เขาอยากอยู่ยาว…ยาวเกินไป/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เขาอยากอยู่ยาว…ยาวเกินไป

 

สถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่ามาถึงจุดวิกฤตอย่างมาก เพราะวิกฤตโควิดนั่นเองที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งรุนแรง กระแสต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกวงการ ด้วยความไม่พึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดอย่างล้มเหลว เพราะการจัดหาวัคซีนที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง

แทนที่วัคซีนจะแก้ได้ทั้งโควิดและฟื้นเศรษฐกิจ แต่เพราะวัคซีนที่ล่าช้ามาน้อยและแทงม้าตัวสองตัว จึงทำให้ไม่สามารถแก้ได้ทั้งโควิดและการฟื้นเศรษฐกิจ

จากม็อบคนรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวอย่างร้อนแรงเมื่อปี 2563 เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

พร้อมกับเปิดประเด็น การเมืองดี จะทำให้เศรษฐกิจดี ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนจะดีขึ้น

บัดนี้ด้วยสถานการณ์โควิด ได้ทำให้ประชาชนวงกว้าง ไม่แค่คนรุ่นใหม่อีกแล้ว ที่มองเห็นโดยทั่วกันว่า เพราะการเมืองในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงเช่นนี้ ทำให้ได้รัฐบาลที่ผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียว ต้องมีนายกฯ ที่เป็นอดีตนายทหารผู้นำกองทัพมายาวนานถึง 7 ปี

จึงไม่อาจรับมือกับปัญหาใหญ่ร้ายแรงระดับโลกครั้งนี้ได้

ในวิกฤตด้านโรคระบาด ต้องได้ผู้นำที่รอบรู้เท่าทันโลก มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้ได้ว่าต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้ได้อย่างไร วัคซีนตัวไหนยี่ห้อไหนที่จะหยุดโควิดได้ดีที่สุด และอาศัยสายสัมพันธ์ในระดับผู้นำโลกด้วยกันอย่างไร จึงจะติดต่อสั่งซื้อมาได้รวดเร็ว

ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่พังทลายอย่างรุนแรงที่สุด ย่อมต้องได้ผู้นำที่เชี่ยวชำนาญในการกอบกู้ธุรกิจการค้า พลิกแพลงนโยบายในการปลุกเศรษฐกิจให้โงหัวขึ้นมาได้อย่างไร

แต่นี่เรามีผู้นำที่เริ่มต้นจากการเข้ามาด้วยรัฐประหารเมื่อปี 2557 และอยู่ยาวมาจนถึงวันนี้!

เพราะการวางแผนยึดกุมอำนาจอย่างยาวนานเกินไป จนมาเจอปัญหาที่เกินขีดความสามารถปกติ จึงกลายเป็นความผิดพลาดล้มเหลว

ที่เรียกกันว่าถึงจุดเสื่อมทรุดสุดขีด ก็ได้เห็นกันในวันนี้

ทำให้ต้องนึกถึงคำกล่าวอันอมตะของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มือร่างรัฐธรรมนูญให้กับ คสช.ฉบับแรก ที่ถูกคว่ำกลางที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนเกิดบทสรุปว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

ย่อมสามารถตีความได้ว่า อยากอยู่ยาวด้วยการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก เพื่อให้ร่างกันใหม่อีกรอบ ทำให้ยืดเวลาอยู่ยาวออกไป และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มกลไกให้อยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนานด้วยนั่นเอง

เขาอยากอยู่ยาว แต่เพราะอยากอยู่ยาวมากเกินไป จึงทำให้มาถึงจุดเสื่อมทรุดสุดอันตรายในวันนี้

 

การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำกองทัพ เรียกได้ว่าเป็นภาค 2 ภาคต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

การรัฐประหารภาค 2 ได้เกิดคำพูดที่อธิบายความเป็นมาอย่างชัดเจนว่า เพราะรัฐประหารของบิ๊กบังในปี 2549 นั้น ทำแล้วเสียของ เลยต้องมีรัฐประหาร 2557 เพื่อให้เรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

การรัฐประหารที่นำโดยบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เสียของ เพิ่มดีกรีหลายๆ อย่าง เพื่อกระชับอำนาจให้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ในการกวาดล้างขั้วอำนาจฝ่ายนักการเมืองให้หมดสิ้น

ฉุดการเมืองไทยให้ถอยหลังไป 40 ปี ให้คล้ายกับยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกฯ ยาวนาน โดยไม่ต้องลงเลือกตั้งเอง รอให้พรรคการเมืองมาเชื้อเชิญ แล้วพรรคการเมืองเป็นตัวประกอบในรัฐบาล

โดยไม่คิดให้รอบคอบว่า สถานการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้วกับยุคสมัยนี้ต่างกันลิบลับ

