จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (11) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (11)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

แต่การใช้จินเป็นต้นแบบดังกล่าวก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะถึงที่สุดแล้วชนชั้นนำของจินก็ขัดแย้งกันเอง โดยฝ่ายที่ยึดมั่นในขนบประเพณีเดิมของหนี่ว์เจินเห็นว่า หากยึดระบบของจีนเป็นต้นแบบอย่างเต็มรูปแล้ว ขนบประเพณีเดิมของหนี่ว์เจินก็จะถูกทำลายไปในที่สุด

จากเหตุนี้ ชนชั้นนำจินในบางสมัยจึงกลับไปใช้ขนบประเพณีเดิมของตนเป็นต้นแบบแทน

ภายใต้การเมืองการปกครองเช่นว่าควบคู่ไปกับปฏิสัมพันธ์ที่มีกับซ่งและชนชาติอื่น จินในฐานะราชวงศ์ได้ก้าวมาถึงช่วงที่ชนชาติมองโกลได้เรืองอำนาจขึ้นมา เวลานั้นเศรษฐกิจของจินอ่อนแออย่างยิ่ง และได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ทัพมองโกลบุกเข้าตีจนล่มสลายใน ค.ศ.1234

โดยที่หากนับจากที่อากู๋ต่าตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกแล้ว ราชวงศ์จินจะมีจักรพรรดิทั้งสิ้นสิบองค์

หยวนแห่งมองโกล

บริเวณอันเป็นที่ตั้งของรัสเซียและประเทศในเอเชียกลางปัจจุบันนั้น ในอดีตคือทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล (steppe) ทุ่งหญ้าในส่วนที่อยู่ต่ำสุดของระดับน้ำทะเลคือ 1,640 ฟุต สูงสุดคือ 6,562 ฟุต และทุ่งหญ้านี้คือถิ่นฐานของชนชาติมองโกลและชนชาติอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

โดยในส่วนที่เป็นถิ่นฐานของมองโกลเรียกว่า ทุ่งหญ้าคิพชัค (Qipchak or Kipchak steppe) และทำให้ชนชาติที่อยู่ในแถบนี้ถูกเรียกว่า ชนชาติคิพชัค ก่อนที่จะมาเป็นชนชาติมองโกล ชนชาตินี้จึงอยู่ท่ามกลางการรายล้อมของชนชาติอื่นๆ ไปด้วย

คือหากเป็นไกลสุดของด้านตะวันตกคือ ไนแมน (Naiman) หากเยื้องมาทางตะวันออกของไนแมนคือ เคเรยิด (Kereyid, Keraites) หากเป็นเขตที่ราบสูงมองโกเลียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใจกลางภูมิภาคทะเลทรายโกบีคือ ชนชาติที่พูดภาษาเติร์กอองกัด (Turkic-speaking ?ngg?d, ?ng?d, Onggut, Onggud)

หากถัดจากอองกัดขึ้นไปทางเหนือและครอบครองที่ลาดชันหุบเขาคินกันใหญ่ (the Great Khingan Range) คือ อองกีราด (Onggirad, Khonggirad) หากเป็นทุ่งหญ้าทางใต้ของแม่น้ำเคอร์เลน (Kherlen River)* คือ ตาตาร์ (Tatar) ที่เปี่ยมอำนาจและมากด้วยความก้าวร้าวบนที่ราบสูงมองโกเลีย (Mongolian plateau)

หากขึ้นไปทางเหนือของตาตาร์ระหว่างแม่น้ำเคอร์เลนกับแม่น้ำโอนาน (Onan River) คือ มองโกล และหากเป็นด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมองโกลก็คือ เมอร์คิดทั้งสาม (the Three Merkid) ซึ่งเป็นชนชาติที่แบ่งออกเป็นสามสาย

การอยู่ท่ามกลางชนชาติต่างๆ เช่นนี้ดำรงมาช้านานก่อนที่มองโกลจะตั้งตนเป็นใหญ่

แม้จะเป็นชนชาติที่อาจด้อยความเจริญกว่าจีน แต่มองโกลก็มีระเบียบสังคมเป็นของตนเช่นกัน คือมีกฎเกณฑ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน มีช่วงชั้นทางสังคมที่แบ่งเป็นพวกผู้ดี สามัญชน และคนนอกที่เข้ามาร่วมอาศัยอยู่

