‘ธนาธร’ มองซีนาริโอการเมืองไทย ‘ประยุทธ์’ คือกุญแจดอกแรกของปัญหา เรายังมีภารกิจต้องทำอีกเยอะ!/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ธนาธร’ มองซีนาริโอการเมืองไทย

‘ประยุทธ์’ คือกุญแจดอกแรกของปัญหา

เรายังมีภารกิจต้องทำอีกเยอะ!

รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ที่ออนแอร์ทุกค่ำวันเสาร์ทางยูทูบมติชนทีวี เพิ่งสัมภาษณ์ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าคณะก้าวหน้า ในประเด็นว่าด้วยเรื่องการทำงานการเมืองท้องถิ่น ไปจนถึงวิกฤตการเมืองในภาพใหญ่ของประเทศ

ดังเนื้อหาบางส่วนต่อไปนี้

 

: จากการทำงานในท้องถิ่น คิดอย่างไรที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่าการต่อท่อน้ำเลี้ยง-การแจกของเล็กของน้อย จะสามารถซื้อใจชาวบ้านต่างจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิดได้?

ต้องบอกอย่างนี้ก่อน ระบบรัฐราชการที่แข็งตัวขนาดนี้ ที่สามารถสั่งได้เบ็ดเสร็จขนาดนี้ ผมคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดขึ้นในยุคนี้แหละ ในรัฐบาลของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการทำรัฐประหาร คือหมายความว่าแต่ก่อนการใช้กลไกระบบราชการเข้ามารับใช้ทางการเมืองมันไม่ได้เยอะ ไม่ได้หนาแน่นขนาดนี้

ทุกวันนี้ ตั้งแต่ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหมด และเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จด้วย

ผมยกตัวอย่างเรื่องฉีดวัคซีน ที่มีข้าราชการไปข่มขู่ชาวบ้าน ถ้าไม่ไปฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผลประโยชน์จากโครงการรัฐนะ สวัสดิการต่างๆ จะไม่ได้นะ นี่ข่มขู่กันถึงขนาดนี้ คุกคามกันถึงขนาดนี้ ไม่มียุคไหนที่จะใช้กลไกระบบราชการเข้าไปล้วง เข้าไปกดดันข่มขู่ทางการเมืองกับประชาชนในระดับรากหญ้าเยอะขนาดนี้

ยุคนี้เป็นยุคตกต่ำมากของระบบราชการไทย เป็นยุคที่ระบบราชการไทยแข็งตัวมาก

กลับมาถึงคำถาม ดังนั้น เมื่อมันมีรูปธรรมแบบนี้ ต้องบอกว่าจริง บางส่วนเขาควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ เวลาผมไปลงพื้นที่จะเจอตลอดเวลา อย่าไปยุ่งกับธนาธรนะ อย่าไปฟังธนาธรนะ ถ้าใครไปงานของธนาธรเดี๋ยวจะไม่ได้สวัสดิการของรัฐนะ นี่คือสิ่งที่เราเจอตลอด นี่คือหน้างานที่เราเจอตลอด

ดังนั้น จริงไหม? ต้องบอกว่าในบางส่วนจริง เขาควบคุมกลไกของระบบราชการที่ลงไปกดดันข่มขู่คุกคามประชาชนได้ถึงระดับนั้น และนี่คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่การเลือกตั้งใหญ่ ผมคิดว่ามันมีความต่างกันอยู่ เลือกตั้งใหญ่มันมีส่วนผสมของการเมืองระดับชาติ มันมีคู่แข่งหลายพรรค อย่างในระดับ อบจ. ผมต้องยกตัวอย่างที่พะเยา คู่แข่งมีสองคนคือน้องชายคุณธรรมนัส พรหมเผ่า กับคนของคณะก้าวหน้า ถ้าเราไม่ส่งนี่ไม่มีใครกล้าสู้แล้วนะครับ ที่พะเยาไม่มีใครกล้าสู้กับน้องชายคุณธรรมนัส ประชาชนไม่มีตัวเลือกนะครับ เราก็ส่งเข้าไปแข่ง

สิ่งที่ผมพยายามจะพูดคืออะไร ในสนาม อบจ. ตัวแข่งมันไม่เยอะ แล้วหลายที่ก็คือคณะก้าวหน้าเจอกับบ้านใหญ่สองเบอร์เท่านั้นเอง แตกต่างกับสนามใหญ่ สนามใหญ่ตัวแข่งมันเยอะ ดังนั้น การจะมาทำหรือกดดันหรือผลักดันผลักไสคนของคณะก้าวหน้า มันทำไม่ได้เหมือนกับสนามเล็ก ที่มันมีคู่แข่งคือหนึ่งสองสามคน

