หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด รัฐบาลขีดเส้นตาย แก้หนี้ 6 เดือน ไหวบ่?/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด

รัฐบาลขีดเส้นตาย

แก้หนี้ 6 เดือน ไหวบ่?

 

เราๆ ท่านๆ คงจะทราบดีกันว่า ภาวะหนี้สินของประชาชนคนไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก และเป็นปัญหากันมาอย่างยาวนาน

ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะหนี้สินของประชาชนย่ำแย่ลงไปอีก

ทำให้หลายคนถูกขึ้นบัญชีดำ ติดเครดิตบูโร เพราะไม่มีรายได้มาชำระหนี้

แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อทุกคนต้องกินต้องใช้ดำรงชีพ เมื่อกู้เงินในระบบปกติไม่ได้แล้ว ก็ต้องดิ้นรนกันออกไปกู้เงินนอกระบบ เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่แก้ปัญหาได้ยากยิ่งกว่า

เมื่อไม่นานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนออกมา โดยมียอดคงค้างหนี้ในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563

เมื่อเทียบกับนานาประเทศแล้ว พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 1 ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุด ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

และเมื่อมาดูไส้ในก็พบว่าหนี้เพื่อการบริโภค (สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต) มีสัดส่วนที่สูงเกือบ 35% ของหนี้สินทั้งหมด ถือว่ามีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ซึ่งหนี้เพื่อการบริโภคถูกจัดว่าเป็น “หนี้ที่ไม่สร้างรายได้”

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนว่าภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ “Debt Overhang คือภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่าย และการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต”

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน

เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา นอกจากนี้ ภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสีย ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

EIC ระบุอีกว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอย่างรุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1/2564 ลดลงถึง -8.8% จากปีก่อน ขณะที่จีดีพีลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออกโดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

ด้วยเหตุนี้การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือน ทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ และการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

 

ปัจจัยที่ทำให้ภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่หนึ่ง ธปท. และสถาบันการเงินต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ภาพหนี้ครัวเรือนที่เห็น ระดับหนี้จึงปรับลดลงช้ากว่าปกติ

ปัจจัยที่สอง วิกฤตโควิดส่งผลต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่าย เห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2563 อัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้สูง 5.9% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8%

ปัจจัยที่สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชั่นจูงใจเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลงเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต

สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2563 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศขีดเส้นตาย แก้หนี้ประชาชนทั้งระบบ ต้องเห็นผลใน 6 เดือน มีการลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย” โดยคร่าวๆ มาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน

การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและที่เรียกเก็บอย่างไม่สมควร โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้โดยเร็วที่สุด การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่เหมาะสม ลดการให้ลูกหนี้ซื้อประกันความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น และพิจารณายกเลิกการค้ำประกันด้วยบุคคล เน้นการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน

และล่าสุด หลังเกิดการระบาด ระลอก 4 ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารต่างๆ ได้ออกมาตรการ “พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย” แก่ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุม ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ โดยตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

ดูแล้วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐใส่ใจดูแลแก้ปัญหาภาวะหนี้สินของประชาชนในขณะนี้ แต่ในระยะยาวหน้าที่ของรัฐบาล คือต้องดูแลภาพรวมเศรษฐกิจให้ดี ให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ซึ่งประชาชนตั้งตารอคอยอยู่นะครับ…