ในประเทศ/เจ๊หน่อย สยบกระแส ‘ชูขึ้นมาเชือด’ ยัน พท.ยังไม่วางใคร ‘หัวหน้า’

ในประเทศ

เจ๊หน่อย สยบกระแส
‘ชูขึ้นมาเชือด’
ยัน พท.ยังไม่วางใคร ‘หัวหน้า’

สายข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า ณ ขณะนี้ นายใหญ่อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เห็นงามตามท้องเรื่องให้ “หญิงหน่อย” หรือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นแกนหลักนำทัพพรรคเพื่อไทย (พท.) ในยามวิกฤต
เหตุผลหนึ่ง “หญิงหน่อย” มีประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน เป็น ส.ส. สมัยแรกตั้งแต่อายุ 31 ปี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาด้วยกัน
อีกเหตุผลหนึ่ง ก็ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนานนี้ ส่งผลให้ “หญิงหน่อย” มีเครือข่ายแบบที่เรียกว่า “คอนเน็กชั่น” กับผู้คนหลากหลายวงการ ไม่เว้นนายทหารในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“หญิงหน่อย” จึงเหมาะนำพรรคในยุคที่ทหารครองเมือง
 “มติชนสุดสัปดาห์” สัมภาษณ์ “หญิงหน่อย”

ต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้น คุณหญิงสุดารัตน์ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง โดยบอกว่า เป็นเพียงกระแสข่าว วันนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการวางตัวใครเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเส้นทางจากนี้ไปสู่การเลือกตั้งยังอีกยาวไกล จึงไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยข่าวเพื่อเช็กกระแส หรือเป็นเกมที่ชูตนเองขึ้นมา ‘เชือด’ หรือเป็นเป้าล่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พรรคจะคัดผู้นำที่เข้ากับสถานการณ์สู้ศึกเลือกตั้งเอง
ชีวิตส่วนตัวที่ว่างเว้นจากการเมือง “หญิงหน่อย” เล่าให้ฟังว่า ได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่มีความสุขหลากหลาย เช่น ท่องเที่ยว ช่วยหมู่บ้านศีล 5 บูรณปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน เป็นต้น
จากนั้นได้สมัครเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “พุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทย” โดยมีแกนหลักจากพระราชดํารัสของในหลวงรัฐกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 เรื่องคุณธรรม 4 ประการ เป็นพระราชดำรัสช่วงที่คนไทยเริ่มทะเลาะกัน
คุณหญิงสุดารัตน์เผยความคิดในการทำงานการเมืองของตัวเองในอนาคตว่า การเมืองวันนี้ต่างจากอดีต นักการเมืองถูกปิดกั้นหลายด้าน ทั้งยังมีการทำลายล้างนักการเมืองอย่างรุนแรง เป็นการทำลายโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม นั่นเป็นเหตุผลให้หลายคนไม่ต้องการกลับเข้ามาทำงานการเมืองอีก
“อีกอย่างเราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเป็นโน่นเป็นนี่ แต่เราอยู่ในองค์กร หากมีสิ่งที่ทำแล้วองค์กรและประเทศดีขึ้น เราก็จะเสนอ ทำเต็มที่ การเมืองสำหรับตัวเองก็อิ่มตัวพอสมควร เราทำงานการเมืองตั้งแต่อายุ 31 จนวันนี้อายุ 56 มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ แค่นี้ก็เป็นบุญของชีวิตแล้ว การเป็นหัวหน้าพรรคต้องมองอีกหลายๆ อย่าง เพราะวันนี้ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีการเลือกตั้งตอนไหน ดังนั้น จึงสบายๆ ไม่อะไรมาก
 “ในพรรคเพื่อไทยมีผู้มีความสามารถอยู่มาก และมีคนนอกพรรคที่เรามองๆ อยู่ แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้เลยเพราะติดข้อห้าม เมื่อประชุมพรรคได้เราคงหารือ การหารือต้องเริ่มจากทิศทางของพรรค ว่าควรเดินทิศทางใดภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เมื่อรู้ทิศทางของพรรคแล้ว เราจะพยายามหาหัวหน้าพรรคให้เหมาะกับทิศทางที่พรรคจะเดิน”

