เหตุผลที่คนหนุ่ม-สาว ไม่เชื่อผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เหตุผลที่คนหนุ่ม-สาว

ไม่เชื่อผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน

 

หากเราเชื่อว่าการใช้ภาษาที่แตกต่างกันสามารถกำหนดวิธีมองโลกและเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกันได้

ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปจะคิดเห็นแตกต่างไปจากผู้อาวุโสที่หายใจบนโลกนี้มานานกว่า

มีตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือพจนานุกรมในฝรั่งเศสฉบับราชบัณฑิตยสภาจะมีการปรับปรุงทุก 20 ปีโดยประมาณตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ในศตวรรษก่อนๆ จำนวนคำในพจนานุกรมฉบับเก่ากับฉบับใหม่จะต่างกันราว 4-5,000 คำ และเป็นเช่นนี้เกือบทุกครั้ง

แต่ปรากฏว่าพจนานุกรมฉบับใหม่ๆ กลับมีจำนวนคำต่างกันถึง 35,000 คำ

นั่นหมายความว่าในช่วงเวลา 20 ปี มีถ้อยคำใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและข้อมูลมหาศาลที่ถาโถมเข้าใส่โลกใบเดิม

แน่นอนว่าผู้ใหญ่รุ่น 60-70 ปีเคยได้ยินคำจำพวกคริปโตเคอร์เรนซี่ บิทคอยน์ บล็อกเชน อินสตาแกรม ไซบอร์ก พันธุวิศวกรรม วิศวกรรมชีวภาพ อัลกอริธึ่ม ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ บางคนอาจรู้จักและเข้าใจ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้เติบโตขึ้นมาและมีคำเหล่านี้วนเวียนอยู่ในชีวิต ยังมิต้องนับคำสนุกๆ อย่างเฟียร์ส (แรง) เกรียม (ที่ไม่ได้แปลว่าไหม้) ดือ (ที่แปลว่าดี) ใจบาง (แพ้ทาง) ไอ้ต้าว (ใช้นำหน้าสิ่งน่าเอ็นดู) ฯลฯ อีกมากมาย

จึงไม่แปลกที่บางครั้งจึงเหมือนอยู่กันคนละโลก

 

ภาษาเปลี่ยนแปลว่าโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน การงานเปลี่ยน และคุณค่าหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปด้วย ในหนังสือ ‘หนูนิ้วโป้ง’ (Petite Poucette) ของมิเชล แซร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเขียนเล่าเรื่องราวของชาวมิลเลนเนียลหรือเจนวายเอาไว้อย่างน่าคิดตาม

เริ่มจากวิถีชีวิตที่แตกต่างไปสิ้นเชิงในช่วงเวลา 100 ปี

ย้อนไปในปี 1900 คนส่วนใหญ่ยังทำไร่ไถนา มีชีวิตกับธรรมชาติและสัตว์ต่างๆ ที่เลี้ยงไว้

วาร์ปมาวันนี้คนทำงานในภาคเกษตรเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย เด็กๆ ไม่ได้โตมากับท้องทุ่ง ดินโคลน และฝูงสัตว์อีกต่อไป

ผู้ใหญ่ชอบแซวกันว่าเด็กยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่าต้นข้าวโพดเป็นยังไง หรือกระทั่งต้นข้าวทั้งที่ตักข้าวใส่ปากอยู่ทุกวัน

จำนวนประชากรในโลกพุ่งทะยานจากสองพันล้านกลายเป็นเจ็ดพันล้านคน พวกเขาเกิดมาในโลกที่มีผู้คนเต็มไปหมด การแข่งขันย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา

อายุเฉลี่ยก็ยาวนานขึ้นจนใกล้จะ 100 ปีรอมร่อ ปู่-ย่าของพวกเขาแต่งงานแล้วสัญญาจะครองรักจนสิ้นลมหายใจ นั่นหมายถึงประมาณ 30 กว่าปี

