ห้องสมุด (รัฐ) ไทย ในโลกที่เปลี่ยนแปลง (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ห้องสมุด (รัฐ) ไทย

ในโลกที่เปลี่ยนแปลง (จบ)

 

รากเหง้าเก่าแก่ของความเป็นห้องสมุด คือการรวบรวมหนังสือและสร้างพื้นที่แห่งความเงียบเพื่อตอบสนองวัฒนธรรมการอ่านหนังสือแบบจริงจัง แต่ในปัจจุบันหนังสือและพื้นที่แห่งความเงียบไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของห้องสมุดอีกต่อไปแล้ว

“ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” หากต้องการอยู่รอดในโลกสมัยใหม่ จะต้องก้าวออกมาจาก comfort zone ของตัวเอง เปิดรับความท้าทายใหม่ และเริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมอย่างเร่งด่วน ซึ่งในทัศนะผม บทบาทใหม่ที่ท้าทายห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 มี 2 ด้านที่สำคัญ คือ

หนึ่ง การปรับตัวให้ทันต่อวัฒนธรรมการอ่านที่ย้ายหนีออกจากตัวเล่มหนังสือไปสู่การอ่านในโลกออนไลน์ผ่านอุปกรณ์สมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ

สอง การขยายนิยามของตัวเองไปสู่การเป็น “พื้นที่ทางวัฒนธรรม” รูปแบบใหม่ๆ ให้แก่ชุมชน

เราเห็นทิศทางดังกล่าวชัดเจนจากห้องสมุดมากมายทั่วโลก ตามที่ได้กล่าวถึงไปบ้างในบทความสัปดาห์ก่อน

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” เกือบทั้งหมดยังไม่ตระหนักถึงทิศทางนี้เท่าที่ควร

 

สิ่งที่อาจพอมองเห็นอยู่บ้างและไม่น่าห่วงมากนัก คือการปรับตัวในข้อหนึ่ง ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มนำหนังสือในคอลเลคชั่นตนเองมาแปลงเป็นหนังสือออนไลน์ แม้ว่าจะยังมีปริมาณที่ยังไม่มากนัก แต่ภารกิจนี้ ห้องสมุดเกือบทุกแห่งในสังคมไทยต่างมองเห็นว่าจำเป็นและเริ่มทำโครงการในลักษณะนี้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่า คือความเปลี่ยนแปลงในข้อสอง ซึ่งเท่าที่ตามสังเกตดูมาพอสมควร ผมคิดว่าไม่มีห้องสมุดใดเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองมาสู่แนวทางนี้เลย

สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือการมองตัวเองเป็นสถาบันทางการในแบบราชการที่มากเกินไป จนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าตนเองควรต้องเริ่มหันมาทำงานเชิงรุก ส่วนใหญ่ยังคงมีความคิดว่าตนเองเป็นเพียงแค่คนเก็บรักษาหนังสือและให้บริการหนังสือเท่านั้น

“ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” แทบทั้งหมดยังไม่เข้าใจว่าเป้าหมายหลักของห้องสมุดคือการสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชน ซึ่งในโลกศตวรรษที่ 20 เป้าหมายดังกล่าวอาจบรรลุได้ด้วยการรวบรวมหนังสือเข้าห้องสมุดให้มากที่สุดและสร้างพื้นที่อ่านหนังสือที่เงียบที่สุดเท่านั้น แต่โลกศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่อีกต่อไป

ผมอยากทดลองเสนอความเปลี่ยนแปลง 3 ประการที่ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ควรนำไปพิจารณาอย่างเร่งด่วนก่อนที่ตนเองจะแปลสภาพกลายเป็นโกดังเก็บหนังสือที่ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้คนได้อีกต่อไป

 

ประการแรก ห้องสมุดจะต้องปรับพื้นที่ครั้งใหญ่โดยลด “พื้นที่อ่านเงียบ” ลง (ลดลงมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละแห่ง) และเพิ่ม “พื้นที่การเรียนรู้” รูปแบบอื่นแทน เช่น co-working space ที่ใช้เสียงได้และมีการเตรียมพร้อมในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นทางการน่าเบื่อแบบสถานที่ราชการ และที่สำคัญคือ สามารถนำเครื่องดื่มเข้ามาทานได้

