“วิโรจน์ ก้าวไกล” แม่นเหมือนจับวาง โควิด-19 ระลอก 3 รวดเร็วฉับไว ทำนิวไฮยอดแตะหลักหมื่น เสียชีวิตหลักร้อย/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

“วิโรจน์ ก้าวไกล” แม่นเหมือนจับวาง โควิด-19 ระลอก 3

รวดเร็วฉับไว ทำนิวไฮยอดแตะหลักหมื่น เสียชีวิตหลักร้อย

 

สังคมโซเชียลหลายช่องทาง นำการแถลงข่าวรูปแบบออนไลน์ของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.ฝีปากกล้า บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ที่ออกโรงแฉสัญญาระหว่าง “แอสตร้าเซนเนก้า” กับ “รัฐบาลไทย” ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมควบคุมโรค แชร์-คอมเมนต์กันกระจาย

ขอบคุณในความพยายามแบบไม่ลดละ ส.ส.หนุ่ม จนได้เอกสารมาเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบ “ซูเปอร์ดีลวัคซีน”

ย้อนรอยไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ศึกว่าด้วย “ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” ปรากฏว่า ในช่วงบ่ายแก่ๆ “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จองกฐินซักฟอก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กับ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยอภิปรายเปิดประเด็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินรู้อยู่ตลอดเพราะรัฐบาลนี้เป็นคนคาดการณ์ว่า หากฉีดวัคซีนล่าช้า 1 เดือน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้น ทุกวันที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ ประเทศชาติจะเสียหายมูลค่า 8,300 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมงละ 347 ล้านบาท จนถึงวันนี้ช้าไปมากแล้ว จึงเป็นความผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค. และนายอนุทินจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”

“การท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท การระบาดระลอกใหม่ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบถึงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 1.1-1.5 แสนล้านบาท โรงแรม 3,700 แห่งเตรียมปิดกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า จะมีแรงงาน 4.7 ล้านคนตกงาน หนี้ครัวเรือน 2564 ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 480,000 บาท พุ่งขึ้น 1.4 แสนบาท ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน”

“พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินจะอ้างว่าไม่รู้ความสำคัญของวัคซีนกับเศรษฐกิจปากท้องไม่ได้ เพราะเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 นายอนุทินทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอ ครม.ของบฯ กลางอุดหนุนให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ 1 พันล้านบาท โดยเขียนว่า การมีวัคซีนเร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2.5 แสนล้านบาท และสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจกับประชาชนด้วย จึงเป็นหลักฐานว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินรู้ดีว่าควรฉีดวัคซีนให้เร็ว”

“วัคซีนไม่ใช่แค่เรื่องป้องกันโรค แต่ความสำคัญคือการกอบกู้เศรษฐกิจและเยียวยาปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่แปลกใจที่ประเทศอื่นๆ เร่งฉีดวีคซีนให้กับประชาชนของเขา แล้วประเทศไทยจะลงเข็มแรกเมื่อไหร่”

นายวิโรจน์ระบุว่า จากการนำเสนอกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 กำหนดแผนการจัดหาวีคซีน 65 ล้านโดสภายใน 3 ปี โดยปี 2564 ฉีด 11 ล้านคน ปี 2565 ฉีด 11 ล้านคน ปี 2566 ฉีดเพิ่ม 10 ล้านคน ชี้ชัดได้ว่าเป็นการวางแผนฉีดวัคซีนได้ช้ามากๆ กว่าจะครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งกินเวลาไป 3 ปี จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คืนปากท้องให้ประชาชนให้ใกล้เคียงปกติได้อย่างไร