แต่สำหรับพวกเขาแล้วมันคือ 60-70 ปี พวกเขาจะมีแนวคิดเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคนรักได้เหนียวแน่นเหมือนเดิมไหม

พ่อ-แม่พวกเขาได้รับมรดกตอนอายุประมาณ 30 กว่าปี แต่สำหรับพวกเขาถ้าจะรอคอยมรดกก็คอยกันไปยาวๆ จึงต้องดูแลตัวเองกันอย่างหนัก

ผู้ใหญ่รุ่นปู่-ย่าเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนรุ่นใหม่ต่างเห็นว่าหลานๆ ของพวกเขาไม่เคยหิวโหย ไม่ลำบากเท่าคนรุ่นก่อน ไม่ผ่านศึกสงคราม ไม่เคยบาดเจ็บ

แน่นอนว่าความหมายของชีวิต ความกังวล ความกลัวย่อมแตกต่าง รวมถึงความคาดหวังที่มีต่อชีวิตย่อมหน้าตาไม่เหมือนกัน

พวกเขามิได้ใช้ชีวิตเพียงมีชีวิตรอด แต่ยังมีความใฝ่ฝันและแสวงหาความหมายของการงานที่ทำด้วย

 

คนรุ่นใหม่โตมากับภาพเคลื่อนไหวที่หดเวลานำเสนอภาพให้สั้นลงเรื่อยๆ ล่าสุดแทบจะเร็วกว่า 7 วินาทีต่อภาพ

คลิปเท็ดทอล์ก 12 นาทีก็ยังยาวเกินกว่าจะดูจบ

ทุกสิ่งเยอะ เร็ว รีบ ความรู้สึกที่มีต่อความเร็ว (sense of speed) ของพวกเขาย่อมต่างจากคนรุ่นก่อนมาก

การรอคอยกลายเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย เมื่อผู้ใหญ่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา” พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าใจได้ ในเมื่อทุกอย่างในชีวิตมันฉับไวกว่านี้ทั้งนั้น

จึงเกิดความรู้สึกไม่ทันใจ ซึ่งในสายตาผู้ใหญ่อาจมองว่า ‘ใจร้อน’

ในมุมของการเรียนการสอน แต่ก่อนความรู้จะมี ‘แหล่งที่อยู่’ ของมัน นั่นคือสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย

ห้องบรรยายคือวิหารเผยแพร่ความดี ความงาม ความจริง

ห้องสมุดคือคลังสะสมปัญญา

ทั้งหมดนี้คือการรวมศูนย์ไว้ในที่เฉพาะเจาะจง แต่เดี๋ยวนี้ความรู้ไม่ได้รวมอยู่ที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป มันถูกแจกจ่ายไปทุกที่ มันลอยคว้างอยู่กลางอากาศ หากอยากเห็นเพียงเปิดมือถือชาญฉลาดก็เข้าถึงได้

ทุกที่ทุกคนมอบความรู้ให้กันและกันว่อนไปหมด ไม่มีใครสามารถผูกขาดความดี ความงาม ความจริงได้อีกต่อไป

เมื่อความรู้อยู่ทุกที่ วิธีการเรียนรู้ก็เปลี่ยนไป มิเชล แซร์ บอกว่าปัญญาของบรรดาหนูนิ้วโป้ง (ผู้ใช้นิ้วโป้งกดหาและเผยแพร่ความรู้) ย้ายมาอยู่นอกศีรษะ พวกเขาไม่ต้องจำสิ่งที่คนรุ่นก่อนใช้เวลาเป็นสิบ-ยี่สิบปีเพื่อจดจำใส่สมองอีกต่อไป เพราะรู้ดีว่าถ้าอยากรู้เมื่อไหร่ก็แค่ ‘กูเกิล’

