2503 สงครามลับ สงครามลาว (38)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (38)

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกองร้อยเอสอาร์ 7 ก็ยังสามารถรักษาฐานยิงสนับสนุนไว้ได้ จนกระทั่งกองร้อยเอสอาร์ 8 ซึ่งมี พ.ต.สมหมาย วงศ์ข้าหลวง เป็นผู้บังคับกองร้อย เดินทางมารับหน้าที่ต่อเมื่อ 1 มีนาคม 2512 ทหารเวียดนามเหนือและทหารขบวนการประเทศลาวก็เข้าโจมตีแตกหักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง “ภูสิน สินบันเทิง” บันทึกไว้ดังนี้

“สถานการณ์เฉพาะมิถุนายน 2512…

24 มิถุนายน ประมาณ 20.00 ข้าศึกใช้อาวุธหนักโจมตีที่ตั้งทหารลาวฝ่ายเป็นกลางและกองร้อยเอสอาร์ 8 ทุกแห่ง

25 มิถุนายน ประมาณ 01.00 ข้าศึกเริ่มเข้าตีเมืองสุย ทหารลาวฝ่ายเป็นกลางถอนตัวจากที่ตั้งระวังป้องกันที่ตรวจการณ์ภูเซียซึ่งอยู่นอกฐานยิง ข้าศึกยึดที่มั่นทหารฝ่ายเป็นกลางได้ทั้งหมดและส่งหน่วยแซปเปอร์ปฏิบัติการต่อ บก.บ้านค่าย สามารถตัดลวดหนามได้จนมีการรบประชิด ฝ่ายเราสูญเสีย 1 นาย กองร้อยเอสอาร์ 8 ปฏิบัติการรบอย่างองอาจกล้าหาญ ทั้งการใช้ปืนใหญ่สนับสนุนฝ่ายเดียวกันและการรบเพื่อป้องกันที่ตั้งหน่วยตนเองอีกด้วย

ประมาณ 03.00 ที่ตรวจการณ์ได้ยินเสียงขบวนรถสายพานผ่านไป

ประมาณ 05.30 รถถังข้าศึกเข้าถึงที่ตั้งยิงปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. มีการยิงต่อสู้กัน ฝ่ายเราทำลายรถถังข้าศึกได้ 1 คัน ปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม.ถูกยิงชำรุด 1 กระบอก เครื่องแฟนธอมพยายามโจมตีรถถังข้าศึก แต่พลาดถูกปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม.ฝ่ายเราเสียหาย 3 กระบอก…

กองร้อยเอสอาร์ 8 สั่งการที่ตรวจการณ์ที่ภูเซียให้เตรียมถอนตัว ฮ.จะมารับเวลา 09.00 แต่ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 กองร้อยเอสอาร์-8 ส่งข่าวถึงที่ตรวจการณ์ที่ภูเซียว่า ฮ.ไม่สามารถรับได้ ให้เคลื่อนย้ายกลับฐานยิงด้วยเท้า

ก่อนค่ำ กองร้อยเอสอาร์ 8 ถอนตัวเข้าที่มั่นตามลำดับขั้นสู่ บก.บ้านค่าย

เนื่องจากต้องรบติดต่อตั้งแต่ 20.00 ของ 24 มิถุนายน ถึง 26 มิถุนายน 2512 เป็นเวลา 2 คืน 2 วันทหารเริ่มอิดโรยและเสียขวัญ บางคนแสดงอาการป่วย น้ำดื่มเริ่มขาดแคลน

กองร้อยเอสอาร์ 8 สถาปนาพื้นที่ตั้งรับในพื้นที่ บก.บ้านค่าย ช่วงบ่ายมีเครื่องบินมาส่งสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นด้วยการทิ้งร่ม เช่น กระสุนปืนใหญ่ ลูกระเบิดยิงจากเครื่องยิง บางส่วนตกนอกที่ตั้งของหน่วย ต้องจัดยานพาหนะและกำลังพลไปนำกลับสู่ที่ตั้ง”

 

ที่บก.บ้านค่าย ข้าศึกยังคงทุ่มกำลังเข้ากดดัน ร.อ.อมร อุเทนสุต “อวยชัย” รองผู้บังคับกองร้อย เอสอาร์ 8 ได้บันทึกการประชุมเพื่อการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของกองร้อยเอสอาร์-8 ในการถอนตัวจาก บก.บ้านค่าย ดังนี้