ขอให้สังเกตนะครับ co-working space เกิดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่พื้นที่เหล่านั้นเกิดขึ้นนอกห้องสมุดทั้งสิ้น ลองคิดดูนะครับว่ามันจะดีมากแค่ไหนและจะส่งเสริมการเรียนรู้ได้ขนาดไหน หากห้องสมุดสร้างพื้นที่ประเภทนี้ขึ้นเสียเอง

เมื่อคนเข้ามาใช้สอย ประชุม ทำงานกลุ่ม นั่งทำงานเดี่ยว ฯลฯ และต้องการหาข้อมูลหรือสงสัยอะไรสักอย่างก็สามารถเดินไปหาได้จากฐานข้อมูลมหาศาลที่ห้องสมุดเก็บเอาไว้ ทั้งในรูปแบบดิจิตอลและตัวเล่มหนังสือจริง ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลงหากเกิดขึ้นใน co-working space นอกห้องสมุด

นอกจากนี้ ห้องสมุดควรเพิ่มพื้นที่ดูภาพยนตร์ทางเลือกและหนังสารคดีที่หาดูไม่ได้จากโรงภาพยนตร์เอกชน เพราะภาพยนตร์คือสื่อในการเรียนรู้ที่สำคัญไม่แพ้หนังสืออีกต่อไปแล้ว รวมไปถึง ควรเพิ่มพื้นที่เล่นเกม เพราะโลกปัจจุบัน เกมสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ห้องสมุดจะต้องทำลายมายาคติโบราณที่มองเกมว่าอยู่ตรงข้ามการเรียนรู้ ซึ่งเป็นทัศนะล้าสมัยอย่างมากลงเสียที

ทั้งหมดนี้ จะทำได้หรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” จะต้องทำลายความเป็นสถาบันที่ขรึมขลังเป็นทางการของตัวเองลงให้หมดสิ้นเสียก่อน

เลิกเสียทีกับการเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกาย เลิกเถอะครับมายาคติว่าด้วยการเคารพสถานที่ อิฐหินปูนทรายเราจะไปเคารพทำไม เคารพความเป็นมนุษย์ด้วยกันนี่แหละคือสิ่งที่ควรเคารพที่สุด

ที่สำคัญคือ เลิกหวงหนังสือ เอกสารโบราณ และหลักฐานหายากทั้งหลายที่ห้องสมุดเก็บเอาไว้เถอะครับ เปิดให้ใช้โดยง่ายและกว้างขวางมากที่สุดนั่นแหละ คือวิธีที่จะทำให้ประชาชนเคารพยกย่องห้องสมุดนั้นๆ อย่างแท้จริง

 

ประการที่สอง ห้องสมุดควรทำงานเชิงรุกด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบรรยายสัมมนาทางวิชาการ, กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ นิยาย ไปจนถึงการ์ตูนเล่มใหม่, การสร้างกลุ่มอ่านหนังสือ, ไปจนถึงการจัดอบรมในประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบ

น่าแปลกไหมครับ ตลอด 2 ปีที่เราประสบวิกฤตโควิด กลับไม่มีห้องสมุดใดจัดกิจกรรมให้ความรู้ที่จำเป็นในการรับมือปัญหาเรื่องนี้แก่ประชาชน ทั้งในแบบออนไซต์เมื่อครั้งการระบาดระลอกแรกที่ยังพอสามารถจัดกิจกรรมเช่นนี้ได้ หรือในแบบออนไลน์ในคราวระบาดหนักระลอกที่สามนี้

จริงๆ ก็คงไม่แปลก หากเรามอง “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ในบทบาทเดิมเหมือนเมื่อศตวรรษที่แล้ว ปัญหาโควิดก็คงไม่เกี่ยวอะไรกับห้องสมุด แต่หากเรามองห้องสมุดในฐานะพื้นที่ตัวกลางในการสร้างการเรียนรู้

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่แปลกมากที่ห้องสมุดทั้งหลายแทบไม่เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการสร้างเรียนรู้ให้แก่สังคมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้เลย

