คนไทยใจเย็น | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 23/07/2021

 

หลังรัฐประหาร 2557 ไม่ถึงปีกระมัง นักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่งแสดงปาฐกถาในเมืองไทยถึงความวิปริตนานัปการของการยึดอำนาจและการบริหารบ้านเมืองของคณะทหารที่ยึดอำนาจ แต่ดูเหมือนสังคมไทยก็สยบยอมหรือยินยอมต่อความวิปริตเหล่านั้นโดยดี ท่านจึงกล่าวว่า “คนไทยยังโกรธไม่พอ”

ความโกรธของสังคมมักนำไปสู่การก่อจลาจล (riots) โดยฝูงชนผู้กำลังโกรธ เพื่อฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่โดยเจตนา เพราะความ “ปกติ” ในนามของกฎหมายหรือคำสั่งนั่นแหละ คือความไม่เป็นธรรมอย่างสุดขั้วซึ่งทำให้โกรธจนหน้ามืด

หลายครั้ง การก่อจลาจลไม่นำไปสู่อะไรนอกจากได้ระบายความโกรธ และการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน แต่หลายครั้งอีกเช่นกัน การก่อจลาจลเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในระบบ หรือที่ยิ่งกว่านั้นก็คือนำไปสู่การปฏิวัติ แท้จริงแล้วการก่อจลาจลเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากกระบวนการปฏิวัติด้วยซ้ำ

จลาจลของฝูงชนในฝรั่งเศสและรัสเซีย ทำให้ฝ่ายระบอบเก่า (ancien regime) ไม่อาจระดมกำลังของตนเข้าปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้ ในช่วงทศวรรษ 1920 พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งยังมีขนาดเล็กนิดเดียวคาดหวังผิดว่า เมื่อฝ่ายตนลุกฮือขึ้น กรรมาชนกลุ่มต่างๆ จะลุกขึ้นก่อจลาจลขนานใหญ่ในเมืองอุตสาหกรรมและการค้าที่ตนเข้ายึดกุม แต่กลับไม่ปรากฏการจลาจลในเมืองใดเลย ผลก็คือถูกฝ่ายก๊กมินตั๋งปีกขวา ร่วมมือกับจักรวรรดินิยมปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์จนแทบจะสิ้นซาก

กว่า 7 ปีผ่านไป ความไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นโล้เป็นพายของการรัฐประหารเห็นประจักษ์ได้มากขึ้นแก่คนไทยทั่วไป แม้กระนั้น “คนไทยก็ยังโกรธไม่พอ” เหมือนเดิม

 

หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อผมเพิ่งจบมหาวิทยาลัย อาจารย์เฮิร์บ ฟิลลิปส์ ซึ่งจ้างผมไปช่วยงานก็อกๆ แก็กๆ ในการวิจัยของท่าน ได้ถามผมว่า เหตุใดจึงไม่ค่อยมีเรื่องของกบฏชาวนาในประวัติศาสตร์ไทย ในขณะที่มีอยู่เต็มไปหมดในประวัติศาสตร์จีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอาจจะพม่าด้วย ผมตอบไม่ได้ หรือถึงพยายามตอบไปก็คงเป็นอะไรที่เลอะๆ เทอะๆ เท่านั้น

ผมคิดว่า ทำไมคนไทยจึงโกรธไม่พอ กับทำไมจึงไม่ค่อยมีกบฏชาวนาในประวัติศาสตร์ไทย เป็นคำถามเดียวกันหรือซ้อนทับกันอยู่ และมักจะล่อหลอกให้เราค้นหาคำตอบจากลักษณะนามธรรมที่อยู่คงที่ของ “คนไทย” เช่น คำสอนในพุทธศาสนา, อุดมคติธรรมราชาของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือโอกาสที่หาง่ายในการต่อต้านด้วยการ “หนี” เช่น ไพร่หนีนายซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในประวัติศาสตร์ไทย

