นพมาส แววหงส์ : THE MAN WHO KNEW INFINITY “อัจฉริยะ”

นพมาส แววหงส์

“เชื่อกันโดยทั่วไปว่าอัจฉริยะจะปรากฏออกมาเอง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นักเขียนชีวประวัติของรามานุชัน นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ อ้างว่าเวลาห้าปีตอนที่รามานุชันยังหนุ่มๆ และไม่ยอมสุงสิงกับนักคณิตศาสตร์อื่นๆ เพราะเขาสอบตกและหางานสอนพิเศษให้ใครยังไม่ได้ด้วยซ้ำ

นับเป็นเวลาสำคัญที่เขาได้ค้นพบสิ่งที่น่าทึ่ง แต่เมื่อตอนที่เขียนข่าวมรณกรรมให้แก่รามานุชัน จี.เอช.ฮาร์ดี นักคณิตศาสตร์ที่เคมบริดจ์ซึ่งรู้จักเขาดี บอกว่าทัศนะแบบนั้นเป็นเรื่อง “ที่พูดกันด้วยอารมณ์และไร้สาระทั้งเพ” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาก็เคยเชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน

หลังจากที่รามานุชันเสียชีวิตลงในวัย 33 ปี ฮาร์ดีเขียนว่า “เรื่องเศร้าของรามานุชันไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาตายตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่อยู่ที่ว่าในช่วงห้าปีที่อับโชคนั้น อัจฉริยภาพของเขาหันเหไปผิดทาง ตกขอบถนนลงข้างทาง และบิดเบือนไปพอควร”

ข้อความข้างต้นนี้คัดมาจาก “ผู้ชายหลายในมิติ” ในบทที่ชื่อว่า “โรงเรียนสอนอัจฉริยะ” ซึ่งผู้เขียนแปลจากหนังสือชื่อ A Beautiful Mind โดยเป็นชีวประวัติของ จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์ที่ดิ้นรนอยู่ในอาการของโรคจิตเภทอยู่หลายสิบปี ก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในฐานะผู้ที่คิดค้นทฤษฎีเกมซึ่งสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่

คงยังไม่ลืมกันว่า หนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เมื่อหลายปีมาแล้ว โดยมี รัสเซลล์ โครว์ และ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี นำแสดง

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้ยินชื่อนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียชื่อ ศรีนิวาสะ รามานุชัน เป็นครั้งแรก และค้นคว้าจาก “ศัพท์เฉพาะทางคณิตศาสตร์” ของราชบัณฑิตยสถาน เห็นชื่อนี้ขึ้นทำเนียบนักคณิตศาสตร์ของโลก โดยมีผลงานสำคัญคือ “อนุกรมแบ่งกั้นฮาร์ดี-รามานุชัน” (Hardy-Ramanujan partition series)

ฮาร์ดีคนที่ปรากฏว่ามีผลงานร่วมกับรามานุชัน คือ จี. เอช. ฮาร์ดี ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยทรินิตี้ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ

หนังเลือกให้โปรเฟสเซอร์ฮาร์ดี (เจเรมี ไอออนส์) เป็นคนเล่าเรื่อง เนื่องจากเขาเป็นจุดเชื่อมโยงและเป็นผู้แนะนำอัจฉริยะที่น่าทึ่งของชาวอินเดียผู้ยากจน “ไร้การศึกษา” จากแคว้นมัดราสคนนี้ ให้โลกตะวันตกได้รู้จัก

Dev Patel i The Man Who Knew Infinity

 ศรีนิวาสะ รามานุชัน (เดฟ พาเทล) เกิดในครอบครัวพราหมณ์ที่ยากจน ครอบครัวจัดการแต่งงานคลุมถุงชนให้ตั้งแต่เจ้าสาวยังมีวัยเพียงสิบขวบ แต่เนื่องจากยากจนข้นแค้น ไม่มีบ้านช่องจะให้อยู่ด้วยกัน ต้องทิ้งภรรยาอยู่กับแม่เขา ขณะที่เขาเร่ร่อนออกมาหาหลังคาคุ้มหัวในอุโมงค์สาธารณะ และหางานทำอย่างลำบากยากเย็น เพราะขาดวุฒิทางการศึกษา

