อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (21) ‘โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล’

 

In Books We Trust (21)

 

ชีวิตของนกนางนวลนั้นมี “สามัญสำนึก” ได้หรือไม่ นั่นคือคำถามที่ผมมีขึ้นตลอดเวลาของการอ่านนวนิยายเรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล หรือ โจนาธาน นางนวล

นกนางนวลนั้นสามารถคิดแตกต่างจากเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของมันได้หรือ

นกนางนวลนั้นสามารถแสวงหาความเป็นปัจเจกที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกลุ่มได้หรือ

นกนางนวลนั้นสามารถละทิ้งสัญชาตญาณแห่งการหาอาหาร เอาตัวรอด ไปจนถึงขั้นละทิ้งการสืบพันธุ์หรือมีชีวิตปกติได้หรือ

และที่สำคัญ นกนางนวลนั้นสามารถสั่งสมปัญญาที่ได้มาจากการบินได้จริงหรือ?

คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความคิดของเด็กชายที่ผ่านเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นเป็นเวลาหลายต่อหลายคืนนับจากนาทีแรกที่ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่าน

เรื่องราวในนวนิยายโจนาธาน นางนวล เรียบง่ายมาก นกนางนวลตัวหนึ่งรู้สึกตนว่าชีวิตประจำวันที่มีแต่การโฉบหาอาหารที่เป็นปลาซึ่งถูกทิ้งเพราะไม่มีความต้องการจากชาวประมงนั้นเป็นชีวิตที่ไร้สาระ ไร้แก่นสาร

การเกิดมาเป็นนกนางนวลตัวหนึ่งนั้นจำเป็นต้องถูกกักขังไว้ในวิถีชีวิตแบบนี้หรือ

โจนาธาน นกนางนวลหนุ่มใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีงาม ทรงคุณค่ากว่านั้น

และเขาพบว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าชีวิตที่มีการเรียนรู้เพื่อกระทำบางสิ่งที่แตกต่างออกไป

ทว่าบางสิ่งนั้นคืออะไรเล่า?

 

สําหรับสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น บางสิ่งอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นกระทำได้ เช่น เสืออาจฝึกการล่าเหยื่อ สุนัขอาจฝึกการดมกลิ่น

แต่การฝึกเหล่านั้นมักถูกฝึกด้วยผู้เลี้ยงหรือเกิดจากสถานการณ์ที่บังคับ

เสือที่หาเหยื่อในพื้นที่ที่ปกติไม่ได้ อาจต้องฝึกตนให้มีความสามารถพิเศษ

แต่ในกรณีของโจนาธาน นกนางนวลหนุ่มตัวนั้น เขาฝึกในสิ่งที่เรียกว่า “การบิน” เขาถือให้การเรียนรู้ในการบินเป็นเป้าหมายชีวิต และสิ่งที่เขาได้พบจากการบินคือ “ปัญญา” ที่งอกงามขึ้นในทุกวัน

ทุกเช้าตรู่ โจนาธานจะฝึกบินโดยลำพัง เขาต้องการค้นพบว่าตนเองจะสามารถบินให้เร็วขึ้นและเร็วขึ้นได้อย่างไร

เขาทดลองการบินในทุกรูปแบบ การแนบปีกไว้กับลำตัวเพื่อไม่เกิดการต้านลม การดิ่งลงอย่างรวดเร็วสู่ท้องทะเลก่อนจะเปลี่ยนทิศทางการบินไม่ให้ร่างกายกระแทกน้ำ

เขาทำในหลายสิ่งที่ก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่หมู่นกนางนวล

ความประหลาดใจนั้นถูกสั่งสมขึ้นทุกทีในนกนางนวลตัวอื่น ก่อนจะลงความเห็นว่า โจนาธานกำลังทำในสิ่งที่เรียกว่าความเป็น “ขบถ” ต่อชีวิตของนกนางนวล

เขาถูกลงโทษด้วยการประณามให้อับอายก่อนจะถูกขับไล่ออกจากฝูงนกนางนวลในที่สุด

เรื่องราวในภาคแรกของนวนิยายดำเนินไปเช่นนี้

 

ผมเคยอ่านงานเขียนที่ตัวละครเป็นสัตว์และมีความรู้สึกนึกคิดมาก่อนหน้านั้น เรื่องราวที่ว่านั้นมักเป็นนิทานหรือเทพนิยายที่ขึ้นต้นว่า “ในอดีต เมื่อสัตว์ยังเข้าใจภาษามนุษย์และสามารถพูดกับมนุษย์ได้อย่างอิสระ”