ฐานะทางสังคมของพวกผู้ดีจะมีการสืบทอดผ่านสายเลือดและวงศ์ตระกูล เช่นเดียวกับการเลือกผู้นำที่ใช้เกณฑ์นี้เช่นกัน และแม้จะเห็นได้ว่าการเลือกผู้นำของมองโกลมีอิสระสูง แต่ก็พิจารณาคุณลักษณะของผู้ที่จะถูกเลือกประกอบอยู่ด้วย

ส่วนในด้านชีวิตความเป็นอยู่จะขึ้นอยู่กับสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก และสัตว์เลี้ยงที่สำคัญจะมีห้าชนิดคือ ม้า แกะ อูฐ วัว และแพะ

โดยม้าถือเป็นสมบัติที่มีราคาสูงของชนชาติแห่งทุ่งหญ้าเหล่านี้

ม้าจะถูกใช้ในการทหาร การขนส่ง และช่วยต้อนฝูงสัตว์เลี้ยง ปราศจากม้าแล้วเศรษฐกิจแห่งทุ่งหญ้าก็มิอาจขับเคลื่อนไปได้

ถัดมาคือ แกะและแพะ ซึ่งมีลำดับความสำคัญท้ายสุดเป็นอาหารและใช้ขนมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาคือ อูฐ ที่มีไว้บรรทุกสัมภาระเมื่อเดินทางไปทางใต้ซึ่งต้องผ่านทะเลทรายโกบีอันแห้งแล้ง สุดท้ายคือ วัวเขายาวและมีความแข็งแรงที่เป็นได้ทั้งอาหาร นำหนังมาทำเป็นกลอง และใช้สำหรับเดินทางในบางครั้ง

แต่กระนั้น ข้าวของเครื่องใช้ที่มีชื่อเสียงของมองโกลกลับเป็นเกวียนที่มีล้อขนาดใหญ่ เกวียนจะเทียมด้วยวัวจำนวนหนึ่งเพื่อบรรทุกกระโจมของเหล่าผู้นำในเวลาย้ายถิ่น ดังนั้น กระโจมจึงเป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับมองโกลจนเป็นเอกลักษณ์

และทำให้ได้รับฉายาว่า “ชาวกระโจมสักหลาด” (peoples of the felt tent) โดยสักหลาดเป็นผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์เป็นพื้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของมองโกลพบว่า คำที่เรียกว่า มองโกล ปรากฏครั้งแรกในบันทึกของราชวงศ์ถัง โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในสาขาของชนชาติซือเหว่ย และมีถิ่นฐานอยู่ทางใต้ของแม่น้ำอามูร์ใกล้กับหุบเขาคินกันน้อย (Lesser Khingan Range)

ซือเหว่ยมีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการเกษตรแบบบรรพกาล เลี้ยงหมู ล่าสัตว์ จับปลา และการดำรงชีพแบบชาวชนบท

ที่สำคัญ มีกิตติศัพท์ในเรื่องของการเป็นนักรบที่น่ากลัว

ด้วยกิตติศัพท์นี้มองโกลจึงสร้างความรู้สึกที่เป็นภัยคุกคามให้แก่เพื่อนบ้านอยู่เสมอ กระนั้น บันทึกของถังก็ระบุว่า มองโกลเป็นชนชาติที่ขึ้นต่อผู้นำเติร์กที่ครอบงำที่ราบสูงมองโกเลียในช่วง ค.ศ.553-745 มองโกลดำเนินชีวิตที่ว่านี้เรื่อยมาจนถึงวันที่ตั้งตนเป็นใหญ่

ช่วงของการตั้งตนเป็นใหญ่ของมองโกลเป็นเรื่องที่ถูกเล่าขานกันมานาน และเป็นที่รู้จักกันดีมากกว่าการตั้งตนเป็นใหญ่ของชนชาติอื่นในยุคสมัยเดียวกัน (ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้ว)

เรื่องที่ถูกเล่าขานจนรู้กันโดยทั่วไปก็คือเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อว่า เจงกิสข่าน (Genghis Khan, ค.ศ.1158-1227)