(ผมอยากเตือนด้วยว่า “หนี” แบบไพร่หนีนาย คือการหลีกออกทางภูมิศาสตร์ พ้นจากนายในเมืองหนึ่งไปหานายในอีกเมืองหนึ่ง หรือพ้นจากนายที่รายได้หลักคือพืชผลการเกษตร ไปสู่อีกนายหนึ่งที่รายได้หลักมาจากหัวคิวในการค้าต่างประเทศ ในปัจจุบัน เมื่อไม่มีพื้นที่ว่างให้ “หนี” ได้สะดวกแล้ว ก็ยังอาจ “หนี” ในกระบวนการผลิตก็ได้ เช่น จากแรงงานในภาคหัตถอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ หรือไปเป็นเจ้าของครกส้มตำ… โอกาสของการ “หนี” ย่อมมีส่วนช่วยให้ การต่อต้านไม่กลายเป็นการจลาจล ล็อกดาวน์ในรูปต่างๆ ทำให้ช่องทางการ “หนี” น้อยลง โรงงานก็ปิด ร้านอาหารก็ห้ามนั่งกิน เป็นต้น)

แต่วิธีอธิบายอะไรด้วยคุณสมบัติอันอยู่คงที่ผ่านกาลเวลามายาวนานนั้น เป็นสิ่งที่ “อประวัติศาสตร์” อย่างยิ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งคือมันไม่จริง เพราะไม่มีอะไรที่มนุษย์สร้างขึ้นจะอยู่พ้นออกไปจากความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น

อธิบายอย่างเป็นประวัติศาสตร์ด้วยการมองหาเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ซึ่งทำให้คนไทยโกรธไม่พอ หรือชาวนาไม่ก่อกบฏในแต่ละยุคสมัย น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องกว่า แต่น่าเสียดายที่เรา (อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ) มีรายละเอียดเกี่ยวกับสังคมไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่มากพอจะอธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือเท่านั้น

 

คําอธิบายว่า “คนไทยโกรธไม่พอ” ได้แต่อธิบายปรากฏการณ์ แต่ก็ไม่ได้อธิบายที่มาของปราฏการณ์นั้นว่ามีเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่ทำให้ “โกรธไม่พอ” สักที ผมจะพยายามค้นหาคำตอบนั้น ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสังคมไทยที่ไม่เพียงพอ

สมมุติฐานเบื้องต้นของผมก็คือ คนไทยและชาวนาไทยก็โกรธเป็นเหมือนคนและชาวนาเวียดนาม, จีน ฯลฯ นั่นแหละ และคนไทยก็ระบายความโกรธด้วยปฏิบัติการทางสังคมเหมือนคนอื่น เพียงแต่ไม่ใช่หรือยังไม่ใช่การก่อจลาจลเท่านั้น

จากความรู้สึกโกรธไปสู่ขั้นลงมือปฏิบัติการต่อต้านด้วยกำลัง (จลาจล, กบฏ หรือปฏิวัติ) มีช่องว่างที่ห่างกันพอสมควรทีเดียว ส่วนจะเป็นเส้นทางที่ยาวไกลเพียงไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยของสังคมนั้นๆ จะกำหนดให้การต่อต้านออกมาในรูปแบบใด และวางขีดจำกัดของการต่อต้านไว้แค่ไหน เพียงไร

คนที่ให้คำตอบและคำอธิบายที่ดีเลิศสำหรับผมคืออาจารย์ James Scott (ใน Weapons of the Weak) ท่านเข้าไปศึกษาหมู่บ้านชาวนาแห่งหนึ่งในรัฐไทรบุรีของมาเลเซีย หมู่บ้านประกอบด้วยชาวนารวย (น้อยราย) ซึ่งถือครองที่ดินจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งจ้างงานตามฤดูกาลที่สำคัญ เช่น ช่วงดำนาและเกี่ยวข้าว ชาวนากลางซึ่งมีที่ดินไม่ใหญ่นัก แต่พอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้ อันเป็นคนส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน และชาวนาจนซึ่งมีที่ดินเล็กเกินกว่าจะพอกิน หรือไม่มีที่ดินเอาเลย

ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนัก แต่ยากจะสังเกตเห็นได้จากคนนอก เว้นแต่ลงไปฝังตัวในหมู่บ้านจนรู้จักคุ้นเคยกับชาวบ้านดังที่อาจารย์สกอตต์ทำ ท่านจึงได้พบการต่อต้านชาวนารวยของเหล่าคนจนในหมู่บ้าน แม้เป็นการต่อต้านที่เข้มข้นอย่างไร ก็จะออกมาในรูปนินทา (ลับหลัง), ตั้งสมญา (ลับหลัง), เล่าขานให้เป็นตัวตลก (ลับหลัง) ฯลฯ

ที่ต้องลับหลังทุกเรื่องก็เพราะชาวนาจนพยายามหลีกเลี่ยงการต่อต้านแบบเผชิญหน้า เพราะถึงอย่างไร ชาวนารวยก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของตน ทั้งในรูปค่าตอบแทนงานจ้าง, การเลี้ยงอาหารในโอกาสต่างๆ, เงินกู้ ฯลฯ ยังไม่พูดถึง “หน้าตา” ในหมู่คนจนด้วยกัน เมื่อได้รับการยอมรับจากคนรวย แต่ที่ต้องต่อต้านด้วยคำพูดลับหลัง ก็เพื่อตอบโต้การนินทาต่อหน้า, ตั้งสมญาต่อหน้า และถูกทำเป็นตัวตลกต่อหน้า ซึ่งคนรวยกระทำแก่คนจนเสมอมา

ปฏิบัติการต่อต้านที่มากกว่าใช้คำพูดก็มีเหมือนกัน แต่ก็เป็นปฏิบัติการที่ไม่นำไปสู่การเผชิญหน้า เช่น เมื่อถูกเรียกให้ไปช่วยทำอาหารในงานเลี้ยง ก็อาจมิบเอาเนื้อสัตว์กลับบ้านมาบ้าง อาจารย์สกอตต์เล่าถึงชาวนาจนคนหนึ่ง ซึ่งมักเตร่แถวร้านค้าในหมู่บ้าน เมื่อคนรวยเข้ามากินกาแฟในร้าน เพื่อแสดงความใจกว้างของตนก็มักจะบอกให้คนจนสั่งกาแฟและขนมกินได้ นอกจากชาวนาจนจะสั่งกาแฟและขนมมานั่งดื่มกินอีกโต๊ะหนึ่งแล้ว ยังสั่งขนมอีกจำนวนหนึ่งเพื่อขนกลับบ้านฝากลูก-เมียด้วย ก็นับเป็นการต่อต้านอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะถึงแม้จะถูกคนรวยตำหนิหรือเหยียดหยามว่าเห็นแก่ได้ ก็ไม่แปลกอะไรกับที่ถูกตำหนิเหยียดหยามอยู่แล้วโดยไม่ได้ขนมไปฝากลูก-เมียด้วย

 

ความสัมพันธ์ระหว่างคนรวยคนจนยิ่งตึงเครียดขึ้นอย่างมาก เมื่อทางการสนับสนุนให้ปลูกข้าวสองฤดู และได้แนะนำให้ชาวนาใช้รถเกี่ยวข้าวจากญี่ปุ่น (ฟาดให้เสร็จ จนออกมาเป็นเม็ดข้าวบรรจุกระสอบได้เลย) เท่ากับงานจ้างตามฤดูกาลที่คนจนเคยได้จากชาวนารวยคือเกี่ยวข้าวและฝัดข้าวหายวับไปกับตา มีความพยายามต่อต้านรถเกี่ยวข้าวด้วยความรุนแรง เช่น แอบเผา, เอาทรายใส่ลงถังน้ำมัน, เอาเหล็กไปขัดวงล้อมีดเกี่ยว ฯลฯ แต่ทั้งหมดทำในเวลากลางคืนเพื่ออำพราง และตำรวจไม่เคยจับคนร้ายได้เลย เพราะชาวบ้านต่างให้การว่าไม่รู้ไม่เห็นทั้งสิ้น

ยังมีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้หญิงที่รับจ้างเกี่ยวข้าวว่าจะบอยคอตชาวนารวยรายที่ใช้รถเกี่ยว คือจะไม่รับจ้างดำนาให้ในฤดูเพาะปลูกถัดไป แต่ก็ไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเปิดเผย เพียงแต่ทำข่าวลือให้ไปถึงหูเจ้าของนาเท่านั้น แม้เมื่อชาวนารวยมาจ้างให้ดำนา ก็ไม่ได้บอกว่าไม่รับ แต่อ้างว่าติดดำนาที่นาคนอื่นจึงยังต้องรอไปก่อน ในที่สุดชาวนารวยก็ไปจ้างกลุ่มดำนาจากหมู่บ้านอื่น บางคนมีเส้นกับทางการ ถึงกับนำเอาแรงงานไทยไปรับดำนาแทนเลยก็มี

เพราะฉะนั้น ในที่สุดการต่อต้านก็ประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่น่าสังเกตว่าการต่อต้านทั้งหมดทำโดยไม่เผชิญหน้าทั้งสิ้น เช่น ใช้ความมืดอำพรางตัว หรือใช้ข้ออ้างอื่นในการปฏิเสธรับจ้างดำนา

ดังนั้น ความโกรธจึงนำไปได้ไกลสุดแค่การจลาจลอย่างลับๆ ซ้ำยังไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย (และด้วยเหตุดังนั้น การต่อต้านด้วยวาจาท่าทีซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นินทาว่าร้าย จึงเป็นอาวุธของคนอ่อนแอเพียงอย่างเดียวและมีความหมายแก่ความเป็นคนเต็มคนของเขาอย่างยิ่ง) เหตุฉะนั้นจึงยิ่งตอกย้ำสำนึกถึงความอ่อนแอของชาวนาจน

ทําไมความโกรธของชาวนาเล็กจึงไม่นำไปสู่ปฏิบัติการอะไรมากไปกว่านั้น อาจารย์สกอตต์อธิบายไว้อย่างสลับซับซ้อน ทั้งในแง่ปฏิบัติและทฤษฎี คำอธิบายนั้นจะนำมาประยุกต์ใช้กับคนไทยปัจจุบันซึ่งถูกหาว่า “โกรธไม่พอ” ได้หรือไม่อย่างไร ผมไม่แน่ใจ เพราะคนไทยปัจจุบันย่อมแตกต่างจากชาวนามาเลเซียในช่วงนั้นไปอย่างมากแล้ว ที่ยังเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือสำนึกถึงความอ่อนแอของตนซึ่งรัฐไทยได้พยายามปลูกฝังลงไปในส่วนลึกสุดของประชาชนไทยตลอดมา

อย่างไรก็ตาม คนไทยเคยโกรธเป็นสาธารณะมาแล้ว อย่างน้อยก็ในเหตุการณ์ 14 ตุลา, พฤษภาเลือด 2535 และการชุมนุมของเสื้อแดง 2553 (ผมไม่นับความโกรธที่มีการจัดตั้งอย่างสลับซับซ้อนจากหลายฝ่ายที่ไม่แสดงตัวเปิดเผย เช่น 6 ตุลา หรือพันธมิตรฯ และ กปปส.) เหตุใดครั้งนี้จึง “โกรธไม่พอ” คงมีเงื่อนไขปัจจัยอะไรหลายอย่างบนเส้นทางจากความโกรธสู่ปฏิบัติการทางสังคมซึ่งเรายังไม่ทราบ ผมขอนำเอาคำอธิบายเพียงเรื่องเดียวของอาจารย์สกอตต์มาทดลองอธิบายดู

คนส่วนใหญ่ในทุกสังคม โดยเฉพาะในคนหมู่มากที่ยังต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียว (ด้วยความจนหรือด้วยความใฝ่ฝันทะยานอยากอันไม่สิ้นสุดก็ตาม) ความคิดเชิงอุดมการณ์ทั้งหลายไม่มีอิทธิพลต่อเขา คาร์ล มาร์กซ์ เรียกชีวิตที่การหารายได้ครอบงำทุกส่วนของชีวิตว่า dull compulsion of economic relations (การบังคับที่ไร้รสชาติน่าเบื่อของความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ) พูดภาษาชาวบ้านก็คือชีวิตกูต้องทำมาหาแดก

