ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
“คนธรรมดาสามัญ” คือสิ่งที่ ดร.ประจวบเป็น ภายหลังมีประสบการณ์ชีวิตบนเส้นด้าย ระหว่างตกเป็นเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นหล่อหลอมให้เขาอดทนต่อความทุกข์ยาก มั่นคง และซื่อตรงต่อเพื่อนผู้ร่วมทุกข์
เมื่อกล่าวถึงสมาชิกคณะราษฎรผู้จบระดับการศึกษาชั้นสูงสุด มี 3 คน คือ “ปรีดี-ตั้ว-ประจวบ” แต่เรามักจะคุ้นกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในสาขานิติศาสตร์
แต่แท้จริงแล้ว ในคณะราษฎรยังมีสมาชิกที่จบปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์อีก 2 คน
คือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กับ ดร.ประจวบ บุนนาค
นักปฏิวัติ
ลูกพระยาพานทอง ทูตไทยประจำยุโรป
ดร.ประจวบ บุนนาค (2440-2495) บุตรชายคนเล็กของพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักการทูตหลายประเทศในยุโรป เสนาบดีในช่วงระบอบเก่า ผู้เติบโตในครอบครัวขุนนางตระกูลใหญ่
พระยาสุริยานุวัตร บิดาของเขาเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (2448) และพระคลังมหาสมบัติ (2449) มีความใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยในคุณหญิงสุริยานุวัตรที่ให้กำเนิดบุตรชายนามประจวบ พร้อมฝากเหรียญทองคำที่ระลึกเป็นของขวัญแก่ทารกน้อยผู้นี้ด้วย
บิดาของเขาเป็นปัญญาชนคนสำคัญในระบอบเก่า เขียนหนังสือเรื่องทรัพยศาสตร์ (2454) ซึ่งสร้างไม่พอพระทัยให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จนทรงเขียนคำวิจารณ์ทรัพยศาสตร์ ลงในวารสารสมุทสาร ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติ บิดาของเขามิได้ปรากฏในรายชื่อคณะรัฐมนตรีของพระยามโนปกรณ์ฯ ต่อมา ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนฯ ลงแล้ว เขายินยอมเข้าเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลฯ และอนิจกรรมเมื่อ 2479
เด็กชายประจวบเติบโตภายใต้การฟูมฟักของครอบครัวทูตไทยในยุโรป และย้ายกลับไทยเมื่อบิดารับตำแหน่งเสนาบดี ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาลาออกมาศึกษากับครอบครัว และกลับเข้าศึกษาที่ราชวิทยาลัย จากนั้นได้ทุนจากพระมงกุฎเกล้าฯ ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี
ระหว่างที่เขาศึกษาในเยอรมนี ไทยประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาถูกจับเป็นเชลยศึก ถูกขังร่วมกับกลุ่มนักเรียนไทย เช่น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ม.ล.อุดม สนิทวงศ์-สมาชิกคณะราษฎรในเวลาต่อมา ที่ตำบลเซลเล ชะลอส (Celle-Schloss) เมืองแฮนโนเวอร์ พวกเขาผูกพันและกลายเป็นเพื่อนตายกันในวีรกรรมสำคัญในการปฏิวัติ 2475
“ความยากลำบากและอดอยากในระยะนี้ของชีวิต ต้องนับว่าเป็นการเข้าเรียนในชั้นสำคัญยิ่งของโรงเรียนแห่งชีวิต เพราะเป็นการฝึกความอดทนต่อความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจ ปลูกฝังความมั่นคงในทางสามัคคีธรรม ในความซื่อตรงต่อเพื่อนผู้ร่วมทุกข์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ สอนให้เป็นคนธรรมดาสามัญ…” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ประจวบ บุนนาค, 2495)
ภายหลังพ้นจากการเป็นเชลยศึก เขาเป็นทหารอาสาทำหน้าที่ล่าม ได้รับยศจ่านายสิบ เมื่อสงครามสิ้นสุด เขามิได้กลับไทย แต่เดินทางไปศึกษาในวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ “ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขของนายประจวบ…ดร.ตั้ว ลพานุกรม และ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์”
เขาได้รับปริญญาเอก (2464-2472) และไปศึกษาเพิ่มในสาขาวิชาพิษวิทยา (Toxicology) ที่มหาวิทยาลัยซูริก
แม้ประจวบคลุกคลีกับกลุ่มนักเรียนไทยหัวก้าวหน้าที่ต่อมานักเรียน 7 คนจัดตั้งเป็นคณะราษฎรที่ปารีส แต่เขามิได้ถูกชวนเป็นสมาชิกก่อตั้ง อาจเนื่องจากเขามาจากตระกูลขุนนางชั้นสูง
แต่ต่อมาเขาถูกชักชวนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรในเวลาต่อมา
นักพิษวิทยา
ผู้ร่วมถอนระบอบต้นไม้พิษ
ออกจากการปกครองไทย
เมื่อประจวบกลับไทยแล้ว เขารับราชการที่ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม อันเป็นหน่วยงานเดียวกับ ดร.ตั้ว สมาชิกคณะราษฎรในชั้นก่อตั้ง ด้วยพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และคุ้นเคยกันนับแต่เป็นนักเรียนในยุโรป