“แต่แผนเดิมนี้ไม่ได้จะกระจุกความเสี่ยงวีคซีนไว้ที่แอสตร้าเซนเนก้าถึง 61 ล้านโดส แบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จากเดิมที่จะซื้อแค่ 26 ล้านโดส ส่วน 13 ล้านโดสมาจากทวิภาคีอื่น และ 26 ล้านโดสมาจากโคแวกซ์ ถ้าไม่นับเรื่องล่าช้า ต้องยอมรับแผนการจัดหาวัคซีนเดิมเน้นกระจายความเสี่ยงไปหลายยี่ห้อ ไม่ได้พาคนทั้ง 67 ล้านคนไปกระจุกความเสี่ยงแอสตร้าเซนเนก้าแทบเพียงเจ้าเดียว”

 

นายวิโรจน์กล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งมาตื่นตัวเรื่องวัคซีนเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมติ ครม.วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 มีการอนุมัติจัดซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า แต่ซื้อแค่รายเดียด้วยวงเงิน 6,049 ล้านบาท โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจองล่วงหน้า โดยมีเงื่อนไขว่า อาจจะได้รับหรือไม่ได้รับขึ้นอยู่กับผลวิจัย จากนั้นกรมควบคุมโรคทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนด้วยวงเงิน 3,670 ล้านบาท ถ้าวัคซีนนั้นสำเร็จ ซึ่งเป็นวัคซีน 26 ล้านโดส เพียงพอต่อการฉีดให้กับประชาชน 13 ล้านคน ครอบคลุมประชากร 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น”

“พอการระบาดระลอกใหม่ 17 ธันวาคม 2563 ที่สมุทรสาคร อีก 7 วันต่อมา ที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 มีมติให้จัดซื้อวัคซีนจากแหล่งอื่นร้อยละ 30 เพื่อครอบคลุมประชากรร้อยละ 50 ของประเทศ ที่น่าสนใจคำสั่งนี้ คือระบุไว้ชัด วัคซีนร้อยละ 10 ให้มาจากการตกลงแบบทวิภาคีกับรายอื่น ไม่มีมติให้กระจุกความเสี่ยงกับแอสตร้าเซนเนก้า และอีกร้อยละ 20 ไปเจรจากับโคแวกซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการต่อรองวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีองค์การอนามัยโลกเป็นตัวกลาง เพื่อให้ทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมรวดเร็ว และราคายุติธรรม”

โดยการประชุม ศบค.วันที่ 24 ธันวาคม ไม่ได้มีข้อแนะนำว่าให้กระจุกความเสี่ยง ด้วยการซื้อวัคซีนเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด แล้วแผนกระจุกวัคซีนก็เกิดขึ้น จากรายงานการประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 มีมติให้กระจุกความเสี่ยงซื้อวัคซีนเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้าอีก 35 ล้านโดส รวมของเดิม 26 ล้านโดส กลายเป็น 61 ล้านโดส

“เป็นการจงใจพาคนทั่วประเทศไปเดิมพันกับการสั่งซื้อวัคซีนแทบจะเพียงรายเดียว และมติ ครม.วันที่ 5 มกราคม 2564 ไม่ได้ระบุถึงงบประมาณในการจ่ายเงินซื้อล่วงหน้าแบบเดียวกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน จึงมีคำถามว่า ถ้าไม่จ่ายเงินล่วงหน้าอีก 35 ล้านโดสจะได้รับวัคซีนแน่หรือไม่ และได้เมื่อไหร่ การฝากความหวังไว้กับวัคซีนยี่ห้อเดียว เป็นการกระทำที่เสี่ยงมากๆ แถมเอาชีวิตของคนทั่วประเทศไปเสี่ยงด้วย”

เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “วิโรจน์ ก้าวไกล” แม่นเหมือนจับวาง เพราะโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 รวดเร็วฉับไว ยอดผู้ติดเชื้อ ทำนิวไฮ ใกล้แตะหลักหมื่น เสียชีวิตหลักร้อยแทบทุกวัน

จนประเทศไทยกระโดดค้ำถ่อ ติด 1 ใน 10 ของโลก ยอดทะลุเกือบ 4 แสนเข้าไปแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อก่อนต้นทุนสูง ตอนนี้ตาลปัตร แค่ถอนหายใจก็ผิด