สนามใหญ่คู่แข่งมันมีเยอะมาก ดังนั้น มันจะเลือกปฏิบัติแบบนี้ค่อนข้างยาก อันดับที่สองก็คือผมคิดว่าปัจจัยเรื่องนายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีผลค่อนข้างมากกับการเมืองภาพใหญ่ ซึ่งมันไม่มีในการเมืองสนามเล็ก ผมคิดว่า (เรื่องรัฐบาลคุมเสียงชาวบ้านต่างจังหวัดได้) ก็เป็นจริงบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ไม่เบ็ดเสร็จแน่ๆ

 

: พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พลังประชารัฐและภูมิใจไทย ดูเหมือนจะมองว่าตนเองมีแต้มต่อทางการเมืองมากกว่า ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่เร็วๆ นี้ แต่อีกด้าน ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็เหมือนจะเสื่อมศรัทธากับนายกรัฐมนตรี คุณมองเรื่องนี้อย่างไร?

ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลและพรรคร่วมประเมินความไม่พอใจของพ่อ-แม่ พี่-น้องประชาชนขนาดไหน? แล้วบอกว่าตัวเองได้เปรียบอยู่ ผมไม่แน่ใจประโยคนี้เลย คือสำหรับผม เราลงพื้นที่มาเยอะ เราพูดคุยกับประชาชนมาเยอะ ผมคิดว่าความเดือดร้อนของประชาชนมันสูงมาก ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลมันสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณประยุทธ์มันสูงมาก

ดังนั้น ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าประเมินยังไงว่าพรรครัฐบาลจะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า? ผมไม่แน่ใจจริงๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประชาชนเวลานี้ตื่นตัวแล้วก็สนใจทางการเมืองกันเยอะมาก การเข้ามาของเทคโนโลยี ของอินเตอร์เน็ต ทำให้ใครพูดอะไรทำอะไรไว้ ถูกบันทึกไว้หมด

ผมคิดว่าเมื่อการเลือกตั้งมาถึง ประชาชนจะจำได้ว่าคุณอนุทิน ชาญวีรกูล พูดอะไรไว้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้าการเลือกตั้งพูดอะไรไว้ ผมคิดว่าประชาชนจะจำได้ ดังนั้น ผมไม่กังวล ผมเชื่อมั่นในเพื่อนพ้องของพวกผมในพรรคก้าวไกล ผมเชื่อมั่นว่าพวกเขาพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา

 

: แสดงว่าถ้ามีการยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ ผลลัพธ์ทางการเมืองจะไม่เหมือนเดิม?

ผมเชื่อว่าสายลมของการเปลี่ยนแปลงมันมาถึงประเทศไทยแล้วแหละ มันจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ความต้องการการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วมันกำลังท้าทายอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผมคิดว่าก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่าทางชนชั้นนำเองก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะไม่เคยเจอการท้าทายทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมที่หนักขนาดนี้มาเป็นหลายทศวรรษ ดังนั้น ผมคิดว่าเขาก็มีโจทย์ใหญ่ของเขาที่จะต้องแก้ไข

ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะมีการหาทางออกร่วมกัน พูดคุยร่วมกันได้ นำไปสู่การประนีประนอม ผมก็หวังว่ามันจะนำไปสู่จุดนั้นได้ เพียงแต่วันนี้มองไม่เห็นเท่านั้นเอง ดูสังคมไทยจะเป็นทางตันไปหมด

ผมจะบอกอย่างนี้ มันตันเพราะอะไร เราพูดเสมอว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็น “ระเบิดเวลา” ถ้าใครจำได้ ผมเคยพูดเรื่องนี้ไว้ก่อนเลือกตั้งว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือระเบิดเวลาก้อนใหญ่ของสังคมไทย แล้วระเบิดเวลาก็มาถึงจริงๆ

ถ้าคุณประยุทธ์ลาออกตอนนี้ได้ไหมครับ? แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบนโต๊ะรอบแรกเหลืออยู่ห้าคน เป็นของเพื่อไทยสามคน ซึ่งคนที่หนึ่งก็คือคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกไปแล้ว คนที่สองก็คือคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ลงสมัครผู้ว่าฯ (กทม.) ไม่ใช่ในนามของเพื่อไทยด้วย ก็เหลือแค่คุณชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งเป็นเบอร์สามใช่ไหมครับ

อีกคนหนึ่งก็คือคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วใช่ไหมครับ แล้วก็เหลือคุณอนุทิน แคนดิเดตรอบแรกมันเหลือแค่เท่านี้เอง ส.ส.คนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้นะครับ เพราะไปเขียนล็อกไว้ว่าต้องมีแคนดิเดต ถ้าหาจากห้าคนนี้ไม่ได้ต้องไปรอบสอง ซึ่งนายกฯ รอบสองก็เป็นไปได้ว่าจะไม่ได้มาจากช่องทางที่ประชาชนเลือกมาแน่นอน

ดังนั้น การลาออกของคุณประยุทธ์ จะทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ ตามมาเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วถ้ายุบสภา ก็ต้องเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะรัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ ถ้าเลือกตั้งด้วย (กติกา) 2560 ตอนนี้ก็ยังมี ส.ว.อยู่ มี กกต.ชุดนี้อยู่ ก็มีสูตรคำนวณอะไรอย่างนี้อยู่

นี่คือระเบิดเวลาว่าตกลงเมื่อประเทศวิกฤต คุณเปลี่ยนผู้นำไม่ได้ นึกออกไหมครับ? นี่คือระเบิดเวลาชัดๆ เลยว่านี่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ คุณจะออกจากปมแบบนี้ยังไง? ต่อให้คุณประยุทธ์ลาออก จะเอายังไงต่อ? เพราะ ส.ส.คนอื่นอีก 400 กว่าคนที่เหลือในสภา เป็นนายกฯ ไม่ได้

แล้วถ้าคุณยังดึงดันไปเลือก (นายกฯ) รอบสอง ประชาชนก็จะลุกฮืออีก เฮ้ย! นายกฯ คนนอกไม่เอา เพราะต่อสู้เรื่องนี้มาแล้ว นายกฯ ต้องมาจากประชาชน ต้องมาจาก ส.ส. ก็ต้องต่อสู้เรื่องนี้กันอีก ซึ่งสถานการณ์ก็อาจจะยกระดับ จนเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นได้อีก

ครั้นจะไปสู่ยุบสภาก็กลไกเดิม กกต.เดิม กฎการเลือกตั้งเดิม สูตรคำนวณ ส.ส.พิสดารแบบเดิม ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่แบบเดิม แล้วก็ยังมี ส.ว.อยู่อีกด้วย ผมว่ามันคือผลกระทบที่ชัดเจนจากรัฐธรรมนูญปี 2560

 

: ถ้าอย่างนั้น จุดสิ้นสุดของรัฐบาลประยุทธ์จะเป็นอย่างไร?

ไม่ทราบ เรื่องนี้ผมไม่อยากประเมิน มันมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ลาออก ยุบสภา แล้วก็อยู่ครบเทอม ผมไม่กล้าประเมินจริงๆ แต่ผมอยากจะกล่าวว่า แน่นอนที่สุด สำหรับพวกเราแล้ว คุณประยุทธ์เป็น “กุญแจดอกแรก” ที่จะทำให้ประเทศไทยกลับสู่การเป็นปกติ

ก็คือต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ตราบใดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยไม่มีทางกลับเป็นประชาธิปไตยได้เลย นี่คือกุญแจดอกแรก

แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณประยุทธ์ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วภารกิจมันจะจบ ไม่ใช่ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะแยะ ดังนั้น การเปลี่ยนคุณประยุทธ์และเอาคนใหม่ที่ไม่ได้ต้องการผลักดันวาระประชาธิปไตยมา ก็ต้องสู้กันต่อ ก็ต้องผลักดันกันต่อ

ดังนั้น คุณประยุทธ์ออกไปเป็นแค่กุญแจดอกแรก แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ไม่ใช่ว่าภารกิจจะสำเร็จนะครับ อันนี้อยากจะให้เข้าใจตรงกัน ว่าการผลักดันประเทศไทยให้ไปสู่ประชาธิปไตย ยังต้องมีอีกหลายกระบวนการ ยังต้องมีอีกหลายขั้นตอน

ยังต้องมีอีกหลายอย่างที่จะต้องเดินทางไปด้วยกันครับ