 

ประการที่สาม “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ทุกแห่งควรเพิ่มบทบาทใหม่ในการทำหน้าที่เป็น “ห้องสมุดสิ่งของ” (Library of Things) ให้แก่ชุมชนโดยรอบ

“ห้องสมุดสิ่งของ” หากให้นิยามโดยสรุปก็คือ พื้นที่ที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ผู้คนมาหยิบยืมเอาไปใช้สอยชั่วคราวโดยไม่เสียค่าใช่จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อย สิ่งของก็มีความหลากหลายตั้งแต่ เครื่องใช้ในครัวเรือน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, งานศิลปะ, เครื่องดนตรี, อุปกรณ์ทำสวน, กล้องถ่ายภาพ, อุปกรณ์ออกกำลังกาย ฯลฯ

ซึ่งโดยหลักการแล้ว คือสิ่งของที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับค่าใช้จ่ายได้ หรือมีขนาดใหญ่จนเกินกว่าจะมีเก็บเอาไว้ที่บ้านของตัวเอง แต่จำเป็นต้องใช้ในบางครั้งบางคราว

ไอเดียนี้มิใช่เรื่องใหม่อะไรในหลายประเทศ แต่ในสังคมไทยก็ต้องถือว่าใหม่มาก และไม่น่าจะมีห้องสมุดแบบนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจังมาก่อน แต่ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อทั้งการดำรงชีวิตและการเรียนรู้

ลองนึกถึงเด็กที่อาจมีความสามารถในทางดนตรีแต่ยากจนเกินกว่าจะซื้อเครื่องดนตรีเป็นของตนเองได้ จนเป็นผลทำให้ขาดโอกาสในการฝึกฝนและเรียนรู้ทางด้านดนตรี แต่ถ้าเรามี “ห้องสมุดสิ่งของ” ให้ยืมเครื่องดนตรี ก็จะเป็นการเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กคนนั้นมากขึ้น

ลองนึกถึง เราสามารถยืมเครื่องดูดฝุ่น ปริ๊นเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์งานช่าง กลับไปบ้านได้จะช่วยประหยัดทรัพยากรและค่าใช้จ่ายให้แก่คนเป็นจำนวนมากได้ขนาดไหน

ยิ่งไปกว่านั้น “ห้องสมุดสิ่งของ” เหล่านี้หลายแห่งมิได้เพียงแค่การให้บริการยืมสิ่งของเท่านั้น แต่ยังมีการจัดอบรมการใช้ การดูแลรักษา ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ด้วย ซึ่งนี่คือรากฐานของการเรียนรู้ในระดับชีวิตประจำวันที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม “ห้องสมุดสิ่งของ” ที่ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานเชิงรุกและสร้างเครือข่ายกับชุมชนอย่างเข้มแข็ง ลงทะเบียนสมาชิกที่มีสิทธิ์ในการยืม อาจต้องมีอาสาสมัครชุมชนเข้ามาดูแลการยืมคืนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เฝ้าติดตามสิ่งของที่ถูกยืมไปไม่ให้สูญหาย ฯลฯ ซึ่งไม่ง่ายเลย

แต่กระนั้น “ห้องสมุดสิ่งของ” คือหนึ่งในอนาคตของห้องสมุดที่ควรจะเป็น เพราะหนังสือไม่ใช่คอลเล็กชั่นเดียวที่ห้องสมุดควรมีอีกต่อไป แต่วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของประชาชนต่างหาก คือคอลเล็กชั่นที่สำคัญไม่แพ้กัน

 

ความเปลี่ยนแปลง 3 ประการที่เสนอมา หลายคนอ่านแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ยอมเดินลงมาจากหอคอยแห่งความเป็นสถาบันราชการอันสูงส่ง เพื่อมาทำอะไรแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะผม การปรับตัวตามแนวทางดังกล่าวคือทางรอดเดียวที่จะทำให้ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ไม่แยกตัวเองออกจากสังคมไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และยังสามารถที่จะมีบทบาทต่อสังคมได้จริงในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว