เมื่อรัฐบาลแพ้การเมือง! ความเปลี่ยนแปลงกำลังมา : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การเป็นฝ่ายถูก ในขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายผิดนั้น ถือเป็นเรื่องอันตราย”

วอลแตร์

การเมืองไทยกำลังเดินมาถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญ และอาจกลายเป็น “จุดพลิกผัน” อย่างมีนัยสำคัญด้วย

กล่าวคือ สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันมีความล่อแหลมที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก

และเรากำลังเห็นการก่อตัวของ “มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจ” ในหมู่ประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ

และเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลของผู้นำทหารประสบ “ความพ่ายแพ้ทางการเมือง” แม้จะยังไม่ล้มลงทันทีก็ตาม!

ดังจะเห็นได้ว่าศรัทธาของผู้คนในสังคมที่มีต่อผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังตกต่ำอย่างน่ากังวล จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า เป็นการตกต่ำของสถานะความเป็นรัฐบาลอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และน่าสนใจอย่างมากว่าสภาวะของการตกต่ำทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต?

หากคิดจากมุมมองของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ก็อดที่จะนึกถึงวลีเก่าไม่ได้ว่า “History repeats itself!” กล่าวคือ ประวัติศาสตร์จะหวนกลับมาซ้ำรอยเดิมหรือไม่…

เป็นไปได้หรือไม่ที่ “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” จะหวนมาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2564?

14 ตุลาคม 2516!

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ “การลุกขึ้นสู้” ครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชนไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นจากการเกิดและขยายตัวของ “มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจ” ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และสมทบด้วยปัญหา “วิกฤตศรัทธา” ของสังคมที่มีต่อผู้นำรัฐบาลทหาร

คนส่วนใหญ่ในสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการการปกครองของผู้นำทหารอีกต่อไป เพราะรัฐบาลทหารไม่มีประสิทธิภาพในการต้องรับมือกับปัญหาในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงานครั้งแรกของโลกในปี 2516 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยโดยตรง และรวมถึงปัญหาอื่นๆ ในทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ความเชื่อมั่นของสังคมต่อรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร มีอยู่ในระดับต่ำ และรัฐบาลประสบ “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” จากกรณีทุ่งใหญ่ในต้นปี 2516

ภาวะเช่นนี้นำไปสู่การลดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลของจอมพลถนอมลงอย่างมาก หรือประเมินได้ว่ารัฐบาลจอมพลถนอมพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่…

รัฐบาลทหารถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกแยกของสังคมไทยขณะนั้น

ดังจะเห็นคำเรียก “สามผู้นำหลัก” ของรัฐบาลในขณะนั้นว่า “สามทรราช” และที่สำคัญคือ ผู้นำทหารในสายตาของสังคมคือ “ทรราช” ไม่ใช่ “อัศวินม้าขาว” ที่จะเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งคนในสังคมมีความรู้สึกว่าผู้นำทหารและครอบครัวเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและพรรคพวก จนทำให้ผู้นำทหารเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังในสังคม

ความไม่พอใจรัฐบาลทหารเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทย

ประมาณการว่ามีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน (อ้างจาก ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543)… ไม่ว่าการชุมนุมจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าว แต่ตัวเลขเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครองของผู้นำทหาร

เหตุการณ์การล้มรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ของสังคมไทยในปี 2516 เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะเกิดเมื่อ 48 ปีก่อน

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผู้นำทหารในยุคปัจจุบันอาจจะไม่รับรู้ถึง “บทเรียน 14 ตุลาฯ” ที่ชี้ให้เห็นว่าระบอบทหารที่แม้จะมีกองทัพเป็นปราการสนับสนุนที่แข็งแรงเพียงใด ก็ไม่อาจต้านทานพลังการต่อต้านของนักศึกษาประชาชนได้

ดังได้กล่าวแล้วว่าอารมณ์ของสังคมในขณะนั้นก่อตัวเป็น “มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจ” และกลายเป็น “สึนามิทางการเมือง” ที่พัดพารัฐนาวาทหารจมลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 14 ตุลาฯ ซึ่งแทบจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ที่รัฐบาลทหารซึ่งสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 สิ้นสุดลง

