สิ่งแวดล้อม : บทเรียนจาก ‘หมิงตี้’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
กลุ่มควันพิษจากเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ย่านกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ลอยผ่านหมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง เขตสะพานสูง กทม. เมื่อเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2564

 

 

บทเรียนจาก ‘หมิงตี้’

 

เที่ยงวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม ระหว่างนั่งดูข่าวไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ประเมินสถานการณ์ว่า จะทำอย่างไรดีเพราะควันดำทะมึนลอยเหนือโรงงานซึ่งอยู่ย่านกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เกิดจากการระเบิดของสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ มองเห็นได้ชัดจากบ้านพักของผม

แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนที่พักอาศัยของผู้คนรอบๆ โรงงานนับร้อยหลังคาเรือนได้รับความเสียหายตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตอนเช้าตรู่ของวันนั้น

ระยะทางจากโรงงานถึงบ้าน ใช้แอพพ์ในโทรศัพท์มือถือวัดได้ 11 กิโลเมตร ถือว่าอยู่ในระยะต้องเฝ้าระวัง ใครที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้รับแจ้งเตือนให้อพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากไฟอาจลุกลามไหม้ถังเก็บสารเคมีขนาด 20,000 ลิตร

ดูข่าวแล้วจินตนาการตาม ถ้าถังสารเคมีลูกนั้นระเบิดไฟลุกไหม้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

เปลวไฟเผาสารสไตรีนโมโนเมอร์ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โฟมและพลาสติก เกิดเขม่าควันอันตรายต่อระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับไตและฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาหรือสูดดมเข้าไป ทำให้เยื่อเมือกเกิดการระคายเคือง มีอาการไอและหายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม

 

ตกบ่ายเฝ้ามองควันเห็นก้อนดำรวมตัวหนาใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม ประเมินแล้วถ้าควันพิษจากสารเคมีลอยมาถึงบ้าน ครอบครัวผมอาจเสี่ยงอันตราย เพราะข่าวบอกว่าถ้าถังสารเคมีระเบิด ควันพิษกระจายในรัศมี 10 กิโลเมตร จึงยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน

ผมขอร้องให้หลานๆ ช่วยกันเก็บข้าวของที่จำเป็น พร้อมกับอ้อนวอนคุณแม่และน้าสาวขึ้นรถไปบ้านน้องสาวย่านฝั่งธนฯ

คืนวันนั้น เฝ้าจับจ้องมองทีวีรายงานสดจากจุดเกิดเหตุพร้อมๆ กับอ่านข่าวด่วนในโทรศัพท์มือถือจนหลับคาจอ รุ่งเช้าอีกวันยังมีการรายงานข่าวนี้จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลงในเวลาต่อมา

ระหว่างดูข่าว “หมิงตี้” รู้สึกเป็นโกรธเป็นแค้นฝ่ายอำนาจรัฐที่ไม่เป็นมืออาชีพและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกับสถานการณ์วิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คลิปสดๆ เผยแพร่ว่อนโลกโซเชียลแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำงานอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ขณะที่เครื่องมืออุปกรณ์ไร้ฤทธิ์เดชสู้กับเปลวไฟจากสารเคมีไม่ได้เลย

ไฟลุกโหมอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องเผ่นกระเจิง มีอยู่คนหนึ่งพยายามออกจากจุดเกิดเหตุแต่ไม่ทัน โดนไฟคลอกเสียชีวิตอย่างอนาถ

“กรสิทธิ์ ราวพันธ์” หรือพอส นักดับเพลิงวัย 18 ปี สังกัดหน่วยกู้ภัยสมเด็จเจ้าพระยา ผู้สังเวยชีพจากเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ามีความกล้าหาญน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

แต่ผมไม่มั่นใจว่า “พอส” ผ่านประสบการณ์ฝึกอบรมดับเพลิงที่เกิดจากสารเคมีมากน้อยแค่ไหน มีอุปกรณ์ป้องกันภัยที่ดีเพียงพอหรือไม่

น่าสงสัยว่าก่อนระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัยเข้าไปในจุดเสี่ยงพื้นที่โรงงานหมิงตี้ หน่วยปฏิบัติการกู้ภัย วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบเพียงใด

เอาพิมพ์เขียว แบบแปลนของโรงงานมากางดูว่า ตรงไหนเป็นที่ตั้งสารเคมี แนวไฟจะพุ่งทางทิศไหน ควรจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปหรือไม่ ถ้าเกิดระเบิดซ้ำมีวิธีป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตราย และกระบวนการอพยพคนต้องจัดการบริหารอย่างไร?