“สถานที่ประชุม : THEP HALL ค่ายพระราชสุภาวดี ตำบลบ้านค่าย (ไทย) เมืองสุย แขวงหรือจังหวัดเชียงขวาง พระราชอาณาจักรลาว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2512

ผู้เข้าประชุม : ฝ่ายลาวมี พ.อ.สิงห์ จันทรกุมาร ตำแหน่ง ผบ.ภาค 2, ฝ่าย บก.หน่วยผสม 333 (ชื่อในขณะนั้น) ‘เทพ’ ‘ทน’ บก.เอสอาร์, รองหัวหน้า บก.เอสอาร์ (ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้า บก.เอสอาร์ ซึ่งลาป่วย), ‘วิฤทธิ์’ หัวหน้าทีมข่าวลับเอสอาร์, ร้อย ป.เอสอาร์ : ‘บวร’ ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์-8 ‘อวยชัย’ รอง ผบ.ร้อย ป. หัวหน้าที่ตั้ง ป.155

วาระที่ 1 ประธานแจ้งว่า ฝ่ายข้าศึกเคลื่อนกำลังจำนวนมาก คาดว่าถึง 2 กองพลเข้าถึงพื้นที่โดยรอบเมืองสุย ฝ่ายลาว ที่ปรึกษาทางทหารและซีไอเอ จะถอนตัวในวันนี้ด้วยเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่จากเวียดนามใต้

วาระที่ 2 ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์ รายงานการสูญเสีย สูญเสียอาวุธประจำหน่วยคือ ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้งขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 3 กระบอกพร้อมกระสุนตามอัตรามูลฐาน สูญเสียปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 105 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก สูญเสียรถลากปืนขนาด 5 ตัน จำนวน 3 คัน รถลากปืนขนาด 2 ตันครึ่งพร้อมคนขับ 1 นาย สูญเสียกำลังพลหลัก เช่น ผู้บังคับหมู่ปืนและอาวุธปืนใหญ่ ศูนย์อำนวยการยิงทั้ง 2 ชุดสูญเสียนายทหารอำนวยการยิง และหมู่ตรวจการณ์หน้า 1 หมู่ขาดการติดต่อมากว่า 2 วัน : สรุป-ไม่สามารถสนับสนุนด้วยการยิง

วาระที่ 3 ประธานแจ้งที่ประชุม เมื่อซีไอเอถอน ฝ่ายเราซึ่งสูญเสียจนไม่สามารถทำภารกิจยิงสนับสนุนได้ จำเป็นต้องถอนไปพร้อมกัน แล้วถาม ผบ.ร้อย ป.ว่าจะทำอย่างไร

ผบ.ร้อย ป.หารือหัวหน้า ‘อวยชัย’ รอง ผบ.ร้อย ป. ‘อวยชัย’ เรียน ‘เทพ’ ว่า การถอนตัวครั้งนี้ไม่ควรยึดหลักการ เนื่องจากเราสูญเสียยุทโธปกรณ์และกำลังพลจำนวนมาก กำลังพลผู้อาวุโสน้อย ประสบการณ์น้อย ขวัญต่ำ สมควรนำออกจากพื้นที่เป็นอันดับแรก นายสิบ-จ่าควรออกไปก่อนหัวหน้า หัวหน้าต้องเสียสละ ผมผู้เสนอขอออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย (ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 10.00 ของวันที่ 27 มิถุนายน 2512)

ประธานถาม ผู้ใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ไม่มีผู้ใดแสดงความเห็น จึงสั่งให้ปฏิบัติตามที่ ‘อวยชัย’ เสนอ และให้ ‘อวยชัย’ ไปเตรียมสนาม ฮ.สำหรับ ฮ.ขนาดใหญ่ครั้งละ 2 ลำ”

“…’อวยชัย’ รอง ผบ.ร้อย ป.ได้รับการสนับสนุนรถแทร็กเตอร์แบบดี 4 ในอัตราของเอสอาร์ในการปรับพื้นที่ด้านหน้าทางเข้า บก.เอสอาร์ ห่างออกไปตามถนนประมาณ 200 เมตร ตัดโค่นต้นไม้ที่กีดขวางเขตร่อนลงแล้วเสร็จประมาณ 12.00 เฮลิคอปเตอร์แบบจอลลี่ กรีน จากเวียดนามใต้จำนวน 6-7 เครื่องมาบินวนอยู่เหนือสนาม ฮ.หน้าทางเข้า บก.เมืองสุย กำลังพลระดับลูกแถวภายใต้การควบคุมของ ‘สืบ’ ผู้บังคับหมวดระวังป้องกัน 2 และ ‘เทวินทร์’ ถอนตัวจากส่วนระวังป้องกันรอบนอก ถอนตัวออกมาก่อน (จ่า-นายสิบยังคงประจำอยู่ในบังเกอร์)

