หลังเลนส์ในดงลึก : ‘รอย-เล็บ’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน การทำงานโดยวิธีร่วมมือกันทั้งฝูง ทำให้หมาไนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

 

 

‘รอย-เล็บ’

 

เล็บเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสัตว์ป่า โดยเฉพาะพวกที่เป็นสัตว์ผู้ล่า นอกจากใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับเหยื่ออย่างหนึ่ง เล็บแหลมๆ สร้างบาดแผลฉกรรจ์ ทำให้เหยื่อช้าลงได้ ใช้ช่วยในการวิ่ง, ปีนต้นไม้ และอื่นๆ

นอกจากนั้น พวกมันยังใช้เล็บเพื่อการสื่อสาร เช่น เสือใช้เล็บแหลมตะกุยลำต้นไม้สร้างรอย หรือคุ้ยดิน บอกให้รู้ว่าบริเวณนี้คือพื้นที่ใคร

เสือนั้นได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างดี สมกับหน้าที่ผู้อยู่บนสุดของอาชีพนักล่า

ขณะเดิน เสือสามารถหดเล็บเข้าไปไว้ข้างในได้ จึงทำให้มันเดินได้เงียบ เมื่อถึงเวลากระโจนเข้าหาเหยื่อ ถึงยืดเล็บออกมาตะปบ

นักล่าจำพวกหมา ก็ใช้ประโยชน์จากเล็บเช่นกัน แต่หมานักล่าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เก็บเล็บเวลาไม่ต้องใช้ได้

รอยตีนของเสือและหมา จึงมีความแตกต่าง รอยมีอุ้งตีน มีนิ้วเหมือนกัน แต่รอยตีนหมามีรอยเล็บ นี่ทำให้รอยตีนของพวกมันต่างไปจากรอยเสือ

เราแยกพวกมันออกจากกันได้เพียงแค่เห็นรอยตีน

 

ผมหลงในป่าบ่อยๆ ไม่ใช่การหลงป่าแบบหาทางออกไม่พบอะไรเช่นนั้น แต่หลงออกจากเส้นทางด่านที่ควรใช้ นั่นทำให้พบกับทางที่ยากขึ้น วกวน ใช้เวลามากกว่าเดิม

ส่วนใหญ่หลงเพราะเชื่อในความจำของตัวเอง ไม่ใช้จีพีเอส ด่านในป่ามีบางช่วงจะสับสน มีหลายเส้น และผมมักจะเดินหรือเลี้ยวไปตามทางที่เดินสะดวก เดินสบายอย่างเคยชิน

และจะพบว่าผิดเส้นทาง จุดหมายที่จะไป ไม่ได้ไปด้วยเส้นทางที่เดินสบายอย่างนั้นหรอก

 

วันนั้น หลังจากเดินมาราวๆ 2 ชั่วโมง เพื่อไปยังโป่งแห่งหนึ่ง ผมถึงป่าที่รายล้อมด้วยต้นมะค่า โคนต้นมีที่โล่งๆ มีขี้ช้างเก่าๆ 3-4 กอง และรอยโคลนแห้งที่ลำต้นไม้ ในระดับสูงท่วมหัว

ผมมองรอบๆ และรู้ตัวว่ามาผิดสันเขา ผมจำได้ว่า จากหุบตัดขึ้นสันจะมีลำห้วยเล็กๆ ไม่ไกลจะมีโป่งที่มีน้ำซึมตลอดปี

วันนี้ผมผ่านลำห้วยแห้งมาหลายสาย คงเข้าด่านผิดตั้งแต่ในหุบ ผมมองรอบๆ ป่าที่อยู่ในฤดูกาลเตรียมลดการใช้น้ำ เพื่อรับมือกับฤดูแล้ง ใบไม้สีเหลือง สีน้ำตาล ร่วงลงเต็มพื้น ผึ้งบินตอมหึ่งๆ คลานเข้าทางแขนเสื้อ เผลอขยับเร็วๆ ผึ้งปล่อยเหล็กไน ตั้งแต่เช้าผมโดนต่อยสองครั้ง

ผมนั่งโคนมะค่า เปิดเป้หยิบกล่องข้าวขึ้นมากินข้าว มองรอบๆ เมื่อผิดเส้นทาง หาทางไปจุดหมายข้างหน้าไม่พบ การถอยกลับเพื่อเริ่มต้นใหม่จำเป็น

แต่ในฤดูนี้ วันที่ใบไม้ร่วงหล่นคลุมเต็มพื้น หารอยตัวเองเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ ก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก

 

หลงเส้นทางในป่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เลี้ยวไปตามด่านที่ไม่ใช่ เกิดขึ้นบ่อยๆ เดินผิดเส้นทาง ในช่วงเวลาที่ป่าดูโปร่งโล่งๆ นี่แหละ หลงง่ายยิ่งกว่าในช่วงป่ารกทึบ รอยบนด่านที่ชัดเจนหายไปเพราะถูกใบไม้ปกคลุม

