ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
เคยสังเกตไหมครับว่า ถ้าจะเปรียบวิธีคิดและความคิดของคนสองคน แม้จะมีอายุใกล้เคียงไล่เลี่ยกัน เป็นเพื่อนนักเรียนจบมาจากโรงเรียนเดียวกัน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เพื่อนคนหนึ่งเดินทางไกลไปเห็นโลกกว้าง ได้พบเห็นความหลากหลายในโลกนี้มามาก
ขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่กับครอบครัว วงสนทนาสมาคมไม่มีความหลากหลาย
เมื่อกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง นอกจากอดีตที่ทบทวนเล่าสู่กันฟังแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่คนทั้งสองคนจะมองโลกปัจจุบันและมองเห็นอนาคตแตกต่างกันไปคนละทิศ
ผมไม่อาจเอื้อมที่จะบอกว่าคนหนึ่งผิดและอีกคนหนึ่งถูก
ผมเพียงแค่อยากจะบอกว่า การคบหาสมาคมและการเปิดกว้างรับข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยปรุงแต่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แต่ละคน คิดและมองอะไรต่อมิอะไรแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างใกล้ตัวชนิดใกล้ที่สุดสักตัวอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ใครอื่นหรอกครับ ตัวผมเองนี่แหละ
ด้วยอาชีพการงานที่ผมเป็นครูสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเป็นการสอนกะพร่องกะแพร่งแบบออนไลน์ในเวลานี้ก็ตาม
แต่ผมเชื่อว่า ผมได้รู้จักและแลกเปลี่ยนความรู้กับนักเรียนของผมซึ่งอยู่ในวัยของความกระตือรือร้นระหว่างช่วงอายุ 18 ปีถึง 22 ปี ซึ่งเป็นวัยของการศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่สม่ำเสมอด้วยช่องทางต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการพบกันในสมัยที่โรคระบาดยังไม่กีดกันเราถึงเพียงนี้ การเป็นเพื่อนใน Facebook ของกันและกัน หรือการเข้าไปติดตามความคิดของลูกศิษย์ของผมในทวิตเตอร์หรือไอจี
ด้วยช่องทางการสื่อสารอย่างนี้ ทำให้ผมเข้าใจและรู้ซึ้งว่าเด็กสมัยนี้คิดอะไรอย่างไร
ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าผมต้องเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับความคิดเหล่านั้นไปทุกประเด็น
เป็นธรรมดามนุษย์ครับ ที่เมื่ออ่านแล้วรู้แล้วบางอย่างผมก็เห็นด้วย บางอย่างผมก็เห็นต่าง
แต่ผมเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าผมมิใช่ผู้พิพากษาที่จะไปชี้ผิดถูกได้โดยลำพังตน
ประโยชน์เฉพาะหน้าที่ผมเห็นได้คือ การรับรู้ว่ายุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ผมเองผู้เดินผ่านกาลเวลามานานกว่าหกสิบปี และเวลาที่เหลืออยู่ข้างหน้ามีน้อยกว่าเวลาที่ผ่านมาข้างหลัง ควรทำความเข้าใจกับโลกปัจจุบันอย่างไร
ข้อมูลใดเป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้ในการใช้ชีวิตของผมเองก็ดี หรือนำไปเป็นข้อมูลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสอนหนังสือหรือบรรยายในที่ต่างๆ ก็ดี ผมจะเก็บเกี่ยวสะสมไว้ในหัวใจและในสมองของผมเพื่อใช้งานต่อไป
คนอายุน้อยกว่าผมที่ตกเป็นเหยื่อของการติดตามข้อมูลจากผมไม่ได้มีแค่นิสิต-นักศึกษาในวัยที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นปริญญาตรีเท่านั้นเสียเมื่อไหร่
แม้แต่อาจารย์รุ่นหลังที่อายุอานามประมาณ 30 ปีหรือ 40 ปี ความรู้ความเห็นจากคนกลุ่มนี้ก็น่าสนใจครับ มีอะไรอีกหลายเรื่องที่คนยุคผมไม่รู้จัก และเขานำมาพูดคุยขีดเขียนกันในที่ต่างๆ เรารู้เพิ่มเติมขึ้นจากทุนเดิมของเราก็ล้วนประเทืองปัญญาทั้งสิ้น
“การคบเด็ก” ของผมจึงเป็นการเรียนรู้ไปด้วยในตัว
เรียนฟรีไม่เสียค่าหน่วยกิตด้วย ฮา!
