เครื่องเสียง / พิพัฒน์ คคะนาท/PSB Alpha AM5 Powered Bookshelf Speakers

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

PSB Alpha AM5

Powered Bookshelf Speakers

 

ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ เป็นบทวิจารณ์ของคุณกอร์ดอน บรอกเฮาส์ ที่มีต่อลำโพง PSB Alpha AM5 ลำโพงฟังเพลงแบบวางหิ้งที่ผนวกแอมป์ไว้ในตัว ซึ่งเป็นการนำลำโพงวางหิ้งปกติรุ่น Alpha P5 มาต่อยอดด้วยการใส่แอมป์และภาคการทำงานอื่นๆ เข้าไว้ด้วย

จึงเพียงแค่เอาแหล่งโปรแกรมมาต่อเข้าที่หลังลำโพงตัวหลัก หรือสตรีมไฟล์เพลงเข้ามายังลำโพงคู่นี้แบบไร้สาย ก็สามารถฟังเพลงได้ทันที

PSB Alpha P5 นั้น ปัจจุบันขายอยู่ในบ้านเราคู่ละใกล้ๆ หมื่น ส่วน Alpha AM5 ทราบว่ากำลังอยู่ระหว่างการนำเข้า จึงยังไม่ทราบราคาขายที่แน่ชัด

ไปดูกันครับ ว่าคุณกอร์ดอนได้พูดถึง Alpha AM5 ตั้งแต่ที่มาที่ไปว่าอย่างไร ในบทวิจารณ์ที่ได้รายงานเอาไว้ในเว็บไซต์ soundstagesimplifi จนนำไปสู่ตอนท้ายที่ผมนำมาบอกไปเที่ยวก่อน ว่ามันคือความคุ้มค่าที่คุณเขาขอแนะนำอย่างยิ่งยวดนั่นเทียว

อ้อ, จากนี้ไปคำว่า ‘ผม’ หมายถึงคุณกอร์ดอนเขานะครับ

 

PSB Alpha AM5 มีโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 6.75 x 11.4 x 9.5 นิ้ว ลำโพงตัวหลักทางด้านซ้ายผนวกแอมป์ Class-D กำลังขับ 50 วัตต์/ข้าง มีน้ำหนัก 11.3 ปอนด์ ขณะที่ลำโพงขวามีน้ำหนัก 10.2 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับน้ำหนักต่อตู้ของ Alpha P5

ผนังตู้แต่ละด้านขึ้นรูปด้วย MDF : Medium Density Fiberboard ความหนา 1/2 นิ้ว ขณะที่แผงหน้าตู้มีความหนา 1 นิ้ว สำหรับตะแกรงปิดแผงหน้าลำโพงนั้นเป็นโลหะ ยึดติดกับแผงหน้าตู้ด้วยหมุดแม่เหล็ก ซึ่งพอล บาร์ตัน ผู้ออกแบบได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า มันสามารถให้ความโปร่งใสของเสียง (Acoustically Transparent) ได้เป็นอย่างดี

ชุดตัวขับเสียงตลอดจนพาสซีฟ ครอสส์โอเวอร์ ของ Alpha P5 และ Alpha AM5 นั้น เหมือนกัน โดยมิด/เบส ไดรเวอร์ ขึ้นรูปด้วยโพลีโพรไพลีนและใช้ขอบยาง (Rubber Surround) มีขนาด 5.25 นิ้ว จัดวางอยู่ในโครงสร้างเหล็ก ส่วนทวีตเตอร์ที่มีขนาด 0.75 นิ้ว ขึ้นรูป Dome ด้วยอะลูมิเนียม ใช้สารแม่เหล็กเหลวในการระบายความร้อน ชุดแม่เหล็กเป็นแบบ Neodymium คุณภาพสูง ออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 2.5kHz โดยเป็นชุดครอสส์โอเวอร์แบบ Linkwitz-Riley ให้การทำงาน 24dB/Octave ที่พอล บาร์ตัน บอกว่าเหมาะกับการจัดวางให้ทวีตเตอร์อยู่ใต้วูฟเฟอร์ (หรือมิด/เบส ไดรเวอร์) และเอาต์พุตของชุดตัวขับเสียงทั้งคู่ยังคงให้การทำงานอยู่ในเฟสเดียวกัน