ในเรื่องราวเช่นนี้ สัตว์มีความรู้สึกนึกคิดแต่ก็เป็นความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป

สัตว์เหล่านั้นประพฤติตนดังมนุษย์ที่อยู่ในร่างของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างออกไป

สุนัขจิ้งจอกที่ล่อลวงหนูน้อยหมวกแดงไม่ต่างจากชายชราหน้าซื่อใจคดคนหนึ่ง

แต่สำหรับโจนาธาน นางนวล แล้วผมรู้สึกได้ว่าเขาเป็นนกนางนวลตัวหนึ่งจริงๆ นกนางนวลที่กำลังก่อการขบถในชีวิตของเขา

ผู้เขียนเรื่องโจนาธาน นางนวล ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมในหมายเหตุท้ายเล่มว่า เขามีอาชีพนักบิน ด้วยเหตุนี้การเขียนเรื่องราวของการบินในนกนางนวลจึงมีความสมจริง

แต่ว่าในส่วนอื่นเล่า ทำไมผมถึงรู้สึกได้ว่า โจนาธาน นางนวล นกนางนวลตัวเอกของเรื่องจึงมีความคิดความอ่านที่สมจริงเช่นกัน

อะไรเล่าที่ทำให้ผมรู้สึกว่าโจนาธาน มีเลือดเนื้อและกำลังทำการบินอย่างโดดเดี่ยวเช่นนั้นจริงๆ

 

ความรู้สึกแปลกแยก เป็นเอกเทศ ไม่เข้ากลุ่มของโจนาธาน ส่งผลต่อผมเป็นครั้งแรกเมื่อวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนปีนั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนนำเสนอโครงการด้านวิทยาศาสตร์ที่จะจัดแสดงในงานเทศกาลประจำปีของโรงเรียน

นักเรียนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกงานกลุ่มที่จะนำเสนอ การทำงานกลุ่มนั้นแบ่งเบาภาระและทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย บางคนเสนอเรื่องการสาธิตวิธีการผ่ากบ บางคนนำเสนอเรื่องของการใช้พลังงานแสงแดดในการเพาะเมล็ดพันธุ์

ไม่มีใครตัดสินใจทำงานเดี่ยวเนื่องด้วยว่ามันเสี่ยงและกลายเป็นแกะดำเกินไป

การเสนอที่จะทำงานเดี่ยวนั้นไม่ใช่เพียงแค่การอวดอ้างความสามารถของตน แต่ยังหมายถึงการปฏิเสธที่จะรับคนอื่นเข้าไปในกลุ่มอีกด้วย

ซึ่งในด้านหนึ่งมันอาจหมายถึงการเห็นแก่ตัว หรือไม่สมาคมกับเพื่อนในชั้น

ทว่าหัวข้อที่ทุกคนนำเสนอไม่ดึงดูดใจของผมเลย

ในที่สุดสิ่งที่ผมนำเสนอคือการใช้หนูถีบจักรกับความสัมพันธ์ในการสร้างกระแสไฟฟ้าอย่างง่ายผ่านทางมอเตอร์จึงกลายเป็นภาระของผมเพียงคนเดียว

ผมกลายเป็นโจนาธาน นางนวล ที่ออกแสวงหาความรู้เพียงลำพังในที่สุด

ไม่มีทางเลือก ผมเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับหนู การทดลองพันมอเตอร์ด้วยตนเอง การทดลองวัดกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความรู้ใหม่ แม้ว่าจะมีเขียนไว้ในตำรา แต่การลงมือทำด้วยตนเองนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หนูตัวแรกที่ผมซื้อมาไม่มีความสามารถในการทำกิจกรรมดังกล่าว สายไฟที่ผมใช้มีขนาดเล็กเกินไป ตู้ทดลองเมื่อประกอบเองมีอาการแตกหัก

ปัญหาจำนวนมากที่เกิดขึ้นทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของการทดลองบินครั้งแล้วครั้งเล่าของโจนาธาน

เขาตัดทุกสิ่งออกจากชีวิต กินเพียงเล็กน้อยเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ก่อนจะกลับไปสู่การฝึกบิน นอนเพียงเล็กน้อยเพียงเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียก่อนจะกลับไปสู่การบิน

เรื่องราวในหนังสือโจนาธาน นางนวล เติบโตเคียงคู่ไปกับการแสวงหาความรู้ของผมจนถึงวันแสดงงาน

ในวันแสดงงาน ผลงานของผมแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่การที่มันสามารถเปลี่ยนการเคลื่อนที่ของหนูให้หลอดไฟดวงเล็กๆ สว่างขึ้นได้คือรางวัลล้ำค่า