ตั้งแต่ยังเล็ก รามานุชันขีดเขียนแต่ตัวเลข และสมการที่ไม่มีใครเข้าใจ ความสนใจของเขามีอยู่แต่ในคณิตศาสตร์ ไม่ยอมเรียนวิชาอื่นๆ จนต้องออกจากโรงเรียน

ดังนั้น อย่าว่าแต่การศึกษาในมหาวิทยาลัยเลย รามานุชันเรียนชั้นมัธยมก็ไม่จบด้วยซ้ำ

เขาได้งานเสมียน เหมือนเป็นนักบัญชีของบริษัทที่มี เซอร์ฟรานซิส สปริง (สตีเฟน ฟราย) เป็นเจ้าของ มีเงินเดือนมีบ้านอยู่จนรับเมียกับแม่มาอยู่ด้วยกันได้ และยังคงขีดเขียนตัวเลขไว้ในสมุดที่พยายามจะตีพิมพ์เผยแพร่ โดยเขียนจดหมายไปหาบุคคลต่างๆ ที่มีความสนใจในงานที่เขาทำ

จวบจนฮาร์ดีสะดุดตาและสะดุดใจกับอัจฉริยภาพอันเหลือเชื่อนี้ในจดหมายที่เขียนถึงเขา และจัดการให้เขาเดินทางไปเคมบริดจ์ เพื่อร่วมงานกัน

135950708

ปัญหาแรกเริ่มของรามานุชันคือศาสนาของเขาห้ามการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปประเทศอื่น การเดินทางไปอังกฤษหมายถึงการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ การกินอยู่ และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปคนละขั้ว

แต่เพื่อติดตามความฝันของตน เขาจึงต้องจากครอบครัวไป ในคราบของ “ชาวตะวันตก” ตัดผมสั้น สวมสูทแบบตะวันตก และเรียนรู้ที่จะใส่รองเท้าคัตชู แม่เขาสั่งนักสั่งหนาให้ “รักษาตัวให้สะอาด” โดยไม่กินเนื้อสัตว์ และต้องสวดมนต์บูชาเทพเจ้าโดยตลอด

สิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่รามานุชันต้องเผชิญ ยังไม่นับการดูถูกดูแคลนของชาวอังกฤษทั้งที่ทรงคุณวุฒิและเพื่อนนักศึกษา

ฮาร์ดีมีเพื่อนร่วมงานชื่อ ลิตเติลวู้ด (โทบี้ โจนส์) ซึ่งเป็นคนคอยดูแลรามานุชันอย่างเข้าอกเข้าใจมากกว่าใครอื่น

เมื่อรามานุชันย่างก้าวเข้าไปสนามหญ้ากว้างใหญ่รายล้อมด้วยอาคารสูงทะมึนของทรินิตี้คอลเลจ เขาแทบก้าวขาไม่ออก และลิตเติลวู้ดบอกอย่างเป็นกันเองว่า “น่าเกรงขามใช่ไหมล่ะ เขาออกแบบให้ดูเป็นอย่างนั้นแหละ ข่มให้เราตัวเล็กลงเหลือนิดเดียว”

แล้วยังชี้ให้ดูต้นแอปเปิ้ลเก่าแก่ที่เล่าว่า ไอแซ็ก นิวตัน เคยมานอนใต้ต้น จนลูกแอปเปิ้ลหล่นลงมา ทำให้เขาคิดทฤษฎีแรงโน้มถ่วงอันยิ่งใหญ่ของเขา

ในการทำงานร่วมกัน ฮาร์ดีเป็นสิ่งตรงข้ามคนละขั้วกับรามานุชันโดยสิ้นเชิง ขณะที่รามานุชันเชื่อใน “สัญชาตญาณที่เกิดจากลางสังหรณ์” ของเขา ฮาร์ดีก็บีบบังคับให้เขาหาข้อพิสูจน์ให้กระจ่างแจ้งให้ได้เสียก่อน และทำตัวให้เป็นที่ยอมรับโดยเข้าชั้นเรียนเหมือนนักศึกษาทั่วไป

