วิรัตน์ แสงทองคำ/COVID-19 กับสังคมธุรกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

COVID-19

กับสังคมธุรกิจไทย

วิกฤตการณ์อันเนื่องมาจาก COVID-19 สั่นสะเทือนโลก และสังคมไทยอย่างมิพักสงสัย

หากเจาะจงสังคมธุรกิจไทย ภาพที่ควรนำเสนอเป็นเช่นไร

มี “ชิ้นส่วน” บางปรากฏการณ์ควรแก่การอรรถาธิบาย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหว องค์กรธุรกิจได้จองวัคซีนทางเลือกกันอย่างล้นหลาม กับบทสนทนาตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ส่งเสียงถึงรัฐ ทำนอง “แทนที่จะเยียวยา นำงบประมาณไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึงดีกว่า”

สมมุติฐานตั้งขึ้น แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ สังคมธุรกิจไทยยุคใหม่ ปรับตัวและโครงสร้าง มักมาจากอิทธิพลระดับโลก

ควรเริ่มตั้งต้นตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม

 

เปิดฉากตอนสำคัญ เปิดศักราชใหม่ด้วยแนวทางเศรษฐกิจรัฐให้เอกชนมีบทบาท สัมพันธ์โดยตรงกับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา กำลังขยายเข้ามาในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ การเมืองไทยอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มทหารเกือบตลอดช่วง (2502-2516) โดยแนวทางทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน

รัฐไทยได้จัดตั้งหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนของไทยขึ้น รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากธนาคารโลกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบชลประทานที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเพื่อขยายการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก

เป็นความต่อเนื่องมาจากสงครามเกาหลี สินค้าโภคภัณฑ์เป็นที่ต้องการในตลาดโลก ภาพที่เปลี่ยนครั้งใหญ่ ธุรกิจค้าส่งออกข้าวที่เคยผูกขาดโดยรัฐ เปลี่ยนมือสู่ภาคเอกชน ขณะสังคมธุรกิจไทยค่อยๆ สถาปนาขึ้น ก่อตั้งธุรกิจต่างๆ จากธนาคารสู่กิจการอื่นๆ ก่อกำเนิดผู้ทรงอิทธิพลใหม่ในสังคมธุรกิจ เป็นจังหวะและโอกาสครั้งใหญ่

มีส่วนผสมหลากหลายขึ้น เป็นโมเมนตัมจากกระแสคลื่นธุรกิจโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกามาเป็นระลอก โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์และสถาบันการเงิน

 

เมื่อสังคมเวียดนามยุติลง สังคมธุรกิจไทยในช่วงก่อนปี 2540 มีความคึกคักอย่างมาก เป็นช่วงเวลาของกลุ่มธุรกิจรากฐานเก่า (หรือ Old Establishment ตามคำนิยามของผม คือกลุ่มธุรกิจก่อตั้งและคงอยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และส่วนใหญ่อยู่ในยุคสงครามเวียดนาม)

ระยะคาบเกี่ยวการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม กับกระแส “ทฤษฎีโดมิโน” สร้างความวิตกกังวล อันเนื่องมาจากการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ จากเวียดนามสู่ลาว (ปี 2518) และเขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522) ช่วงเวลาเดียวกันขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยเติบโตขึ้นโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ขณะสังคมธุรกิจไทยได้ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ อาจถือว่าเป็นครั้งแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ว่าได้

จากวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นฮ่องกง (2522) ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินไทย กระบวนการแก้ปัญหาโดยรัฐได้ทำลายโอกาส “หน้าใหม่” อย่างราบคาบ การล้มลงของสถาบันการเงินชั้นรอง (รัฐเปิดโอกาสให้มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น) มากมาย ขณะสถาบันการเงินซึ่งมีธนาคารหนุนหลัง ยังคงอยู่

จากนั้นธนาคารไทย บทบาทแกนกลางระบบเศรษฐกิจไทย สถาปนาโมเดลแห่งความมั่งคั่ง ขยายเครือข่าย จากธุรกิจธนาคารสู่ธุรกิจข้างเคียงและธุรกิจอื่นๆ

อีกช่วง เมื่อ “ทฤษฎีโดมิโน” ไม่เป็นจริง กลุ่มธุรกิจอิทธิพลที่กล่าวถึง เดินหน้าขยายกิจการครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ขบวนธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดมาสู่ไทยอย่างคึกคัก ทดแทนธุรกิจตะวันตกที่ถอนตัวไปบ้าง โมเดลการร่วมทุนกับธุรกิจรากฐานไทยเป็นไปอย่างคึกคัก จากสินค้าคอนซูเมอร์สู่อุตสาหกรรมพื้นฐาน

และแล้วสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (2531) อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (GNP) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 13.2%

 

ในนั้น ปรากฏโฉม “หน้าใหม่” อีกครั้ง รายหนึ่งซึ่งคงร่องรอยอิทธิพลอยู่ คือผู้มากับกระแสคลื่นธุรกิจใหม่-สื่อสาร สัมพันธ์กับยุคสื่อสารกำลังขยายตัวทั่วโลก บวกกับตลาดหุ้นไทยซึ่งเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 2534 มาสู่ระดับ 7-8 แสนล้านบาทในช่วงปี 2536-2538