โดยให้การทำงานตอบสนองความถี่ในช่วง 55Hz – 20kHz, +/-3dB เหมือนกับ Alpha P5

 

ที่แผงหลังทางด้านซ้ายของลำโพงตัวหลัก มีอินพุตสำหรับ Phono พร้อมขั้วต่อ Ground ทางด้านขวาเป็นพอร์ตอินพุตเรียงลงมาในแนวดิ่ง ประกอบด้วย AUX แบบ Mini Jack 3.5mm., Optical, Micro USB ต่อลงมาด้วย Sub-Out, USB Type-A สำหรับประจุไฟให้อุปกรณ์อื่น ส่วนตอนล่างของแผงหลังนี้ด้านซ้ายเป็นอินพุตสำหรับอะแด็ปเตอร์ไฟ AC ถัดมาใกล้ๆ กันเป็นปุ่มจับคู่กับอุปกรณ์ Bluetooth ทางด้านขวาเป็นขั้วต่อสายลำโพงไปยังลำโพงตัวขวา

ที่แผงหน้าของลำโพงหลักทางตอนล่าง ด้านขวา มีไฟ LED บอกสถานะ ถัดไปเป็นปุ่มลูกบิดสำหรับปรับระดับความดังเสียง และหากกดแล้วบิดหมุนจะเป็นการเลือกอินพุต ใกล้ๆ กัน เป็นแผงรับเซ็นเซอร์จากรีโมต คอนโทรล

สำหรับรีโมต คอนโทรล มีขนาดกำลังเหมาะมือ จัดเรียงปุ่มต่างๆ เอาไว้เป็นระเบียบ ช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานได้อย่างสะดวกและคล่องตัว

PSB Alpha AM5 รองรับ Bluetooth aptX ของ Qualcomm ซึ่งไม่ใช่ aptX HD โดยความละเอียดสูงสุดของอินพุต USB คือ PCM 24-bit/48kHz และ 24-bit/192kHz สำหรับออปทิคัล อินพุต เมื่อกดเปิดใช้งานปุ่ม Sub บนรีโมต คอนโทรล วงจร Low-Pass Filter และ High-Pass Filter จะทำงานที่ย่านความถี่ 80Hz โดยส่งย่านความถี่ต่ำกว่านั้นไปยังสับ-วูฟเฟอร์ และย่านความถี่สูงกว่านั้นจะถูกส่งผ่านไปยังลำโพงคู่หลัก หรือลำโพงซ้าย/ขวา ซึ่งทำให้ปลอดการรบกวนของเสียงจากย่านความถี่ต่ำๆ ในลำโพงคู่หลัก ที่มักจะเกิดกับลำโพงแบบ Power Loudspeakers ทั่วๆ ไป

ซึ่งนั้น, นับเป็นคุณสมบัติอันน่ายินดียิ่ง (อีกประการหนึ่ง) ของลำโพงคู่นี้

 

กับภาคโฟโน สเตจ ที่เป็นแบบความเที่ยงตรงและแม่นยำสูงนั้น พอล บาร์ตัน บอกว่าเราออกแบบกันเองที่นี่ละ (คือทั้ง NAD, PSB และ Bluesound ล้วนอยู่ในเครือของ Lenbrook Group) ไม่ได้ไปใช้ของใครที่ไหน ซึ่งผมฟังแล้วก็ให้รู้สึกประทับใจกับการทำงานที่เงียบสงัด แม้ว่าจะเปิดระดับความดังเสียงเอาไว้ค่อนข้างสูง ต่อเมื่อเข้าไปฟังใกล้ๆ หน้าลำโพงประมาณหนึ่งฟุต จึงพอจะได้ยินเสียงซ่าดังออกมาเล็กน้อยจากทวีตเตอร์ แต่กับตรงที่นั่งฟังของผมซึ่งอยู่ห่างลำโพงทั้งคู่ห้าฟุต ไม่มีปัญหากับเสียงซ่าที่ว่านั้นแต่อย่างใด