เฉพาะคนชั้นกลางจำนวนน้อยเท่านั้น (และผมขอย้ำว่าจำนวนน้อยในหมู่คนชั้นกลางด้วย) ที่ให้เวลาแก่ความคิดเชิงอุดมการณ์ และพร้อมจะปรับอุดมการณ์นั้นมาใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม คนอื่นทั้งที่เป็นคนชั้นกลางหรือล่างและสูง รับเอาแบบปฏิบัติและค่านิยมที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ไปใช้ เพียงเพราะเห็นว่ามันคงถูกต้องหรือดูเข้าทีดีอยู่ โดยไม่ได้ใส่ใจกับตัวอุดมการณ์เลย (เช่น เราอาจให้เกียรติผู้หญิงโดยไม่ได้ใส่ใจกับหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะใครๆ เขาก็ทำกัน แต่จะรับให้ผู้หญิงเป็นนายกฯ ไม่ไหว)

ผมคิดว่าในเวลานี้ คนไทยส่วนใหญ่ (ถ้าดูจากการสำรวจของ น.ส.พ.ไทยรัฐ ก็มากกว่า 90% ไปแล้ว) รู้สึกโกรธระบอบเผด็จการไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็โกรธคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าของระบอบนั้น และก็ได้ระบายความโกรธของตนไปด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะนินทาว่าร้าย, ล้อเลียน, ทำให้เป็นตัวตลก, ประณามสติปัญญา ฯลฯ

แต่ในฐานะผู้อ่อนแอ ก็ไม่คิดจะ “เผชิญหน้า” กับรัฐภายใต้อำนาจของคุณประยุทธ์ และแม้จะมีปฏิบัติการทางสังคม ก็เป็นปฏิบัติการที่ไม่เผชิญหน้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความสะใจที่ได้จากการอ่านสื่อโซเชียล ดูการ์ตูนของคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ หรือร่วมชุมนุมซึ่งมีเวทีกลาง อันเป็นม่านบังมิให้ผู้ร่วมชุมนุมแต่ละคนต้องเผชิญหน้ากับรัฐโดยตรง

 

ผมยกกรณีความโกรธจนนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมอย่างรุนแรงสามครั้ง แต่ทั้งสามครั้งมี “แกนนำ” ที่เป็นฉากปิดกั้นมิให้เห็นคนโกรธส่วนใหญ่ 14 ตุลามีนักศึกษา พฤษภาเลือดมีคุณจำลอง ศรีเมือง และสมัครพรรคพวก และการชุมนุมของเสื้อแดงปี 2553 มีแกนนำเสื้อแดง ทั้งส่วนกลางและที่มาจากจังหวัดต่างๆ

ปฏิบัติการต่อต้านด้วยความโกรธอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยฉากปิดกั้นก็มีเหมือนกันในระยะหลัง ผมคิดว่าการชุมนุมผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์หลังการล้อมปราบเสื้อแดงเป็นหนึ่งในปฏิบัติการต่อต้านด้วยความโกรธเช่นนั้น แกนนำแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากเจรจากับตำรวจ ที่เหลือเป็นเรื่องของความโกรธแค้นล้วนๆ และนำไปสู่การ “ทะลุเพดาน” ไปแล้วด้วย

ถ้าอย่างนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วเหตุใดคนไทยภายใต้ประยุทธซึ่งโกรธมากแล้ว จึงไม่ออกมาต่อต้านด้วยการเผชิญหน้า ผมคิดว่า คสช.และคุณประยุทธ์ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยรู้สึกอ่อนแออย่างที่ไม่เคยมีคณะรัฐประหารใดๆ เคยทำได้ ไม่ใช่ด้วยการเข่นฆ่าอย่างที่อัศวินของเผ่าเคยทำ ไม่ใช่ด้วยการประหารชีวิตด้วย ม.17 อย่างสฤษดิ์ แต่ด้วยการระดมองคาพยพของรัฐทั้งหมด มาร่วมมือกันใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างฉ้อฉลจนกระทั่งไม่เหลือช่องใดๆ สำหรับการต่อต้านแบบเผชิญหน้าอีกเลย นอกจากด้วย “อาวุธของผู้อ่อนแอ”