การบอกเล่าเรื่องนี้เป็นไปอย่างพิสดารผ่านบันทึกของมองโกลที่เรียกขานกันว่า พงศาวดารลับ (Secret history) พงศาวดารนี้เล่าว่า มองโกลมีกำเนิดจากการจับคู่กันของหมาป่าสีฟ้าเทากับแม่กวางแดงแสนงามตัวหนึ่ง

การจับคู่มีขึ้นที่ชายฝั่งทะเลสาบใหญ่ตามที่สวรรค์บัญชา แต่ด้วยเหตุที่มองโกลปกปิดดินแดนนี้ไม่ให้คนภายนอกได้รู้หลังจากที่เจงกิสข่านสิ้นชีพ จึงไม่มีผู้ใดทราบว่าดินแดนแห่งนี้อยู่ที่ไหน ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อแม่น้ำหรือภูเขามาจนถึงทุกวันนี้

 

เมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้วมองโกลก็เข้าไปอยู่ตรงพื้นที่รอบๆ ภูเขาเบอร์คาน คัลดุน (Burkhan Khaldun) ที่ปัจจุบันคือบริเวณหุบเขาเคนไต (Khentei Range) ที่อยู่ใกล้กับต้นแม่น้ำโอนานกับแม่น้ำเคอร์เลน

ที่แห่งนี้หมาป่าได้ให้กำเนิดทารกชายชื่อ บาตาจีข่าน (Batachikhan) ผู้ซึ่งต่อมาจักได้ให้กำเนิดลูกหลานออกมาเป็นชาวมองโกล ตราบจนลูกหลานรุ่นที่ 11 ของบาตาจีข่านจึงได้ให้กำเนิดทารกชายที่มีชื่อว่า เตมูจิน ซึ่งต่อมาก็คือ เจงกิสข่าน

พงศาวดารลับ เล่าเรื่องเตมูจิน (ประมาณ ค.ศ.1158-1227) ด้วยความพิสดารว่า หญิงสาวคนหนึ่งมีชายมาสู่ขอ และเมื่อแต่งงานแล้วก็เดินทางไปสู่บ้านของสามี ระหว่างทางมีชายคนหนึ่งบุกชิงเอาตัวภรรยาไปโดยผู้เป็นสามีมิอาจทำอะไรได้ ชายผู้มาชิงตัวจึงได้หญิงสาวมาเป็นภรรยาของตน

ครั้นเวลาผ่านไปนางจึงได้ให้กำเนิดเตมูจิน

เล่ากันว่า ตอนที่เตมูจินคลอดออกมานั้นในมือของเขาได้กำบางสิ่งเอาไว้ และเมื่อผู้เป็นมารดากางนิ้วของทารกออกมาก็พบว่า มือนั้นได้กำลิ่มเลือดสีดำขนาดเท่ากับกระดูกข้อนิ้วเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เตมูจินจะคลอด บิดาของเขากำลังทำศึกกับตาตาร์และได้สังหารขุนศึกคนหนึ่งที่มีชื่อว่า เตมูจิน อูจ เสียชีวิต และเมื่อเขากลับมาก็พบว่า ภรรยาที่เขาชิงตัวมาจากผู้อื่นได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่เขา บิดาของเขาจึงนำชื่อขุนศึกที่ตนสังหารมาตั้งเป็นชื่อของบุตร

เกี่ยวกับเรื่องชื่อนี้ยังมีข้อถกเถียงไปทางอื่นอยู่ด้วย ว่าจริงๆ แล้วอาจเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้มีความหมายที่ดีก็ได้ เพราะหลังจากนั้นเตมูจินมีน้องอีกสองจากสามคนที่มีคำว่า เตมู ประกอบอยู่ในชื่อ และคำว่า เตมูล ในภาษามองโกลหมายถึง การพุ่งทะยานไปข้างหน้า

ซึ่งเป็นความหมายที่เป็นมงคล

*แม่น้ำนี้จีนเรียกว่า เค่อหลู่หลุน (Kelulun) ด้วยเหตุนี้ ชื่อแม่น้ำนี้จึงมีบางที่เรียกว่า เครูเลน (Ker?len).