“หญิงหน่อย” กล่าวถึงวิบากกรรมที่พรรคเพื่อไทยประสบพบเจอว่า ถือเป็นวิบากกรรม เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 ที่มีการตัดสิทธิ์นักการเมืองบ้านเลขที่ 111, 109 เรื่อยมาจนถึงรัฐประหารพฤษภาคม 2557 จะเห็นว่าเป็นวิบากกรรมของพรรคมาโดยตลอด ส่งผลให้การทำงานการเมืองของพรรคในอนาคต จะเป็นไปอย่างไม่สะดวกมากนัก
“เราเคยคุยกันเล่นๆ ว่า เดิมทีเจ้าอาวาสบริหาร เมื่อเจ้าอาวาสไปแล้วพระลูกวัดก็บริหาร จนพระลูกวัดก็โดนอีก ตอนนี้เหลือแค่เณรน้อยบริหาร ซึ่งดูแล้วคงจะโดนกันหมดวัด นี่คือวิบากกรรม ถ้าถามว่าเป็นพิษของรัฐประหารโดยตรงหรือไม่ ตรงนี้ไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะมันชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากบ้านเมืองไม่กลับไปสู่หลักนิติธรรม จะเกิดความยุ่งยากไม่รู้จบ บ้านเมืองจะต้องมีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ จึงจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้
“ขณะเดียวกัน นักการเมืองก็ต้องกลับมาดูตัวเอง ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่รักษาระบบเองหรือเปล่า ระบบนี้เป็นระบบที่มีความสมดุลในการตรวจสอบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผ่านกลไกรัฐสภา เราทำอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่ เราได้เคารพกฎเกณฑ์ไหม แล้วเรามาแก้ไขปัญหาบนถนน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง บอกว่าประชาชนที่โหวตไม่มีคุณภาพเพราะมาจากต่างจังหวัด
“ถ้าเราไม่ยอมรับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ มันก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย”

หญิงหน่อยเล่าอีกว่า หลังยึดอำนาจที่มีการอ้างว่าต้องการปฏิรูปเรื่องต่างๆ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการแก้ไขข้อกังวลหรือข้ออ้างที่บอกว่า นักการเมืองหลอกประชาชนต่างจังหวัดให้เลือก จนได้คะแนนเสียงที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาจริงก็ต้องคิดหาวิธีแก้ไข ดังนั้น จึงเป็นการอ้างอย่างแต่ทำอย่าง จนทำให้ประชาชนเบื่อการเมือง
อีกแง่หนึ่ง ประชาชนเบื่อการเมืองเพราะการเมืองเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง การเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ การแย่งชิงอำนาจ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ฝ่ายการเมืองต้องแก้ไขภาพลักษณ์ของตัวเองด้วย
หญิงหน่อยบอกว่า สิ่งที่ คสช. วางโครงสร้างทางการเมืองวันนี้ จะเป็นปัญหายิ่งกว่าปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปโดยปราศจากการปฏิวัติ เพราะโครงสร้างที่วางไว้นั้นจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือ การปล่อยให้การเมืองได้แก้ไขปัญหาด้วยตัวของมันเอง แม้จะช้า แต่ได้ผล
“อีกอย่างการเมืองไทยก็ควรก้าวข้ามคุณทักษิณได้แล้ว เพราะคุณทักษิณเองก็พร้อมจะให้ก้าวข้าม สังเกตในช่วงหลังก็แทบจะไม่ออกมาพูดอะไรเลย แต่คิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่อยากก้าวข้าม เพราะต้องเอาคุณทักษิณมาเป็นเหยื่อ เป็นปีศาจร้ายเพื่อหลอกหลอนแล้วคงรักษาสถานภาพของตัวเองไว้ จึงต้องปลุกผีทักษิณขึ้นมาหลอกคนเรื่อยๆ เพราะถ้าบ้านเมืองกลับมาสงบปกติ คนเหล่านี้อาจไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ไม่เหมือนกับการมีผีทักษิณ ทำให้พวกเขามีช่องทางต่างๆ ได้
 “หลังรัฐประหารล่าสุด คุณทักษิณก็โดนหลายอย่าง และน้องสาวก็กำลังจะถูกตัดสินคดีสำคัญ แต่ปฏิกิริยาโต้กลับน้อย จึงคิดว่าคุณทักษิณคงปล่อยวาง อยากถอดตัวเองจากสิ่งที่หลายคนอ้างให้เป็นปัญหา คิดว่าเขาคงทำใจ ไม่อยากมาทำอะไรให้คนเอาไปสร้างเรื่องอีก ยอมเก็บความเจ็บช้ำไว้กับตัวเอง”