ความรู้กลายเป็นของส่วนกลาง อ่านดูฟังเมื่อไหร่ก็ได้ หลากหลายและไม่มีสัจธรรมหนึ่งเดียว ความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่หัวโล่งๆ จึงเป็นเรื่องของการเชื่อมโยง ผสมผสาน และสร้างสรรค์จากสิ่งต่างๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่

เช่นนี้แล้ว ห้องเรียนจึงอึกทึกไปด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าว เพราะทุกคนพร้อมจะส่งเสียง แลกเปลี่ยน เถียงถกจากความรู้ที่ตนรู้มา

หากครูอาจารย์ที่ยืนอยู่หน้าห้องไม่มีความรู้ที่พวกเขาสนใจก็ยากจะตั้งใจฟัง ครูจึงต้องเปลี่ยนหน้าที่เป็นโค้ช เป็นวาทยกร หรือเป็นผู้ก่อกวนยั่วให้คิดแทนที่จะเป็นเครื่องถ่ายเอกสารความรู้หรือผู้ประกาศสัจธรรมอย่างที่เคยเป็นมา

จากพูดคนเดียวต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ฟัง

ฟังความคิดความต้องการแล้วชวนแลกเปลี่ยน การสอนจึงมิใช่การนำความรู้มาบอก หากคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยกัน

มิเชล แซร์ ชี้ว่าในยุค ‘ความรู้สัมบูรณ์’ (Absolute Knowledge) ความรู้นี้เรียกร้องให้ทุกคนค้อมคารวะให้ราวกับมันคือผู้มีอำนาจสูงสุด มันเรียกร้องร่างกายไร้ศักดิ์ศรีที่สยบยอม ไม่เพียงผู้เรียน กระทั่งผู้สอนก็ต้องสยบต่อ ‘ความจริง’ ที่ความรู้นำมาให้ พวกเขาเพียงถ่ายทอดความรู้นั้นต่อไปยังร่างกายไร้อำนาจของศิษย์ ทว่าทุกวันนี้มิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว ความรู้ไม่ได้มัดรวบยอดไว้สูงสุดหนึ่งเดียว มันแผ่กว้างกระจัดกระจาย มิได้มีลักษณะเทวสิทธิราชย์ หากกลายเป็นประชาธิปไตยแห่งความรู้ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ตื่นตัวเคลื่อนไหว

นี่คือยุคสมัยที่ความเงียบหายไปกลายเป็นความเจี๊ยวจ๊าวทุกสถานที่

 

หนูนิ้วโป้งทั้งหลายใช้สมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องการ ‘โชเฟอร์’ ที่ตื่นตัว สวมบทผู้กระทำ มิใช่นั่งนิ่งๆ รอให้คนอื่นมาป้อนใส่ปาก

ทุกคนกลายร่างเป็นคนขับ เป็นผู้เล่น ในโรงละครไม่มีผู้ชม ทุกคนล้วนออกลีลาท่าทางและส่งเสียงความคิดของตัวเองออกมาโกลาหล

พวกเขาโตมากับวัฒนธรรมหลายหน้าจอ สรรพสิ่งจึงมิได้แบ่งหมวดหมู่เหมือนที่อยู่ในห้องสมุด หากมันกลับสลับตำแหน่งแห่งที่ปนเปเหมือน ‘หน้าต่าง’ หลายวินโดว์สในจอคอมพ์ เหมือนแอพพ์สารพัดในมือถือ เหมือนหน้านิวส์ฟีดเฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก ที่ไม่เคยเรียงหมวดเนื้อหา

โลกของพวกเขาจึงมิใช่โลกในระเบียบระบบ

เช่นนี้แล้ว เสรีภาพและความหลากหลายจึงกลายเป็นวิถีชีวิต คิดอะไรก็พิมพ์ได้ อยากรู้อะไรก็ค้นเจอ แต่ละสิ่งก็มีอาณาเขตกว้างขวางหลากหลายปนเปกันแบบข้ามแผ่นพื้นทวีป