นับตั้งแต่เป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 จนมีการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 แล้วเป็นนายกฯ ต่อ ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยให้ทุกอย่าง มีพรรค 250 ส.ว.รอโหวตให้เป็นนายกฯ ล่วงหน้า จะพบว่า จาก 5 ปีแรก ที่อาจจะมั่นคงทางการเมือง เพราะเป็นรัฐบาลทหาร ไม่มีสภาผู้แทนฯ คอยตรวจสอบ แต่ก็เต็มไปด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเป็นธรรมชาติของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะต้องถูกแอนตี้จากทั่วโลก

ครั้นเมื่อเป็นนายกฯ ต่อในรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเผชิญกับการเมืองที่มีสภาผู้แทนฯ คอบตรวจสอบ หนักกว่านั้นเจอวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงโควิด ที่ฉุดเศรษฐกิจพังทลาย

วันนี้จึงเริ่มเกิดคำถามว่า ทำไมการรัฐประหารหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นำโดยบิ๊กบังเมื่อ 19 กันยายน 2549

จึงเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบรีบมารีบกลับ!

การรัฐประหารของบิ๊กบังยิ่งชัดเจนว่า ยึดอำนาจเสร็จ ตั้งรัฐบาลที่เอา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ แล้วตัวเองก็รีบถอยกลับสู่กรมกองทันที จนถูกกล่าวหาจากนายทหารรุ่นหลังว่า เสียของ

แต่อธิบายได้ว่า พล.อ.สนธิคงประเมินศักยภาพในฐานะผู้นำกองทัพออกว่า เป็นคนละเรื่องกับการเป็นนายกฯ บริหารบ้านเมือง

อีกทั้งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า การรัฐประหารจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทันที การค้าการส่งออกถูกปิดกั้นทันที เป็นตัวเลขความเสียหาย ที่ผู้นำรัฐประหารควรรู้ดีว่า เกินกว่าจะรับผิดชอบได้

แต่การรัฐประหารเมื่อ 2557 ประกาศว่า จะไม่ให้เสียของแบบหนก่อน คราวนี้อยู่ยาว สร้างกลไกกติกามากมายเพื่อควบคุมอำนาจไว้ให้ยาวนาน

มาเจอโควิดเข้าให้ คราวนี้ยิ่งกว่าเสียของอีกหลายเท่าเลยทีเดียว!

 

ด้วยขุมข่ายอำนาจที่สนับสนุนอุ้มชู พล.อ.ประยุทธ์มีกองทัพเป็นแบ๊กอันแข็งแกร่ง จึงกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้รัฐบาลนี้ล้มได้ง่ายๆ จะใช้ประเด็นข้อกฎหมายอะไร ยื่นร้องอะไรก็ตาม ลงเอยก็ทำอะไรไม่ได้

ทุกอำนาจโอบอุ้มรัฐบาลนี้อย่างมั่นคง

แต่ที่ไม่มั่นคงก็คือ การถูกประชาชนวงกว้างที่เริ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างร้อนแรง

เพราะความยากลำบากที่หนักหนาสาหัส ขาดแคลนวัคซีนจนไม่อาจหยุดการระบาดของโควิดได้ คนติดเชื้อเพิ่มพรวดทุกวัน คนเสียชีวิตรายวันมากมายอย่างน่ากลัว จำนวนมากต้องนอนป่วยหนักรอความตายอยู่ที่บ้าน ด้วยโรงพยาบาลไม่เพียงพอ คนที่รู้ว่าเสี่ยงต้องการตรวจเชื้อ ต้องไปนอนรอคิวริมถนนตั้งแต่ค่ำ ตากฝน โดนยุงกัด เพื่อลุ้นคิวในช่วงเช้า

ยิ่งโควิดลุกลาม เศรษฐกิจการค้าก็ยิ่งเสื่อมทรุด กิจการร้านค้าเจ๊งระนาว คนตกงานมากมาย หนี้สินพอกพูน คนฆ่าตัวตายเพราะไร้ทางออก มีอยู่เป็นระยะๆ

เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อให้คนเก่งกาจมีความสามารถเข้ามาแก้ไขสถานการณ์นี้ กระหึ่มไปทั่ว!

แวดวงศิลปินดารา ที่ตกเป็นจำเลยสังคมมาตลอด เพราะมีส่วนสำคัญในการเข้าไปร่วมม็อบ กปปส. ล้มรัฐบาลประชาธิปไตย กวักมือเรียกทหารให้เข้ามายึดอำนาจ จนได้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวมาจนถึงวันที่ทั้งประเทศเผชิญวิกฤตรอบด้าน

เริ่มออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาลกันถ้วนหน้า ด้านหนึ่งเพราะโดนล็อกดาวน์จนได้รับผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรงไปด้วย อีกด้านเพราะไปมีส่วนร่วมในการออกบัตรเชิญทหาร

แม้ว่ารัฐบาลจะยั่งมั่นคง ด้วยขุมอำนาจยังปกป้อง กองทัพยังสนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่ภายใต้แรงต่อต้านอย่างมากมายจากประชาชน ที่คงจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่มีการหาทางออกที่เหมาะสมทันสถานการณ์

สังคมไทยที่เต็มไปด้วยความไม่พอใจจากประชาชนอันร้อนแรง กำลังเข้าสู่จุดอันตรายที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง!