ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต ตีแยรี มาตู
นักการทูตอาชีพ
และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอนจบ)
เรื่องของแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านทูตเป็นนักวิชาการด้านหิมาลัยศึกษา และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศภูฏาน รวมถึงสถาบันกษัตริย์ และความสัมพันธ์กับประเพณีทางพระพุทธศาสนาในประเทศดังกล่าว

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มีคำตอบ
“เนื่องจากผมให้ความสนใจเป็นอย่างมากในด้านสัญลักษณ์แห่งชนชาติ (contact zones) ที่ซึ่งวัฒนธรรมหลากหลายมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภูมิภาคหิมาลัยที่โลกของจีนและโลกของอินเดียมาพบกัน และมีการพัฒนาวัฒนธรรมและสังคมที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมา และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศภูฏานที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้สร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนที่ใด”
“ในภูฏาน พุทธศาสนาเป็นมากกว่าศาสนา โดยเป็นปรัชญาแห่งชีวิต ซึ่งนำเสนอวิสัยทัศน์แบบองค์รวมของสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะ ดินแดนซึ่งมีการบัญญัติแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)”

เป็นการวางแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาภายใต้กรอบการสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ GNH (Gross National Happiness) ตามพระราชปณิธานของอดีตพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชาธิบดีลำดับที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างความสุขให้ประชาชนภายในประเทศมากกว่าสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ผ่านคำกล่าวที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า “Gross National Happiness is more important than Gross National Product”
“ด้วยเหตุนี้ แนวทางที่ภูฏานได้ผสมผสานประเพณีดั้งเดิมกับความทันสมัยเข้าด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ”

“ปัจจุบัน ผมกำลังเขียนนิยายเกี่ยวกับครอบครัวที่มีชื่อเสียงจากภูฏาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศและของเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก”
“นอกจากมีอาชีพเป็นนักการทูตแล้ว ผมยังเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านหิมาลัยศึกษา ดังนั้น เวลาว่างส่วนใหญ่ของผมในตอนกลางคืน ผมจึงใช้ไปกับการอ่านหรือการเขียน ผมอุทิศเวลาว่างให้กับการเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับประเทศภูฏานเป็นหลัก”

“หนังสือเล่มล่าสุดของผมเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฏาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โครงการภาคสนามครั้งสุดท้ายที่ผมได้ดำเนินการภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ และด้วยการสนับสนุนของคณะสงฆ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อบันทึก อนุรักษ์ และฟื้นฟูประเพณี “ทาชิโกมัง” (Tashi Gomang) ซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กที่สามารถแบกไปได้ตามที่ต่างๆ ซึ่งใช้ในภูฏานตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เพื่อเผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนาแก่มวลชน”

“ทาชิโกมัง” จักรวาลย่อส่วน ตามความเชื่อของชาวภูฏาน เป็นวิหารไม้เคลื่อนที่ที่ “ลัมมานิป” แบกไปตามที่ต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อโลกของวัดกับชุมชนเข้าด้วยกัน
“ลัมมานิป” เป็นชายลักษณะครึ่งพระครึ่งฆราวาสผู้แบกวิหารไม้เคลื่อนที่ ออกตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจชีวิต เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยหลักมนตราแห่งความเมตตากรุณา
“โดยพื้นฐานแล้ว ผมมีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องความสัมพันธ์กันของพุทธศาสนาในฐานะกรอบทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ดังนั้น ผมจึงรู้สึกสบายใจที่ได้มาอยู่ที่เมืองไทย เพราะมีแนวคิดเหล่านี้อยู่มากในสังคมไทย”

