ธุรกิจมึนปัญหาวัคซีนบานปลาย หวั่นล็อกดาวน์ ‘ไร้ผล…เจ็บแต่ไม่จบ’ เป้าเปิดประเทศ 120 วัน ฝันสลาย!/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ธุรกิจมึนปัญหาวัคซีนบานปลาย

หวั่นล็อกดาวน์ ‘ไร้ผล…เจ็บแต่ไม่จบ’

เป้าเปิดประเทศ 120 วัน ฝันสลาย!

ถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่าการประกาศยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด แดงเข้ม (กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา) ที่มีระยะเวลา 14 วัน (12-25 กรกฎาคม) อาจจะไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร

สะท้อนจากยอดผู้ติดป่วยรายใหม่ที่ใกล้จะทะลุหลักหมื่น

ขณะที่ผู้เสียชีวิตในแต่ละวันที่ยังพุ่งเข้าใกล้หลักร้อย

โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ในหลายๆ จังหวัด

ที่สำคัญ ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ (25 มิถุนายน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เพิ่งจะประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมาแล้วระลอกหนึ่ง หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณว่า ทั้งการปิดแคมป์คนงานนาน 1 เดือน (เริ่ม 28 มิถุนายน) การตั้งด่านตรวจโควิด และมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เป้าหมายเพื่อควบคุมการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

การระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและเกรี้ยวกราดมากขึ้น อีกด้านหนึ่งทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทุกภาคส่วนเริ่มมีความไม่มั่นใจและวิตกว่า มาตาการล็อกดาวน์ 14 วันดังกล่าวจะเอาไม่อยู่และมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจ้องขยายเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์โควิดปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 8,000-9,000 คน แต่หายป่วยวันละ 3,000 คน เรียกว่าเป็น negative base ประมาณวันละ 5,000 คน น่าห่วงมาก คาดเดาว่าล็อกดาวน์ 14 วันน่าจะยังไม่เพียงพอ แต่จะล็อกดาวน์อีกเท่าไหร่ 7 วัน หรือ 30 วัน ต้องให้คนที่มีข้อมูลเพียงพอตอบ

ถ้าจำเป็นต้องล็อกดาวน์เพิ่มก็ต้องล็อกดาวน์ แต่คนที่อ่อนแอ คนมีรายได้จำกัด คนทำร้านอาหาร คนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวต้องได้รับการเยียวยา และมาตรการเยียวยาต้องทั่วถึง เท่าเทียม เพียงพอด้วย

ครึ่งปีหลังลำบากกว่าที่คิด จุดเน้นสำคัญที่สุดคือเรื่องการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ทั่วถึง เท่าเทียม รวดเร็ว หากทำได้จะแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวได้

ต่อคำถามที่ว่า ล็อกดาวน์ 14 วันกระทบแผน 120 วันเปิดประเทศหรือไม่ คีย์แมนแสนสิริบอกว่า

“คำตอบเหมือนกันกับคำถามล็อกดาวน์ 14 วันเพียงพอไหม แนวโน้มน่าจะลำบาก แต่ถ้าเร่งฉีดวัคซีนทั่วถึง เท่าเทียม รวดเร็ว ยังมีความเป็นไปได้สูง ก็เอาใจช่วย แต่คิดว่าคงยาก ถ้าวัคซีนไม่มาคงลำบาก”

 

ขณะที่ “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า การขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีกจะทำให้สถานการณ์แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ขึ้นไปอีก ทั้งความเป็นอยู่ของผู้คน เศรษฐกิจ กำลังซื้อ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ และปัญหาที่ตามมาคือ แรงงาน ผู้คนตกงาน ไม่มีเงิน ยิ่งล็อกดาวน์นานเท่าไหร่ เงินก็เริ่มหมด ถ้าสายป่านยาวไม่พอล่มสลายแน่ๆ

ดังนั้น ภาครัฐต้องหามาตรการเยียวยา ทางออกคือ รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด วัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ คนยิ่งได้ฉีดเร็วเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดการระบาดและการเสียชีวิต

สำหรับสหพัฒนฯ เองอาจจะได้รับกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ธุรกิจที่หนักมากคือ ผู้ประกอบการในภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านสปา ธุรกิจท่องเที่ยว ที่หลายๆ คนอยากกลับมาเปิดเร็วๆ แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระจายวัคซีนยังไม่ครอบคลุม

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายใหญ่ ระบุว่า จากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีกหลายๆ ราย รวมถึงซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มั่นใจว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้จะเจ็บแล้วจบ

การล็อกดาวน์ครั้งนี้แม้จะเพียง 14 วัน แต่ก็ทำให้ธุรกิจที่หนักอยู่แล้วก็หนักมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น อย่างยิ่งในเรื่องของรายได้และสภาพคล่อง เพราะรายได้หรือยอดขายที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มน็อนฟู้ด แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตอนนี้สินค้าที่ยังพอจะขายได้หลักๆ ก็เป็นกลุ่มอาหาร

“หลังล็อกดาวน์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การตกงาน เพราะการล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้ามา สภาพคล่องมีปัญหา ผู้คนระมัดระวังใช้จ่าย แม้รัฐจะช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลน แต่ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีสายป่านไม่ยาวจะหนัก การฟื้นธุรกิจต้องใช้เวลานานขึ้น”

 

ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาค สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การล็อกดาวน์แบบครึ่งๆ กลางๆ 14 วัน จะควบคุมโรคระบาดได้อย่างไร ขณะที่สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว การที่จะรอดูสถานการณ์ผู้ติดเชื้อแล้วค่อยประกาศล็อกดาวน์เพิ่ม แบบนี้เป็นการวิ่งไล่ตามปัญหา และปัญหาจะใหญ่มากขึ้น

การประกาศเซมิล็อกดาวน์ของรัฐบาล มองว่าอาจเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลเพื่อรอวัคซีนล็อตใหญ่ในเดือนตุลาคม คำถามคือซื้อเวลาด้วยเซมิล็อกดาวน์ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 8-9 พันคน แต่หายกลับบ้านไม่ถึง 50% ขณะที่มีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวกว่า 9 หมื่นราย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ระบบสาธารณสุขเต็มกำลังแล้ว ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ไม่เพียงพอ ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วัคซีนไม่เพียงพอ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร

เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ได้มีการปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลงมาเหลือ 1.5% แต่จากสถานการณ์ระบาดตอนนี้ก็คงต้องมีการปรับอีกรอบ ซึ่งตัวเลขจีดีพีอาจจะยังมีการขยายตัวได้บ้าง ถ้าภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวหลักของเศรษฐกิจไทยยังสามารถทำงานได้ แต่ตอนนี้เป็นห่วงว่าโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ๆ ที่พบการติดเชื้อจะสามารถควบคุมการระบาดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้หรือไม่

“การล็อกดาวน์ 10 จังหวัดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-55% ของจีพีดีประเทศ หากกระทบ 1% ก็เท่ากับเศรษฐกิจ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ารัฐบาลมีการใช้งบประมาณเพียง 3-4 หมื่นล้าน สั่งซื้อวัคซีนมาให้ประชาชนตั้งแต่ต้นปี ความเสียหายก็จะน้อยกว่านี้”

 

สถานการณ์โควิดที่เข้าขั้นวิกฤต และลุกลามส่งผลกระทบไปทั่วทุกสารทิศ รวมถึงปมปัญหาเรื่องวัคซีนที่เป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาโควิดยังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเฉพาะการเร่งปูพรมฉีดที่ตัวเลขยังห่างไกลจากเป้าที่วางไว้มาก เป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกลับมาทบทวนแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามเคยประกาศแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

16 ตุลาคม…แผนการเปิดประเทศจะสำเร็จได้ตามฝันหรือไม่

สุดท้ายแล้ว คำตอบอยู่ที่วัคซีนโควิด-19 เพียงตัวเดียว!