เป็นช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน สังคมธุรกิจเข้าถึงเงินลงทุนในตลาดโลกอย่างเต็มที่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

“เศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปในทศวรรษ 1990 จะเติบโต แข็งแรงและยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับสิ่งท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศ ภายในภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ” ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังในขณะนั้น กล่าวไว้ในสัมมนา “ประเทศไทย : อนาคตสำหรับการเติบโตและการลงทุน” จัดโดย EuroMoney Magazine (30 มีนาคม 2536)

ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” สั่นสะเทือนทั้งภูมิภาค สังคมธุรกิจไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ตามมาด้วยบทสรุปว่าด้วยการผิดพลาดนโยบายทางการเงินพุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย “มีนโยบายเปิดตลาดเงิน…ปล่อยให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศปริมาณมากเกินควบคุม…การปกป้องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทุ่มเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างขาดความรอบคอบ”

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมธุรกิจไทย โฟกัสมาที่ระบบการเงิน เครือข่ายธนาคารระดับโลกมีพื้นที่และโอกาสในประเทศไทย นับตั้งแต่หลังยุคอาณานิคม ขณะธนาคารไทยมีแรงกดดันให้ก้าวพ้นพรมแดนตัวเอง

แต่ดูเป็นไปอย่างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเดียวกัน

 

มีอีกบางมิติควรกล่าวถึง การเกิดขึ้นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในสังคมธุรกิจไทย ของแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 เป็นที่รู้กันว่า พ.ร.บ.ข้างต้น เป็นหนึ่งในกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ในกระบวนการกอบกู้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย

จากนั้นเข้าตลาดหุ้น (2544) ปตท.ใช้เวลาเพียง 5 ปี กลายเป็นบริษัทไทยแห่งแรกมีรายได้เกิน 1 ล้านล้านบาท (2549)

อีกกระแสหนึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค ที่ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มต้น “ทศวรรษแห่งเอเชีย” เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน ผลในปี 2553 ดูไปแล้ว อาจเรียก “ทศวรรษแห่งจีน” ด้วยก็ได้

หากกล่าวแง่ธุรกิจจีน ถือเป็นผลพวงเชิงบวกจากวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” พอจะได้ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลใหม่ ซึ่งขยายภูมิศาสตร์มาถึงสังคมธุรกิจไทยด้วย ล้วนก่อตั้งขึ้นในช่วงนั้น

Alibaba, Tencent และ JD.com ก่อตั้งในจีน ท่ามกลางช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืน “ฮ่องกง” ให้ทางการจีน (ปี 2540) โดย Tencent และ JD.com ก่อตั้งขึ้น (ปี 2541) ก่อน Alibaba (ปี 2542) เพียงปีเดียว

จากนั้นเพียงทศวรรษเดียว ขยายตัวทั้งภูมิภาค รวมทั้งไทย ในฐานะผู้นำค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ 3 ราย ผู้ควบคุมการค้าปลีกออนไลน์ในสังคมไทยไว้ในมืออย่างสิ้นเชิง โดยใช้เวลาไม่กี่ปี ได้แก่ Lazada (กิจการในเครือข่าย Alibaba), Shopee (ถือหุ้นใหญ่โดย Tencent) และ JD CENTRAL (กิจการร่วมทุนหระหว่าง JD.com กับกลุ่มเซ็นทรัล)

 

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่มาเยือนในมิติที่แตกต่าง ภาวะ Great Lockdown อย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น อาจจะยังมองไม่เห็นภาพชัดเจน เชื่อว่าโครงสร้างสังคมธุรกิจไทยจะขยับเขยื้อนครั้งใหญ่อย่างแตกต่างกับที่ผ่านๆ มา

ที่ปรากฏชัด ภาพหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กันเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ บทบาทรัฐกลับมามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จบางมิติ บางทีกลไกรัฐเองอาจไม่เข้าใจด้วย บททดสอบครั้งสำคัญต่อระบบรัฐ หรือระบบราชการแบบไทย ว่าด้วยความยืดหยุ่น ปรับตัว เข้ากับสถานการณ์ซึ่งไม่ปกติอย่างยิ่ง สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ให้ลุล่วงไปได้

“อำนาจเบ็ดเสร็จในบางมิติ” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นไปในสังคมไทย บางที บางช่วงเวลา มีอำนาจ มีอิทธิพลยิ่งกว่าตัวระบอบเผด็จอำนาจ ในบางแง่มุมเป็นกระแสสวนทางนโยบายรัฐ ในสังคมธุรกิจไทยยุคใหม่ดังกล่าวข้างต้น กว่าครึ่งศตวรรษ ค่อยๆ ผ่อนคลาย และเปิดกว้างให้ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (steak holder) อย่างหลากหลาย มีบทบาท มีส่วนร่วมมากขึ้นๆ

แผนการรัฐ ว่าด้วยจัดการเกี่ยวกับวัคซีน เป็นอย่างหนึ่งในบางมิติที่ว่านั้น หรือไม่