การนิยามตัวเองว่าเป็น ‘คนที่ไหน’ อาจไม่ชัดเจนเหมือนรุ่นพ่อ-แม่ เพราะเวลาและสถานที่สำหรับพวกเขามิใช่สิ่งที่อธิบายง่ายแบบเดิม

พวกเขารับวัฒนธรรมทั้งหลัก รอง และทางเลือกจากสารพัดแหล่ง

มิได้เติบโตขึ้นมากับตำราเรียนที่ปลูกฝังชาตินิยมหรือเอกลักษณ์ของชาติในแบบเดิม

ความรู้สึกเป็น ‘พลเมืองโลก’ จึงมีสูงขึ้น หนูนิ้วโป้งได้เดินทางเยอะ เรียนภาษาหลากหลาย พวกเขาอาจสนใจทำงานในที่ห่างไกลบ้านเกิดโดยไม่รู้สึกว่าฉันจะต้องปักหลักอยู่ในดินแดนที่แม่คลอดออกมาเท่านั้น

โลกของพวกเขาคือโลกแห่งพหุวัฒนธรรมอันอลหม่าน ประกอบร่างขึ้นมาจากความดี ความงาม ความจริงที่มิอาจนับจำนวนได้

ยิ่งถ้าใครพยายามยึดครองความถูกต้องไว้เพียงคนเดียวก็ยิ่งจะถูกท้าทายจากคำถามของหนุ่มสาวเหล่านี้ซึ่งมักเป็นคำถามที่ไม่อาจตอบได้ด้วยทัศนคติคับแคบแบบเดิม

 

พวกเขาไม่เพียงเจี๊ยวจ๊าวในห้องเรียน และไม่เพียงไม่ฟังครู แต่พวกเขายังแสดงออกทางการเมืองอย่างอึกทึกเพราะคุ้นชินกับการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ

การเมืองสำหรับคนรุ่นนี้มิได้จบลงเงียบๆ ตอนกาคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง

แต่พวกเขาลงคะแนนตลอดเวลา ทุกวัน กระทั่งทุกนาที ผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีในมือ

การควบคุมคนรุ่นใหม่ให้คิดแบบใดแบบหนึ่งจึงเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องธรรมชาติยุคสมัย

การพยายามบอกพวกเขาให้เดินตามหลังผู้ใหญ่แล้วหมาจะไม่กัดย่อมถูกหัวเราะได้

เพราะพวกเขารู้ดีว่ามีหมาตัวใหม่ที่ผู้ใหญ่ไม่เคยเจอพร้อมกระโดดเข้าขย้ำ และไม่แน่ผู้ใหญ่นี่เองที่จะรับมือไม่ไหว หรือบางทีผู้ใหญ่อาจถูกหมาบางตัวกัดจนขยาดแล้วไม่กล้าเดินไปจัดการมัน ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข

เช่นกันกับการบอกให้เชื่อฟังโดยบอกว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน น้องๆ หลานๆ อาจถามว่าแล้วลงไปอยู่ในน้ำร้อนทำไม หรือตกลงพี่อาบหรือพี่ถูกต้ม!

โลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ผู้คนเปลี่ยนความคิด นิสัย และวิถีตามไปเช่นกัน คงไม่ใช่เรื่องที่จะมาตัดสินกันว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นโจทย์ที่คนต่างยุคต้องหาวิธีทำความเข้าใจผู้ที่เกิดมา ‘คนละโลก’ กับตน แน่นอนว่าโลกไม่ได้เป็นของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง และทุกคนล้วนมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต้องหยิบยืมกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี

การจะบอกว่า ‘ฉันถูก’ จึงต้องตระหนักไว้สักนิดว่าฉันอาจถูกในโลกของฉันเท่านั้น ขณะเดียวกันก็น่ารับฟังว่าในโลกของคนต่างวัยนั้นมีความถูกต้องแบบใดอีก นี่น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่ความถูกต้องเป็นเรื่องต้องคุยกัน

มิใช่บังคับให้เชื่อฟังอีกต่อไป