คะแนนของผมในวิชาวิทยาศาสตร์นั้นไม่แตกต่างจากคนที่ทำงานกลุ่มเท่าใดนัก

แต่ผมรู้ดีว่างานที่ผมทำก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการในตน

ผมพบว่าเราสามารถเป็นใครคนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องแอบอิงกับกลุ่มหรือบุคคลหนึ่ง เราสามารถเป็นใครบางคนที่แสวงหาความรู้ส่วนตนอย่างเดียวดายได้

 

ในขณะที่ภาคแรกของโจนาธาน นางนวล ให้แนวทางบางอย่างสำหรับผม

ภาคสองของมันกลับเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจเข้าถึงได้ เรื่องราวภาคสองเล่าถึงการไปสู่สรวงสวรรค์ของโจนาธาน ภายหลังการฝึกบินอย่างเข้มงวด เขาสามารถผ่านข้อจำกัดเรื่องความเร็วที่นกนางนวลตัวอื่นไม่อาจกระทำได้

เขาไปถึงความเร็วสูงสุด ทว่าในความเร็วสูงสุด เขากลับไม่ได้รับรางวัลใดๆ

เขาเข้าสู่สภาวะที่คล้ายกับความตายและตื่นขึ้นในดินแดนแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยนกนางนวลอีกฝูง

นกนางนวลที่มีหัวหน้าเป็นนางนวลอาวุโสที่มีนามว่า เจียง

เจียงต้อนรับโจนาธานในฐานะผู้มาใหม่ ก่อนจะเล่าถึงนกนางนวลตัวอื่นที่อยู่ในที่แห่งนั้น พวกเขามาถึงที่นี่ได้ด้วยหนทางเดียวกับโจนาธาน โดยการละทิ้งความคิดที่หมกมุ่นแต่เรื่องราวของตนเอง

พวกเขามาถึงที่นี่ได้ผ่านทางการเรียนรู้และฝึกฝน พวกเขามาถึงที่นี่ได้ด้วยการพบว่าชีวิตมีอะไรให้แสวงหามากกว่าการบินเพื่อหาอาหาร กิน สืบพันธุ์และตายจากโลกนี้ไป

พวกเขามาถึงสถานที่ที่เรียกว่าสรวงสวรรค์ผ่านทางการฝึกฝน เรียนรู้ ไปจากโลกวิสัยและละทิ้งตัวตน

ในพื้นที่ที่เรียกว่าสวรรค์ โจนาธานได้รับการฝึกฝนว่าการเคลื่อนที่ทั้งหลายไม่ใช่การออกแรงทางกายภาพ แต่เป็นการเอาชนะกรอบของความคิด แค่คิดว่าจะบินด้วยความเร็วสูงสุด เขาก็สามารถกระทำเช่นนั้นได้แล้ว

บนสรวงสรรค์ “จิต” นั้นสำคัญกว่า “กาย” และ “จิต” นั้นเป็นตัวการในการกำหนดทุกสิ่ง

โจนาธานฝึกฝนทางจิตอย่างเข้มงวด หมายมั่นที่จะเดินทางต่อ เลื่อนชั้นต่อเพื่อไปสู่สรวงสวรรค์ที่สูงชั้นขึ้น

แต่แล้วเขากลับพบกับสิ่งที่ประหลาดใจเมื่อเจียงกล่าวกับเขาว่าหลังการฝึกฝนอันเข้มงวด หลังการบรรลุถึงสิ่งที่เขาต้องการ ไม่มีสถานที่ใดที่เขาควรไปมากเสียกว่า “การกลับไปสู่ที่ที่เขามา การกลับไปสู่ฝูงนกที่เขาจากมา”

ความหมายที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยปริศนาที่ผมไม่อาจเข้าใจ

เพราะเหตุใดคนที่ประสบในสิ่งที่เหนือกว่าคนอื่นจึงจำต้องเดินทางกลับไปแบ่งปันประสบการณ์เช่นนั้นกับผู้คนที่ดูเหมือนจะไม่แยแสมัน

และเป็นเวลากว่าหกปีที่หนังสืออีกเล่มจะส่งภาคต่ออันสมบูรณ์ในคำถามนี้มาให้ ผมพบหนังสือเล่มนั้นในฐานะหนังสืออ่านประกอบวิชาภาษาไทยในชั้นเรียนปีหนึ่งของมหาวิทยาลัย

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “สิทธารถะ” ของแฮร์มัน เฮสเส