ใช้จีพีเอสช่วยให้รู้ทิศทางของจุดหมาย แต่ตอนเดิน การใช้ด่านของสัตว์ช่วยให้เดินสะดวกขึ้น ความวกวนไป-มา ทำให้ระยะทางจริงมากกว่าทางตรงที่จีพีเอสระบุไว้หลายเท่า

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือ เพราะมีเครื่องมือนี่แหละทำให้ทักษะต่างๆ ที่ควรมีในการเดินป่าลดลง

 

ในเป้ผมมีอาหารสำรองเสมอ ไม่ว่าจะเดินไปจุดหมายไกลหรือใกล้ๆ แม้จะรู้ว่าจุดหมายอยู่ไม่ไกลแคมป์ กลับมากินข้าวที่แคมป์ก็ได้

เสบียงสำรองไม่ได้ทำให้เป้หนักมากขึ้นสักเท่าใด ผึ้งบินตอมหึ่งๆ รวมกับตัวคุ่น ที่กัดเจ็บๆ และสภาพอากาศอบอ้าว มื้อกลางวันที่มีข้าวกับแหนมย่าง ไม่น่ารื่นรมย์นัก

มีเสียงวิ่งโครมๆ ทางทิศเหนือ ไม่ไกลจากที่ผมนั่งอยู่ เสียงวิ่งหนักๆ น่าจะเป็นกระทิงที่ได้กลิ่นผม

เมื่ออยู่เหนือลม เสียงสัตว์ป่าวิ่งหนี เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สัตว์ป่าส่วนใหญ่เชื่อจมูกมากกว่าสายตา พวกที่จมูกรับกลิ่นไม่ดีมาก ก็จะอาศัยพวกที่จมูกรับกลิ่นได้ดี

ในโป่ง ในเวลาปกติกระแสลมเป็นใจ ผมเป็นฝ่ายอยู่ใต้ลม จะมีเก้งออกมาในโป่ง บางครั้งหมูโทนมานอนกลิ้งเกลือกโคลน

การซ่อนตัวอย่างมิดชิด ซุ้มบังไพรกลมกลืนอย่างไร ไม่สามารถกันไม่ให้สัตว์ป่าสัมผัสได้ว่าผมอยู่ที่นั่น สัตว์อื่นจะสังเกตดูจากเก้งในโป่ง พวกมันยอมรับในทักษะระวังภัยของเก้ง

ท่าทางสบายๆ ของเก้งทำให้สัตว์อื่นๆ ออกมาไม่ระแวง

แต่เหตุการณ์จะเปลี่ยนไป หากกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง

ทุกครั้งที่พบกับอาการตื่นหนีของสัตว์ป่า ผมขอโทษพวกมันอยู่ในใจ ขณะเดินกลับแคมป์ไม่เคยรู้สึกดี

เมื่อพยายามเป็น “พวก” กับใครๆ แล้ว เขาไม่ยอมรับ

คงต้องใช้เวลาสักระยะสำหรับทำความเข้าใจ

 

กินข้าวเสร็จ ผมลุกขึ้นอย่างไม่แน่ใจว่าจะหาทางที่เดินมาพบ เพราะขามาผมเดินวกวน เลี้ยวไป-มาตามด่าน ในฤดูนี้ ร่องรอยไม่ปรากฏชัด แม้จะเดินกลับตามรอยที่เราเดินมา

ลงจากสันเขาถึงหุบ โดยใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง ผมพบด่านหลัก

บนด่านมีรอยตีนสัตว์ป่าย่ำทับ มีทั้งรอยเสือโคร่ง และรอยหมาไนฝูง ต้นประดู่ใหญ่มีรอยตะกุยบอกอาณาเขตของเสือโคร่ง

บนด่านใหญ่ ผมเห็นรอยของตัวเอง

กับรอยตีนสัตว์ป่านั้น รอยที่มีเล็บ บอกให้รู้ว่า พวกมันเป็นสัตว์ผู้ล่าชนิดใด

รอยตีนคนบอกไม่ได้หรอกว่า รอยที่เห็นนั่น เจ้าของรอยเป็นคนแบบใด

ผมมองรอยตัวเองที่อยู่ใกล้ๆ รอยตีนเสือ และ “รอยเล็บ” ที่ปรากฏบนรอยตีนหมาไน

เห็นรอยตีนผู้อื่น ไม่รู้หรอกว่า เขาเป็นแบบใด

สิ่งสำคัญคือ

เมื่อเห็นรอยตัวเอง ควรรู้ว่าเราอยู่ในสปีชีส์ใด…