โดยปกติ ทุกๆ วันที่ 14 กรกฎาคม จะมีการฉลองวันชาติฝรั่งเศส หรือวันบัสตีย์ (La fête nationale française หรือ La fête nationale du 14 juillet)
แต่การเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งไม่ใช่แค่วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขของโลกเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์
ดังนั้น การจัดฉลองวันบัสตีย์ในปีนี้ของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร
ท่านทูตมาตูตอบว่า
“เรากำลังคิดถึงการเฉลิมฉลองทางออนไลน์โดยทั่วไป เนื่องด้วยการระบาดและสถานการณ์โควิด-19 แต่นอกเหนือจากนั้น เรากำลังเตรียมการกับเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต เพื่อเดินสายทำงานนอกกรุงเทพฯ โดยหวังว่าจะสามารถเดินทางไปยังบางจังหวัดและใช้โอกาสนั้นในช่วงวันชาติฝรั่งเศส แสดงคุณค่าของสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และภราดรภาพ”
“ในช่วงเวลาเช่นนี้ที่ทุกคนกำลังประสบความทุกข์อย่างสาหัสจากสถานการณ์โรคระบาดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เราจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างตัวอย่างให้เยาวชนเห็นว่าเราต้องการให้โลกในวันพรุ่งนี้ โลกหลังโควิด-19 เป็นอย่างไร”
เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงาน
“สำหรับผม คือช่วงเวลาที่ได้ใช้นอกห้องทำงาน เมื่อออกภาคสนามไปพบปะผู้คนและได้ดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้ทำอยู่เสมอในระหว่างที่อยู่ในประเทศเมียนมา และผมก็หวังว่าจะได้ทำเช่นนั้นบ่อยๆ เช่นเดียวกันในประเทศไทย”
ตอนท้ายของบทสนทนา ท่านทูตฝรั่งเศสให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า
“ผมขอฝากข้อความอันเรียบง่าย นั่นคือ ความศรัทธา ขอให้เรามีความศรัทธาในอนาคต ศรัทธาในความสามารถยืดหยุ่นปรับตัวของส่วนรวมที่จะเอาชนะวิกฤตในปัจจุบัน ศรัทธาว่าเราทุกคนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ได้ด้วยการเจรจา และความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ทุกคนต้องลงมือทำและทุกประเทศสามารถมีส่วนร่วมได้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์นับว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่นกัน”
“ฝรั่งเศสและไทยเป็นประเทศที่คล้ายคลึงกันมาก มีขนาดของพื้นที่ และจำนวนประชากรที่แทบจะเหมือนกัน เป็นประเทศท่องเที่ยว เปิดรับโลกภายนอกและความคิดใหม่ๆ แต่ก็หวงแหนเอกราชเหมือนกัน เราสามารถสร้างแบบอย่างได้ด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ”
“เราสามารถระดมความคิดใหม่ๆ สำหรับโลกหลังโควิด ประเทศของเราทั้งสองมีสิ่งที่เหมือนกันมากมาย มาร่วมกันเตรียมอนาคตด้วยกัน และยกระดับมิตรภาพและความร่วมมือให้สูงขึ้นกว่าเดิม”
ประวัติ นายตีแยรี มาตู นายตีแยรี มาตู เป็นนักการทูตอาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย มีประสบการณ์การทำงานในทวีปนี้มานานกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ฝรั่งเศส ณ นครเซี่ยงไฮ้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศเมียนมา และเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ต่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชีย-โอเชียเนีย กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ.2017-2020) จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายตีแยรีประกอบอาชีพนักวิชาการด้านหิมาลัยศึกษาควบคู่กับอาชีพนักการทูต นายตีแยรี มาตู เริ่มต้นการทำงาน ณ กรุงวอชิงตัน (ค.ศ.1989-1993) ก่อนได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กรุงปักกิ่ง สองครั้ง (ค.ศ.1993-1996 และ ค.ศ.1999-2004) เคยปฏิบัติหน้าที่หลายตำแหน่งในกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส อาทิ ได้รับมอบหมายจากกรมความร่วมมือยุโรปให้เป็นผู้ติดตามนโยบายการค้าและความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปกับเอเชีย-โอเชียเนีย (ค.ศ.1996-1999) จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมกิจการเศรษฐกิจและการคลังระหว่างประเทศ (ค.ศ.2004-2006) ก่อนกลับไปประจำการอีกครั้งในเอเชียในตำแหน่งกงสุลใหญ่ฝรั่งเศส ณ นครเซี่ยงไฮ้ (ค.ศ.2006-2010) ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ประสานงานการมีส่วนร่วมของฝรั่งเศสในงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศเมียนมา (ค.ศ.2011-2015) และเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศฟิลิปปินส์ (ค.ศ.2015-2017) ควบคู่กับตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้มิได้มีถิ่นพำนักประจำสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย และสาธารณรัฐปาเลา โดยมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงมะนิลา ในปี ค.ศ.2017 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชีย-โอเชียเนีย (ค.ศ.2017-2020) กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ผลักดันข้อริเริ่มหลายด้าน อาทิ การเปิดตัวยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส และการแสดงความประสงค์ของฝรั่งเศสเพื่อขอรับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน จนกระทั่งเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 นายตีแยรี มาตู เป็นนักวิจัยประจำหน่วยวิจัย Centre d’études himalayennes (UPR 299) ของสถาบัน Centre national de la recherche scientifique (CNRS) ตั้งแต่ ค.ศ.1989 มีความเชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการเมืองและด้านภูมิรัฐศาสตร์ในดินแดนหิมาลัย มีความสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย และเรื่องมิติยุทธศาสตร์ของแนวโค้งเทือกเขาหิมาลัย โดยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศภูฏานเป็นหลัก การศึกษา สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน EDHEC (ค.ศ.1985) จากสถาบัน Manchester Business School (ค.ศ.1985) และจากสถาบัน Institut d’Etudes Politiques de Paris (ค.ศ.1988) ในระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ และสาขาเอเชียศึกษา ด้านภาษา สามารถพูดภาษาของประเทศในเอเชียได้หลายภาษาอย่างคล่องแคล่ว รวมถึงภาษาจีน นายตีแยรี มาตู เกิด ค.ศ.1963 สมรสกับนางเซซีล มาตู มีบุตร 3 คน คือ อาแล็กซ็องดรา (เกิด ค.ศ.1991) ฟร็องซัว (เกิด ค.ศ.1995) และชาร์ล (เกิด ค.ศ.1997) นายตีแยรี มาตู ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ชั้นอัศวิน |