ทั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกการขยายสมาชิกคณะราษฎรในไทยว่า “เพื่อนที่ก่อตั้งในคณะราษฎรที่ปารีส ได้ออกชวนสมาชิกคนอื่นๆ ในไทย ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ”
อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นคนชักชวนประจวบเข้าร่วมการปฏิวัติ
ในหนังสืองานศพ บันทึกความเด็ดขาดของเขาว่า แม้ว่าเขาเป็นคนมีบุคลิกสุภาพเรียบน้อย พูดน้อย จึงเป็นที่ประหลาดใจเมื่อคนรอบข้างที่รู้จักเขาผิวเผินว่า เขาเข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 แต่หากรู้จักเขาดีแล้วนั้น จะรู้ว่า “ไม่เป็นของแปลกประหลาดเลย เพราะนายประจวบเป็นผู้รักชาติบ้านเมืองอย่างลึกซึ้งโดยไม่มีความเห็นแก่ตัว เป็นผู้มีความกล้าหาญในสิ่งที่ตนพิจารณาเห็นว่าดีและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยบริสุทธิ์ใจ…”
ประจวบเข้าตัดระบบสื่อสารระบอบเก่าด้วยการตัดสายโทรศัพท์และโทรเลขร่วมกับควง อภัยวงศ์ ประยูร ภมรมนตรี และวิลาศ โอสถานนท์ ณ กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลาก่อนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน
ทั้งนี้ เพื่อนสมาชิกเล่าถึงความเด็ดขาดของเขาที่มุ่งตัดระบบอย่างเด็ดขาดเมื่อเช้าวันนั้นว่า “ฝ่ายกลุ่มนายควงไปยึดองค์การโทรศัพท์ที่วัดเลียบ เป้ (ประจวบ บุนนาค) จะตี accumulator แตกหมด นายควงห้ามไว้ เพราะเสียดายของหลวง” (ม.ล.อุดม, 2525)
วีรกรรมของประจวบถูกบันทึกไว้ว่า “ไม่หวั่นเกรงอันตรายใดๆ แม้แต่ชีวิต ทั้งนี้ คงเป็นเพราะตนไม่มาดหมายจะได้รับสิ่งตอบแทนหรือยกย่องแต่ประการใด พยานหลักฐานในข้ออ้างนี้มีอยู่มากหลาย และยังอยู่ในจิตใจเพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดมิรู้วาย”
ภายหลังการปฏิวัติไทยเป็นประชาธิปไตยสำเร็จแล้ว ด้วยเหตุที่ประจวบมาจากขุนนางตระกูลบุนนาค ส่งผลให้พ่อไล่เขาออกจากบ้าน ด้วยเป็นกบฏล้มระบอบเก่า เขาจึงไปเช่าบ้านตึกแถวชั้นเดียวแถวบางรักใกล้โรงแรม Trocadero อยู่กับ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ สมาชิกคณะราษฎรที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน
สำหรับเส้นทางงานราชการของเขานั้น เริ่มต้นรับราชการที่ศาลาแยกธาตุ (2472-2476) ต่อมาโอนไปเป็นผู้อำนวยการแผนกหอวิทยาศาสตร์ กรมพลาธิการ กองทัพบก (2476-2479) ด้วยเขาเชี่ยวชาญพิษวิทยาทำการค้นคว้าวิจัยอาวุธให้กองทัพ ต่อมา ดร.ตั้ว อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ขอโอนเขากลับมายังกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการในตำแหน่งนักเคมีประจำกอง หัวหน้ากองอุสาหกรรมเคมี และหัวหน้ากองเภสัชกรรม จวบดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์แทน ดร.ตั้วที่ถึงแก่อสัญกรรม (2484)
สำหรับตำแหน่งทางการเมือง เขาเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ชุดแรก (ชั่วคราว) สมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภท 2
สร้างชาติด้วยสุขภาพอนามัย
และการอุตสาหกรรม
เขาเคยร่วมสร้างชาติกับ ดร.ตั้วผ่านโครงการส่งเสริมการปลูกสกัดน้ำมันถั่วเหลือง (2480) โดยใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาโภชนาการ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยไทยมีสุขภาพแข็งแรงแรงและมีร่างกายสูงใหญ่
ต่อมาเขาร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการอุตสาหกรรมแห่งชาติ (2485) คณะกรรมการดำเนินการโซดาไฟ โรงงานอุตสาหกรรมกลั่นไม้ คณะกรรมการอุตสาหกรรมเคมี คณะกรรมการโรงงานเภสัชกรรม คณะกรรมการไม้ขีดไฟ (2485) เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในการสร้างชาติ
เขาเคยไปดูงานในยุโรปด้านวิทยาศาสตร์การทหาร (2477) และญี่ปุ่นด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม (2483)
ประจวบใช้ชีวิตราบเรียบในตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์จนถึงปี 2487 เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขหลายรัฐบาล (2487-2490) และล้มป่วยในปี 2494 ถึงแก่อนิจกรรมในปี 2495 ด้วยอายุเพียง 55 ปี