ในเหตุการณ์ปัจจุบันที่คนหลายช่วงวัยอยู่ร่วมกันในสังคม ผมพบว่า ในขณะที่ผมคุยกับเพื่อนของผมใน LINE กลุ่ม และสมาชิกทุกคนที่มีอายุวัยเกษียณแล้วทั้งสิ้นมักมีความคิดเห็นโน้มเอียงไปในทางเดียวกัน จะเป็นทางไหนก็ช่างเถิด
ผมซึ่งเป็นเพื่อนกับลูกชาย-ลูกสาวของบ้านนั้นใน Facebook ได้พบอยู่เนืองๆ ว่าประเด็นเดียวกันที่เป็นปรากฏการณ์สังคมน่าสนใจ
ลูก-หลานเหล่านั้นได้แสดงทัศนะหรือมุมมองที่ไม่ได้มีความใกล้เคียงกันกับมุมมองของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ผมอ่านพบใน LINE เลย
ผมไม่จำเป็นและไม่คิดว่าตัวเองควรทำหน้าที่บ่างช่างยุ ให้พ่อ-แม่-ลูกเขาตีกัน
พื้นที่ในสื่อออนไลน์อย่างนี้อาจจะปลอดภัยถ้าต่างคนต่างอยู่ ลูกไม่ต้องอ่านความเห็นพ่อ-แม่ และพ่อ-แม่ก็ไม่ต้องอ่านความเห็นของลูก
ปล่อยให้ลุงหรือน้าคนนี้อ่านไปคนเดียวก็แล้วกัน
การได้เห็นมุมมองสองฟากฝั่งของลุงหรือน้าคนนี้ ทำให้ผมพอจะวางใจตัวเองได้ว่า ผมเห็นเหลี่ยมมุมแต้มคูของโลกได้ดีพอสมควร
ส่วนเมื่อเห็นแล้วรู้แล้วจะทำตัวอย่างไรก็ค่อยคิดอ่านกันต่อไป
ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันกับผมอีกจำนวนไม่น้อย พูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารกันกับผู้ที่อยู่ในสถานะทางสังคมอันไม่แตกต่างกัน และ “สวมแว่น” มองความเป็นไปในโลก โดยแว่นสายตาสั้นหรือแว่นสายตายาวเบอร์เดียวกัน
บางทีก็เป็นแว่นสายตาเอียงด้วยนะครับ
การที่อ่าน LINE ตอนเช้าทุกเช้า แล้วพบว่ามีข้อมูลข่าวสารที่คนคอเดียวกันแชร์มาจากสำนักข่าวเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันช่างทำให้หัวใจฮึกเหิมอย่างไรไม่รู้
นักการเมืองระดับสูงจำนวนไม่น้อยในอดีต เลือกที่จะเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะอ่านไปก็มีแต่เรื่องรำคาญใจ โทรทัศน์ก็ไม่อยากดู เพราะมีแต่เรื่องขัดใจ
ที่น่าเชื่อถือก็มีแต่เพียงโพลสำรวจความคิดเห็น ที่ลูกน้องของเราไปทำมาให้ดูนั่นไง
การเลือกรับข้อมูลข่าวสารแบบนี้ ทำให้มีความสุขใจเป็นอย่างยิ่ง แต่จะอยู่ในอำนาจวาสนาไปได้อีกนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ครับ
ยิ่งอยู่ในฐานะที่จะต้องแก้ปัญหาในเชิงระบบที่เป็นมหภาค มีทั้งภาพกว้างและลึกไปพร้อมๆ กัน การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีข้อมูลที่ต้องตรงกับความเป็นจริงไม่ใช่ภาพมายาที่หลอกให้ตัวเองสบายใจไปแต่ละวัน เป็นของสำคัญมาก
การตัดสินใจเรื่องใดก็ตามถ้าข้อมูลไม่ครบ หรือข้อมูลไม่เที่ยงตรงก็อย่าได้หวังเลยว่าการตัดสินใจจะถูกต้องแม่นยำ
สองวันก่อนผมนั่งคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่า เมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้ว ในขณะที่ระบบวรรณะในประเทศอินเดีย มีเพียงคนสามอาชีพเท่านั้นที่จะได้พบเห็นความเป็นจริงของสังคมอินเดียอย่างครบถ้วน นั่นคือ วณิพก พ่อค้า และนักบวช
เพราะคนผู้มีฐานะอาชีพดังกล่าว ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎกติกาอะไรหลายอย่าง การร่อนเร่ไปในบ้านเมืองต่างๆ ได้เห็นทั้งความร่ำรวย ความยากจน ได้เห็นระบบระบอบต่างๆ ที่มีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนจำนวนนี้มีวิธีมองโลกที่แตกต่างไปจากผู้ที่ติดยึดกับวรรณะของตัวเองแบบไม่ยอมกระดุกกระดิก
แม้สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา เมื่อทรงอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ต้องทรงอยู่ในกรอบกติกาสารพัดที่แวดล้อม แม้จะทรงพระดำริเห็นสังสารวัฏบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ชัดเจนและเป็นหนทางไปสู่ความตรัสรู้ได้เทียบเท่ากับภาวะที่ทรงอยู่ในฐานะเป็นนักบวช
เมื่อทรงบรรลุโมกขธรรมแล้ว ฐานะที่ทรงเป็นนักบวชนี้เช่นกันที่ทำให้ทรงมีโอกาส จาริกไปในแว่นแคว้นต่างๆ ได้ทรงพบและแสดงธรรมกับคนทุกระดับ ตั้งแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์ไปจนถึงยาจกเข็ญใจ
เราท่านทั้งหลายอย่าได้ไปคิดเปรียบปานอะไรเลยกับพุทธวิสัยที่ว่ามาข้างต้น เพียงแต่ถ้าได้หยุดคิดแล้วหยิบเอากระผีกหนึ่งแห่งพุทธจริยาที่ทรงเห็นความเป็นจริงของโลก ด้วยพระเนตรและพระทัยที่เปิดกว้าง มาเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพียงนี้ก็เป็นมงคลแก่ชีวิตนักหนาแล้ว
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
โยมตื่นได้แล้ว ฮา!