ไม่ปกตินักสำหรับลำโพงที่ผนวกแอมป์ในตัว Alpha AM5 ใช้หลักการประมวลผลสัญญาณดิจิตอลก่อนถูกส่งไปยังภาคขยาย สัญญาณอะนาล็อกจะถูกแปลงเป็นดิจิตอล ซึ่งหลังจากที่เลือกให้ Sub-Output ทำงาน วงจรวิเคราะห์ย่านความถี่ต่ำที่ใช้หลักการของ MaxxcBass ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Waves Audio Ltd., จะเปิดการทำงานของวงจร High-Pass Filter เพื่อกรองเอาย่านความถี่ที่ต่ำกว่าจุดกำหนด (คือที่ 38Hz ของ Alpha AM5) ออกไป แล้วสร้างชุดฮาร์โมนิกเสมือนขึ้นมาเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหาย เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงอรรถรสของเสียงย่านความถี่ต่ำได้อย่างสมบูรณ์

Waves Audio อ้างว่า MaxxBass สามารถขยายการตอบสนองของเสียงเบสได้มากถึง 1.5-Octave ทั้งยังบอกด้วยว่า MaxxBass สามารถคงไดนามิกและระดับความดังของเสียงเบสต้นฉบับเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

ซึ่งหากพอล บาร์ตัน ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับผมก่อน ผมคงคิดว่าเบสอันน่าทึ่งที่ได้ยินนั้นมาจากลำโพงคู่เล็กๆ คู่นี้

 

จากการทดสอบด้วย Sine Wave ที่ 40Hz และ 200Hz ด้วยมิเตอร์ระดับแรงดันเสียง (SPL : Sound Pressure Level) ที่ระดับความดังเดียวกัน พบว่าวัดออกมาได้เท่ากันที่ 80dB โดยพบว่าที่ 40Hz มีอาการซ้อนทับอยู่เล็กน้อย ซึ่งนั้นมันไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากกระบวนการของ MaxxBass หรือข้อจำกัดของไดรเวอร์ขนาด 5.25 นิ้ว

แต่ที่สำคัญคือขณะที่ผมฟังนั้น ผมกลับไม่พบสิ่งแปลกปลอมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขณะฟังเพลง หรือฟังจากซาวด์แทร็กก็ตาม

Alpha AM5 ผนวกเอาไว้ด้วย MaxxDialog และ Maxx3D ซึ่งสามารถแยกใช้งาน หรือจะใช้งานร่วมกันก็ได้ โดยการกดปุ่มเลือก Mode บนรีโมต คอนโทรล โดย MaxxDialog จะเพิ่มรายละเอียดและความคมชัดของเสียงในย่านความถี่กลาง โดยเฉพาะเสียงสนทนา ส่วน Maxx3D จะช่วยในการขยายซาวด์สเตจ และเน้นที่ตำแหน่ง Sweet Spot ในการฟังเพลง หรือจะใช้ขณะชมภาพยนตร์ก็ได้เช่นเดียวกัน การกดปุ่มใช้งานบนรีโมต คอนโทรล เอื้อความสะดวกในการใช้งานมาก โดยจะมีไฟ LED แสดงสถานะการทำงานให้ทราบอย่างชัดเจนด้วยสีของไฟกะพริบ

ซึ่งมีทั้งสีเหลืองอำพันในโหมด Dialog และกะพริบเป็นสีน้ำเงินเมื่อเปิดสองโหมดพร้อมกันทั้ง Dialog และ 3D ส่วนขณะฟังเพลง ไฟ LED จะเป็นสีเขียวตามปกติ