ที่น่าสงสัยยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีข่าวว่า นายกฯ สั่งให้หน่วยทำฝนเทียมเข้ามาช่วยดับไฟโรงงานหมิงตี้ ทั้งๆ ที่รู้เป็นไฟไหม้เกิดจากสารเคมีอันตราย หากฉีดน้ำจะเกิดปฏิกิริยามีผลกระทบกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นับเป็นโชคดีที่คำสั่งถูกยกเลิกในภายหลัง แต่สะท้อนองค์ความรู้ของผู้ให้คำแนะนำกับนายกฯ และการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งของผู้นำประเทศ

 

โรงงานหมิงตี้ได้รับการอนุญาตตั้งอยู่ในพื้นที่กิ่งแก้วเมื่อปี 2534 เวลานั้นยังเป็นท้องไร่ท้องนาที่เปลี่ยว จนกระทั่งความเจริญแผ่เข้ามา หมู่บ้านจัดสรร ตึกแถว ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดรายล้อมโรงงานหมิงตี้

มีคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐต่อใบอนุญาตให้โรงงานเดินเครื่องผลิตต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี?

ในทางกลับกัน การอนุญาตให้หมู่บ้านจัดสรร คอนโดฯ ก่อสร้างในรัศมีโดยรอบของโรงงานทั้งที่รู้ว่ามีสารเคมีอันตราย นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้อนุญาตมองแค่การหาเงินรายได้เข้ารัฐ หรือคิดแง่ร้ายการเซ็นใบอนุญาตให้ก่อสร้างเพื่อต้องการหวังประโยชน์ตอบแทน

ก่อนหน้าเหตุ “หมิงตี้” ในปี 2563 เคยมีเหตุการณ์ท่อก๊าซพาดผ่านพื้นที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ระเบิดไฟลุกไหม้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และบ้านเรือนทรัพย์สินเสียหาย

การจัดวางผังเมืองของจังหวัดสมุทรปราการจึงนับได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งไม่ได้มองในระยะยาวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขนส่งเคมี การรั่วไหลหรืออุบัติเหตุจากไฟไหม้

 

หลังเกิดเหตุ “หมิงตี้” มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนนำเสนอไอเดียดีๆ ผ่านสื่อ อย่างเช่น คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยากให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐานเป็น “กรีน แฟ็กตอรี่” (Green Factory) ขีดเส้นผังเมือง สิ่งแวดล้อมดึงโรงงานขนาดเล็กขนาดกลางเข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรม ห้ามก่อสร้างที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงและควบคุมกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด

คุณสุพันธุ์เสนอให้รัฐหามาตรการจูงใจให้โรงงานเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เช่น ลดหย่อนภาษีที่ดิน ค่าธรรมเนียม

ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นหลังเกิดเหตุโรงงานปล่อยสารพิษจนทำให้ผู้คนเจ็บป่วยเป็นโรคมินามาตะ มีการปรับผังเมืองใหม่ให้โรงงานไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้นโยบายให้แรงจูงใจทางการเงิน เช่น สิทธิทางภาษี

ส่วน ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสนอให้รัฐกำหนดพื้นที่เสี่ยงที่มีโรงงานทำสารเคมีหรือบรรจุสารเคมีหรือแนวที่ท่อก๊าซพาดผ่าน ให้ประชาชนได้รับรู้พึงระวังและเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็ว

ดร.สุชัชวีร์ยังเรียกร้องให้สำนักงานเขตขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท จำแนกความเสี่ยงมากน้อย ให้โรงงานแจ้งผลตรวจสอบประเมินทุก 6 เดือน

ข้อเสนอเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ รัฐควรนำไปสังเคราะห์และเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว