัคซีนล่วงหน้า แล้วย้ำว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเสียด้วย ถ้าไม่ใช้ มันแปลกมาก ผมว่าแปลกยิ่งกว่า วัคซีนชนิดนี้อยู่ในไทยนี่เอง แต่คนไทยก็ยังไม่ได้ใช้

น่าประหลาดใจยิ่งนัก ไทยเราได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ไทยมีโรงงานทำการผลิตใกล้ๆ เมืองหลวงนี่เอง แถมยังมีนักวิจัยชั้นหัวกะทิด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทย์ระดับศาสตราจารย์

เรายังมีนักบริหารอุตสาหกรรมเลื่องชื่อระดับโลก ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) มีนักบริหารบริษัทขนาดใหญ่ด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทเข้ามาร่วมบริหาร มีนักบริหารบริษัทประกันชีวิตผู้ได้รับรางวัลการบริหารและมีชื่อเสียงทางสังคม ทั้งแพทย์และนักบริหารอุตสาหกรรมชั้นยอดไม่สามารถเจรจาทั้งก่อนและหลังการพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อให้วัคซีนถึงมือคนไทยที่ตกทุกข์จากการเจ็บป่วย คนไทยที่สิ้นหวังจนต้องไปรอการตรวจและรับการรักษายังสถานพยาบาลซึ่งทำงานเต็มศักยภาพแล้ว ก็ไม่อาจรับผู้ป่วยได้

นี่เป็นความห่างไกลระหว่างโรงงานผลิตวัคซีน นักวิจัยระดับกะทิ นักบริหารชั้นเลิศ กับคนไทย เสียเหลือเกิน

น่าประหลาดใจยิ่งนัก ระบบนิเวศน์ของโรงงานผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ในบ้านเราเอง แต่กลับอยู่ไกลโพ้นจนมือคนไทยเอื้อมไปไม่ถึง เราจึงต้องไปพึ่งวัคซีนที่เราสั่งจากต่างประเทศ ก็ถึงบางอ้อ วันที่เขียนบทความนี้ 18 กรกฎาคม สังคมไทยตาสว่าง ท่านเพิ่งลงนามกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อมกราคม 2564 และพฤษภาคม 2564 ช้ากว่าประเทศอาเซียนที่เราคุยว่าจะส่งออกไป

ตามหาวัคซีนจากเมืองนอกต่อไป อนาถใจ วัคซีนผลิตในบ้านเรา คนไทยตามหาอย่างไรก็ไม่เจอ

1″เอกชนสุดทน ประกาศตามหาวัคซีน ชี้สภาพ ศก.-คนไทยเข้าขั้นย่ำแย่มาก”, เดลินิวส์ 16 กรกฎาคม 2564.

2วัชชิรานนท์ ทองเทพ, โควิด-19 : ทำไมรัฐบาลเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีนเพื่อคนไทยและเพื่อนบ้าน, บีบีซีไทย 15 มกราคม 2564.

3เพิ่งอ้าง