ส่วนแรกประมาณ 50 นายถอนตัวโดย ฮ. 2 ลำออกจากพื้นที่สู่พื้นที่รวมพลโล่งแจ้งและรอซี-130 จากอุดรธานีมารับต่อไป

บนฟ้าเหนือเมืองสุยขณะนั้นกระหึ่มไปด้วยเสียงจอลลี่ กรีน ที่บินขึ้นลงภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของสองนักบินเอสอาร์ ‘สกุณ’ และ ‘ศจี'”

 

ระหว่างการถอนตัว มีกำลังพลม้งจำนวนหนึ่งถูกเคลื่อนย้ายทางอากาศออกไปด้วย การสื่อภาษาในเรื่องห้ามนำอาวุธและเครื่องกระสุนที่เกินมูลฐานขึ้น ฮ.จึงไม่เป็นผล เกิดการบรรทุกเกินอัตรา จนเครื่องต้องร่อนลงในบางเที่ยว

เมื่อลูกแถวและจ่านายสิบทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายออกจากบังเกอร์และขึ้นเครื่องจนหมดสิ้นโดยเฮลิคอปเตอร์แบบจอลลี่ กรีน (ซึ่งบรรทุกได้ครั้งละ 28 นาย) ยังเหลือเพียง ‘ทน’ ‘สืบ’ ‘สกุณ’ และอีก 3-4 ท่าน ผมจำไม่ได้ ก็ปรากฏ ฮ.แบบเก่า (ทอ.ไทยเรียก ฮ.แบบ 4-ก) ของแอร์อเมริการ่อนลงมาพร้อมๆ กับเสียงปืนยิงเร็ว

ผมซึ่งได้ให้คำมั่นกับท่านหัวหน้าเทพว่าจะเป็นคนสุดท้ายที่จะออกจากเมืองสุยก็ทำท่าจะไม่ได้ออก เพราะเสียงปืนทำให้นักบินรีบนำเครื่องขึ้นโดยมีหัวหน้า 6-7 ท่านขึ้นเครื่องแล้ว ผมซึ่งขณะนั้นไม่มีอาวุธใดๆ ในมือมัวรอให้ท่านอื่นขึ้นก่อนก็ต้องมุ่งไปที่บังเกอร์หลุมปืน (ปรส.) ที่ใกล้ที่สุดเพื่อกำบังตนและเพื่อหาอาวุธที่อาจหลงเหลืออยู่ไว้ป้องกันตน

ฮ.ลำนั้นบินไปสักระยะหนึ่งคงมีการสำรวจผู้โดยสาร เมื่อไม่มีผม จึงบินกลับมา ฝรั่งคนหนึ่งในเครื่องแบบทหารอเมริกันที่ใช้ในเวียดนามสวมหมวกทรงอ่อนสีเขียว (กรีนเบเร่ต์) โดดจาก ฮ.ที่ยกตัวเหนือพื้น ขยุ้มคอเสื้อผมลากผมไปขึ้นเครื่องเป็นคนสุดท้ายจนได้

และระหว่างทางที่ ฮ.เก่าลำนั้นบินขึ้น ก็มีเสียงจาก ป.ต.อ. (ของเวียดมินห์) และลูกปืนไล่ตาม ฮ.มาอย่างหวุดหวิด เพราะความไม่เร็วและเก่าของเฮลิคอปเตอร์”

 

“อวยชัย” อธิบายย้ำถึงสาเหตุที่แท้จริงในการถอนตัวว่า

“ไม่ได้สูญเสียจากการกระทำของข้าศึกจนต้องถอนตัวจากการรบ หากแต่เกิดจากความผิดพลาดในการปฏิบัติของกำลังทางอากาศของฝ่ายเรายังความสูญเสียทั้งกำลังพลอาวุธหนักและขวัญทหาร”

เอสอาร์-8 ยังไม่ใช่กองร้อยทหารปืนใหญ่สุดท้ายจากไทย เพราะจะมีกองร้อยเอสอาร์-9 ติดตามมาอีกในเดือนมีนาคม 2513 ซึ่งการสู้รบจากนี้ไปจะรุนแรงขึ้นตามลำดับจนสู่จุดสูงสุดในอีก 2 ปีต่อมาที่ล่องแจ้ง