ขณะที่ชั้นเรียนไม่มีอะไรใหม่จะให้รามานุชันเรียนรู้ เขาแก้โจทย์ที่มองเห็นปราดเดียวได้ทันที ขณะที่อาจารย์ผู้สอนยังต้องรับว่ายังแก้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ช่วงเวลาห้าปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ.1914 ถึง 1919 คือช่วงเวลาที่กล่าวถึงในข้อความที่ยกมาข้างต้น ขณะที่รามานุชันเพียรพยายามจะตีพิมพ์ผลงานของเขาโดยร่วมงานกับฮาร์ดี และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากท่ามกลางวัฒนธรรมคนละซีกโลก ระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

และเขาค้นพบอาการเจ็บป่วยขั้นร้ายแรง

ด้วยความช่วยเหลือของฮาร์ดี รามานุชันได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของราชสมาคมแห่งอังกฤษในที่สุด

Jeremy Irons og Dev Patel i The Man Who Knew Infinity

บรูซ ซี เบิร์นต์ กล่าวว่า “ในโลกของคณิตศาสตร์…ฮาร์ดีเคยจัดอันดับนักคณิตศาสตร์ไว้ สมมติว่าเราจัดอันดับนักคณิตศาสตร์โดยมองจากพรสวรรค์ล้วนๆ โดยใช้มาตราวัดจาก 0 ถึง 100 ฮาร์ดีให้คะแนนตัวเอง 25 ให้ เจ.อี. ลิตเติลวู้ด 30 ให้ เดวิด ฮิลเบิร์ต 80 และให้รามานุชัน 100 เต็ม”

ว่ากันว่าในบรรดาทฤษฎีมากมายของรามานุชันนั้น บางทฤษฎีนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องร่วมศตวรรษหลังจากเขาเสียชีวิตไป และนำไปสู่การพิสูจน์ว่าการมีอยู่ของหลุมดำในห้วงอวกาศไกลโพ้น

ถ้าจะว่ากันในด้านของรูปแบบ The Man Who Knew Infinity ไม่ได้มีอะไรใหม่หรือโดดเด่นนัก ออกจะเดินเรื่องตามสูตรสำเร็จอย่างที่คาดเดาได้ด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือการได้รู้จักกับอัจฉริยะคนนี้ที่แทบไม่มีใครรู้จักนอกวงการคณิตศาสตร์คนนี้

themanwhoknewinfinitybigstill
ผู้เขียนต้องบอกว่ายังไม่รู้สึกทึ่งต่อเซอร์ไอแซ็ก นิวตัน ไอน์สไตน์ หรือแม้แต่ สตีเฟน ฮอว์กิงส์ มากเท่านี้เลย

เพราะคนเหล่านั้นได้รับการเพาะเลี้ยงอบรมบ่มนิสัยในแวดวงวิชาการมาทั้งนั้น

แต่คนอย่างรามานุชันนี้ ไม่รู้มันสมองล้ำเลิศขนาดนี้มีขึ้นได้อย่างไร นอกจากจะอธิบายว่าเทพเจ้าประทานมาให้เขา

ขณะที่ฮาร์ดีผู้ทำงานใกล้ชิดที่สุดกับเขา เคยบอกไว้ว่า เรื่องลางสังหรณ์จากพระเจ้านี้เป็นสิ่งที่นักเขียนชีวประวัติเติมสีสันให้กลายเป็นนิยายโรแมนติกเกินกว่าความเป็นจริง

ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องราวของรามานุชันก็เป็นความน่าอัศจรรย์ชวนพิศวงอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

THE MAN WHO KNEW INFINITY
กับการแสดง
Matt Brown

นำแสดง
Dev Patel
Jeremy Irons
Toby Jones
Jeremy Northam
Stephen Fry