หากมองผ่านความเป็นผู้นำทหารในรัฐบาลปัจจุบันแล้ว เราจะเห็นถึงความเป็นรัฐบาลที่มี “สามผู้นำทหาร” ยืนเป็นเสาหลักของรัฐบาล ไม่ต่างจากยุคจอมพลถนอม

ในบริบทของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นายทหารจากนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 (เช่น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ) อาจจะจบจากโรงเรียนนายร้อยและออกรับราชการแล้ว แต่ผู้นำจากเตรียมทหารรุ่น 10 (เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) และรุ่น 12 (เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) น่าจะได้เห็นเหตุการณ์นี้โดยตรง เพราะยังไม่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 นั้น เป็นนักเรียนในชั้นปีที่ 3 และนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 เป็นชั้นปีที่ 5

พวกเขาได้เห็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่เกิดที่ถนนราชดำเนิน และเห็นการล้มรัฐบาลทหารด้วยพลังนักศึกษาประชาชนด้วยตนเองจากโรงเรียนนายร้อย ที่ถนนราชดำเนินนอก

และน่าจะเห็นถึงการที่ทหารต้องถอดเครื่องแบบออกในช่วงต้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เพราะสังคมไม่ยอมรับ และมีท่าทีต่อต้านอย่างมาก จนการใส่เครื่องแบบทหารในที่สาธารณะอาจเป็นปัญหาได้

วิกฤตและความล้มเหลว

ผู้นำทหารที่มีอำนาจในการเมืองไทย และผู้นำทหารที่มีอำนาจในกองทัพไทยปัจจุบัน อาจจะไม่อยากจดจำประวัติศาสตร์ชุดนี้

และด้วยการสนับสนุนของกลุ่มอำนาจในสังคมไทย ผู้นำทหารที่กุมอำนาจในการเมืองไทยจึงมีความเชื่อมั่นอย่างมากว่า รัฐบาลชุดนี้จะเป็น “ระบอบที่ทนทาน” และอยู่รอดปลอดภัยได้เสมอ

เพราะไม่ว่าใครจะออกแรงต่อต้านอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถ “ล้ม” รัฐบาลชุดนี้ได้สำเร็จ ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลรอดพ้นจากแรงเสียดทานทางการเมืองได้ทุกครั้งทุกกรณี

ภาวะเช่นนี้อาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลทหารของประธานาธิบดีมูบารัคในยุคก่อนอาหรับสปริง ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น “ระบอบเผด็จการที่ทนทาน” เพราะไม่มีกลุ่มต่อต้านใดจะสามารถล้มได้ ความอยู่รอดของรัฐบาลทหารอียิปต์จึงถูกสร้างเป็นความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทหารไคโรจะไม่ถูกโค่นล้มอย่างง่ายๆ

แต่เมื่อต้องเผชิญกับคลื่นของประชาชนที่ออกมาต่อต้านแล้ว รัฐบาลทหารที่ปกครองอียิปต์มาอย่างยาวนานก็ถึงจุดสิ้นสุดลงในต้นปี 2554 ไม่ต่างจากการล้มลงของรัฐบาลทหารไทยในปี 2516

แต่วันนี้รัฐบาลปัจจุบันกำลังเผชิญกับ “มหาวิกฤตศรัทธาชุดใหญ่” อันเป็นผลจากความล้มเหลวอย่างชัดเจนในการบริหารจัดการ “วิกฤตโรคระบาด” และถูกชี้ชัดด้วยปัญหา “วิกฤตวัคซีน” ที่จนถึงวันนี้ “วัคซีนทางเลือก” ที่ประชาชนหลายคนพร้อมที่จะจ่ายสตางค์ของตนเองเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีนที่ดีกว่า ก็กลายเป็น “ความสับสน” ทางการเมืองและการแพทย์อย่างไม่น่าเชื่อ จนแทบจะกลายเป็น “วัคซีนทิพย์” ไปแล้ว และอารมณ์ของความไม่พอใจในอีกด้าน ถูกยกระดับขึ้นเป็นการประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

การระบาดของเชื้อโควิด-19 สร้าง “อภิมหาวิกฤต” แก่สังคมไทย โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ และสังคม แม้จะมีคำแก้ตัวว่าปัญหาเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ จึงไม่อาจที่กล่าวโทษรัฐบาลได้

