กรองกระแส/การเมืองเข้มข้น หลัง ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มี ‘มาตรา 44’

กรองกระแส

การเมืองเข้มข้น
หลัง ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่มี ‘มาตรา 44’

เส้นทางทางการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีรายละเอียดน่าศึกษา น่าทำความเข้าใจอย่างเป็นพิเศษ
เริ่มตั้งแต่ไม่เดินตามแนวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
นั่นก็คือไม่มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับคนอื่นเหมือนที่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เคยมอบให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเป็นนายกรัฐมนตรีเอง
ขณะเดียวกัน หลักการของการร่างรัฐธรรมนูญก็แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดบทบาทในการแต่งตั้ง 250 ส.ว. การกำหนดบทบาทในการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ การกำหนดโครงสร้างและรายละเอียดของพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
เด่นชัดอย่างยิ่งว่าไม่ต้องการให้เกิดสภาพการณ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นไปอย่างที่เกิดจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
 รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 อันถือว่าเป็นรัฐประหาร “เสียของ” เพราะไม่สามารถสกัด ขัดขวางพรรคการเมืองอันเป็นปรปักษ์และถือว่าเป็นคนไม่ดีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เส้นทาง คสช.
“เปรมโมเดล”

พลันที่มีการมอบหมายให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพลันที่มีการมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามารับช่วงในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
สังคมเอ่ยถึง “เปรมโมเดล” กันอย่างคึกคัก
เชื่อกันว่าเส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำเนินไปในแบบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจึงเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
เพราะว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ไม่เพียงแต่จะเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในวุฒิสภาเท่านั้น หากแต่ยังเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
เหมือนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2523 และบริหารราชการแผ่นดินอยู่จนถึงเดือนสิงหาคม 2531 ยาวนานเป็นเวลากว่า 8 ปี
 ถือเป็น “ต้นแบบ” ของทหารที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

เป็น “เปรมโมเดล”
หรือ “เกรียงศักดิ์โมเดล”

แท้จริงแล้วกระบวนการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากช่องทางในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 มิได้มีแต่เพียง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หากแต่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รวมอยู่ด้วย
นั่นก็คือ เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลัง “รัฐประหาร” ภายหลัง “การเลือกตั้ง”
เส้นทางของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงน่าสนใจ เพราะว่ามีบทบาทในการทำรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2519 และภายหลังจากทำรัฐประหารซ้ำในเดือนตุลาคม 2520 ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
จากนั้นก็ผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ออกมา
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐสภาให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
ฐานเสียงหลักอยู่ที่ “วุฒิสภา” ฐานเสียงรองอยู่ที่ “สภาผู้แทนราษฎร”
แต่เมื่อบริหารราชการแผ่นดินได้ไม่ครบ 1 ปี สถานการณ์โลกจากวิกฤตน้ำมันส่งผลสะเทือนกระทบเข้ามายังภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดการแยกตัวภายในสมาชิกวุฒิสภาโดยเข้าร่วมกับพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์
 กดดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องกรีดน้ำตาลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นรัฐสภาก็เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2523

กรณีของประยุทธ์
เกรียงศักดิ์หรือเปรม

แม้ คสช. จะวางบทบาทและเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ก้าวเดินไปบนวิถีแห่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามชะตากรรมในแบบของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เพราะสถานการณ์หลังการเลือกตั้งยากเป็นอย่างยิ่งที่จะขีดเส้นได้อย่างแน่นอน
รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการเลือกตั้งย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ไม่มี “มาตรา 44” อยู่ในมือ
ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ไม่มีรัฐสภาในแบบ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และแม้จะมี “วุฒิสภา” จำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกจำนวน 500 คนอันมีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้ง
บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน อาจมีบางส่วนเป็นบริษัทบริวารของ คสช. แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่
และที่สำคัญเป็นอย่างมาก พื้นฐานของพวกเขา 500 คนมาจากการเลือกตั้ง
 นี่คือปัจจัยใหม่ที่ไม่เหมือนกับปัจจัยหลังรัฐประหาร นี่คือปัจจัยใหม่อันเป็นอีกครึ่งหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างง่ายดาย