เศรษฐกิจ/ส่องเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ’60 กับข้อกังขาฝนตกไม่ทั่วฟ้า ของจริงหรือภาพลวง

เศรษฐกิจ

ส่องเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ’60
กับข้อกังขาฝนตกไม่ทั่วฟ้า
ของจริงหรือภาพลวง

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ต่อเนื่องและอาจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออก ที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนความต้องการบริโภคในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาขยายตัวแล้วกว่า 7.2% ทำให้เป้าหมายการส่งออกปีนี้ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งปีที่ 5% น่าจะมีความเป็นไปได้

แรงหนุนเศรษฐกิจที่เดินเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งรัดการดำเนินโครงการ ทั้งการประมูล การลงนามสัญญา ก่อนจะลงทุนจริง ในโครงการลงทุนทั้งรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โครงการรถไฟทางคู่ การผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมา

อย่างโครงการที่มีความยืดยื้อมานานหลายปี ได้แก่ โครงการรถไฟไทยจีน ก็ได้มีคำสั่งมาตรา 44 ออกมาปลดล็อกกฎระเบียบที่ยังติดขัดเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น
ด้านการบริโภค เริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้างในบางภาคส่วน โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตร เพราะรายได้จากผลผลิตการเกษตรดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่รายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากนัก ทำให้กำลังซื้อโดยรวมยังอ่อนแออยู่
แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี ทำให้เริ่มเห็นเอกชนที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกเริ่มลงทุนบ้าง
แต่โดยรวมยังชะลอตัว เพราะยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ใหม่
โดยตัวเลขล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.3% การส่งออกขยายตัว 3.6% การบริโภคเอกชนขยายตัว 3.0% การลงทุนเอกชนขยายตัว 2.0% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.6%
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขจีดีพีใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% เพราะมีบางปัจจัยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เช่น ภาคการส่งออก
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จึงได้ปรับเพิ่มการขยายตัวของจีดีพีเป็น 3.5% จากเดิม 3.4% โดยเฉพาะจากการส่งออกที่ปรับขึ้นเป็น 5.0% จากเดิมที่คาดไว้ 2.2% ทำให้การนำเข้าสินค้าขยายตัวดีขึ้นเป็น 10.9% จากเดิม 7.2%
รวมทั้งคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 34.9 ล้านคน จากเดิม 34.5 ล้านคน ขณะที่การบริโภคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.1% จากเดิม 2.7% ตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว
ดังนั้น ช่วงที่เหลือของปีนี้ ต้องติดตามว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำในช่วงปีก่อนและขยับขึ้นมาบ้างในปีนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับดีขึ้น แต่ผลของราคาและส่วนต่างราคาน้ำมันจะชะลอลง

สําหรับปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐว่าจะมีการเริ่มลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณอย่างไร เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนเอกชน
ทั้งนี้ ต้องติดตามการบริโภคว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะรายได้เกษตรกรอาจจะถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัว
รายได้แรงงานภาคการผลิตที่ยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะยังไม่มีการทำงานล่วงเวลาและผลประกอบการธุรกิจอาจจะไม่ดีมากนักทำให้ได้เงินโบนัสลดลง ทั้งยังต้องติดตามปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่หนี้เสียยังเพิ่มขึ้น
และผลกระทบจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานจะส่งผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมได้

รวมทั้งกรณีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐยังคงอันดับการค้ามนุษย์ของไทย อยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตามเดิมเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย เพราะหากอยู่ติดต่อกันครบ 2 ปีมีโอกาสที่จะถูกปรับลดระดับไปเป็น เทียร์ 3 ในการประเมินครั้งต่อไปได้หากไม่ได้รับการผ่อนผัน ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐดำเนินมาตรการกีดกันการส่งออกในอุตสาหกรรมที่พบรายงานการค้ามนุษย์กับไทย
และยังต้องจับตาการทบทวนสถานะใบเหลืองในเรื่องแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) จากสหภาพยุโรปในเดือนตุลาคมนี้

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นห่วงว่าจะเป็นการกระจุกตัวอยู่ในบางภาคส่วนหรือไม่ เพราะดัชนีความเชื่อมั่น ที่สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ได้สำรวจนั้น พบว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม
อย่างศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 74.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และหลายรายการมีราคาปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก
ขณะที่การสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่แม้พบว่าดัชนีเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 จากความกังวลที่ลดลงต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ราคาน้ำมัน ราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากการจัดโปรโมชั่นช่วงกลางปี และด้านภาระหนี้สินเป็นสำคัญ เพราะภาครัฐมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน
แต่ก็มีความกังวลว่าบางปัจจัยอาจเป็นปัจจัยเฉพาะชั่วคราว

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ดัชนีในเดือนมิถุนายนปรับลดลงอยู่ที่ 50.7 จากเดือนก่อน ที่ 52.3 จากความกังวลด้านยอดขาย เพราะดัชนีคำสั่งซื้อและผลประกอบการที่ลดลงของผู้ประกอบการในภาคการค้า
สะท้อนการใช้จ่ายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง
สอดคล้องกับความกังวลของผู้ประกอบการที่เห็นว่าความต้องการจากตลาดในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำยังเป็นข้อจำกัดอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจ แต่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการส่งออก ตามภาวะการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

ขณะที่ “อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานคณะกรรมการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าการให้ข่าวของภาครัฐที่ออกมาทำให้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

และต้องพิจารณาว่าเศรษฐกิจจริงในภาคสนามสะท้อนความเป็นจริงหรือไม่ หรือแค่เป็นการพูดเพื่อให้เกิดกำลังใจ เชื่อว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ดีขึ้น แต่ครอบคลุมหรือฝนตกทั่วฟ้าหรือไม่ หรือยังกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น
ดังนั้น ในช่วงที่เหลืออยู่ของปีนี้ ต้องติดตามว่าการฟื้นตัวของการส่งออกและการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนเติบโตแบบกระจายตัวได้หรือไม่ เพราะการเติบโตจากภายในจึงจะทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างแท้จริง!