แต่กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า “วิกฤตโควิด” ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “วิกฤตการเมือง”… ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤตเป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และการตัดสินใจที่ล่าช้าของผู้นำรัฐบาล ที่ดูเหมือนยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวที่มากขึ้น

จนสิ่งนี้กลายเป็น “วิกฤตของรัฐบาล” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเช่นนี้จึงเป็นการพิสูจน์อีกครั้งว่า รัฐบาลของผู้นำทหารไทยจะเป็น “ระบอบที่ทนทาน” หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นแรงกดดันทางการเมืองโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล และอาจนำไปสู่ “ความล่มสลาย” ของรัฐบาลนี้ได้ตลอดเวลา

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีรัฐบาลใดสามารถดำรงอยู่ได้ เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมี “ฉันทามติ” ร่วมกันว่า รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพต้องออกไป

ในทำนองเดียวกันไม่มีสังคมใดต้องการจ่ายภาษีให้ผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีที่ไร้ความสามารถนั่งกินเงินเดือนและบริหารประเทศด้วยความล้มเหลวไปเรื่อยๆ

เพราะความล้มเหลวเช่นนี้คือการทำลายอนาคตของสังคมโดยตรง

วันนี้เสียงต่อต้าน เสียงคัดค้านรัฐบาลดังไปทั่วทั้งสังคม…

เสียงเช่นนี้ดังมากขึ้นๆ เรื่อยในสังคมไทย จนก่อตัวเป็น “มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจ” เช่นในปี 2516 อีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ในปัจจุบันว่า วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นได้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำรัฐบาลลงจนหมด อีกทั้งเสียงต่อต้านหลายส่วนก็ดังมาจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารแต่เดิมด้วย

วันนี้คนในสังคมไทยรู้สึกมากขึ้นแล้วว่า ผู้นำทหารและ “รัฐราชการรวมศูนย์” ของพวกเขาไร้ประสิทธิภาพเกินกว่าที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

และที่สำคัญมองไม่เห็นว่า ผู้นำทหารเช่นนี้จะสร้างอนาคตของประเทศไทยได้อย่างไรในยุคหลังโควิด-19

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย?

ดังนั้น หากมองปัจจุบันด้วยคำตอบจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว จึงอดคิดเชิงเปรียบเทียบไม่ได้ว่า สถานการณ์แบบ “14 ตุลาฯ” กำลังหวนกลับมาอีกครั้งหรือไม่?

แรงเสียดทานที่รัฐบาลกำลังเผชิญในปี 2564 นั้น รุนแรงมากกว่ายุคจอมพลถนอม กิตติขจร อย่างเปรียบเทียบไม่ได้เลย ซึ่งแรงเสียดทานในยุค 2516 นั้นไม่หนักมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจ และในชีวิตประจำวัน ยังก่อให้เกิดสึนามิทางการเมือง และพัดพารัฐนาวาของระบอบทหารจมลงอย่างไม่คาดคิด

มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจของประชาชนกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง และท้าทายต่ออนาคตของรัฐบาลปัจจุบันอย่างมาก ในท่ามกลาง “อภิมหาวิกฤต” ครั้งนี้ จึงอดที่จะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ของปี 2516 ไม่ได้ว่า “วิกฤตศรัทธา” ที่ทำลายความน่าเชื่อถือและบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลนั้น จะก่อให้เกิดสึนามิทางการเมืองอีกครั้งในปี 2564 หรือไม่?

แม้ผู้นำทหารในรัฐบาลปัจจุบันอาจจะมองว่า ใน “วิกฤตมีโอกาส” และไวรัสโควิด-19 เป็นโอกาสในการ “ต่ออายุ” ตัวเองในทางการเมือง เพราะการระบาดของโควิดกลายเป็นข้อจำกัดต่อการจัดการประท้วงใหญ่

แต่ในทำนองเดียวกัน ผู้นำทหารก็ต้องไม่ลืมว่าใน “โอกาสก็มีวิกฤต” ฉะนั้น “อภิมหาวิกฤต” ครั้งนี้ จึงท้าทายอย่างมากว่าเรือแป๊ะจะต้านทานคลื่นสึนามิใน “มหาสมุทรแห่งความไม่พอใจ” ของประชาชนได้จริงหรือ!