ต่อสถานการณ์บ้านเมือง “หญิงหน่อย” เสนอแนะว่าก่อนการเลือกตั้ง นักการเมืองควรมีโอกาสได้พบปะหารือกัน เพื่อเสนอความเห็นในด้านต่างๆ อย่างเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่กระทบประชาชน การปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี
“ประเทศที่เจริญแล้วหรือบริษัทใหญ่ๆ ยังไม่กล้าทำแผนงานถึง 20 ปีเลย เพราะอย่างมากแค่ 5 ปีก็เสียวไส้แล้ว ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก มีการล่มสลายในธุรกิจเพียงข้ามคืน จึงไม่มีใครกล้ากำหนดกฎเกณฑ์ยุทธศาสตร์นานถึง 20 ปี เพราะถ้าเรากำหนดมาก จะกลายเป็นการมัดตัวเองจนขยับยาก เราอาจเสี่ยง ที่พูดนี้ไม่ได้พูดเพราะมีรัฐบาลทหาร แต่ใครก็แล้วแต่ถ้าคิดแบบนี้ น่าเป็นห่วงมาก เพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก แต่เรากลับวางกฎเกณฑ์ยาวนานและสร้างกฎเกณฑ์รัดตัวเอง
“นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์อีกหลากหลายที่ทำให้รัฐบาลหน้าแทบไม่สามารถผลักดันนโยบายได้เลย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ ต่อหลังการเลือกตั้ง ก็ยังยากเย็นแสนเข็ญเพราะจะไม่มีมาตรา 44 เหมือนวันนี้ การทำงานเราจะไม่ฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ เราไม่สามารถรู้ทุกเรื่อง แม้บางอย่างอาจไม่ค่อยถูกใจ แต่ก็ต้องฟัง ข้อดีของสังคมประชาธิปไตยคือการรับฟังความคิดเห็น เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด”
ส่วนการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ตลอด 3 ปีมานี้ คุณหญิงสุดารัตน์มองว่า เศรษฐกิจในวันนี้เป็นปัญหาใหญ่ คณะปฏิวัติอ้างว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบายประชานิยมทำให้ชาติเสียหาย จากนั้นกล่าวหาทุกโครงการที่ลงไปสู่รากหญ้า ว่าคือประชานิยม จึงต้องล้มเลิก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว นโยบายเหล่านั้นคือการให้โอกาส เมื่อล้มเลิกนโยบาย จึงเป็นการตัดโอกาสการช่วยเหลือประชาชนระดับรากหญ้า
ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถทำให้พืชผลการเกษตรราคาดีขึ้นได้ จึงเกิดปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่เกิดการบริโภค เพราะไทยไม่สามารถหวังการส่งออกเพียงอย่างเดียวได้
“จากนั้นรัฐได้มุ่งไปที่การกระตุ้นการลงทุน แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นได้ตามเป้า ตรงกันข้าม เงินลงทุนกลับไหลออกนอกประเทศเป็นเท่าตัว แม้รัฐจะมีมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุนมากแล้วก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่านักลงทุนไม่มีความมั่นใจในอนาคตของประเทศไทย เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ สามารถเปลี่ยนได้โดยง่ายเพียงใช้มาตรา 44”
 คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวทิ้งท้าย