นักปั่น Tour de France กับอัณฑะลูกที่ 3/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

นักปั่น Tour de France กับอัณฑะลูกที่ 3

 

การแข่งขันจักรยานรายการที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก Tour de France 2021 จะเข้าเส้นชัยในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม

เริ่มแข่งตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน แข่ง 21 วัน หยุดพัก 2 วัน รวมทั้งหมด 23 วัน

การแข่งขันทั้งหมด 21 สเตจ ระยะทางรวม 3,383 กิโลเมตร เท่ากับเฉลี่ยแล้วปั่นกันวันละ 161 กิโลเมตร ใช้เวลาปั่นประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

เมื่อต้องขี่จักรยานนานหลายชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาเกือบเดือน ปัญหาที่ตามมาก็คือ อาการเจ็บง่ามขาและก้น หรือที่เรียกว่าแซดเดิล ซอร์ (Saddle Sore) แปลว่าระคายเคืองจากอานจักรยาน

ในอดีตเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน นักปั่นตูร์ เดอ ฟรองซ์ แก้ปัญหาอาการเจ็บง่ามขาและก้น ด้วยการนำเนื้อสเต๊กสดๆ ที่ยังไม่ได้ย่างมาใส่ที่เป้ากางเกง เพื่อลดการเสียดสี แต่เนื้อสดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และเลอะเทอะเปรอะเปื้อน

นักปั่นระดับโลกหลายคนอดได้แชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เพราะการบาดเจ็บที่ง่ามขาและก้น ถึงขนาดต้องถอนตัวจากการแข่งขัน

บางรายมีอาการบวมที่ฝีเย็บ หรือเพริเนียม (Perineum) ซึ่งเป็นบริเวณขาหนีบช่วงระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก บวมมากถึงกับมีศัพท์เรียกว่า เธิร์ด เทสทิเคิล (Third Testicle) หรืออัณฑะลูกที่ 3!

แต่สมัยนี้การเลือกกางเกงปั่นจักรยานที่มีคุณภาพดี เบาะจักรยานที่เข้ากับสรีระ ช่วยลดอาการเจ็บง่ามขาและก้นได้

นอกจากนี้ นักปั่นอาชีพแนะนำว่า อย่าโกนขนอวัยวะเพศโดยเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดขนคุด หรือผื่นแดงหลังโกนขน ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นอ่อนแอยิ่งกว่าเดิม และปวดแสบปวดร้อนเวลาเกิดการเสียดสี

สําหรับกางเกงปั่นจักรยานนั้น โครงสร้างของกางเกงปั่นจักรยานมีแผ่นรองตรงเป้ากางเกงที่เรียกว่า ชามัวร์ แพด (Chamois Pad) เปรียบเสมือนมีกางเกงในอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสวมกางเกงในอีก แบบเดียวกับนักว่ายน้ำที่ไม่สวมกางเกงในเวลาลงสระ

หากสวมกางเกงในเวลาขี่จักรยาน ขอบกางเกงในหรือตะเข็บอาจกดหรือเสียดสีก้นและต้นขา อาจทำให้แสบที่ขาหนีบเวลาปั่นเป็นระยะเวลานาน

การปั่นจักรยานดีต่อสุขภาพ แต่หลายคนอาจกังวลว่าหากปั่นจักรยานมากไป จะมีผลกระทบต่อน้องชายและสมรรถภาพทางเพศหรือเปล่า

ที่สหรัฐอเมริกา มีการทำงานวิจัยตำรวจสายตรวจหน่วยหนึ่งจำนวน 17 คนของเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ที่ต้องปั่นจักรยานลาดตระเวนดูแลความเรียบร้อยเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมงครึ่งทุกวัน

พบว่าหลายคนมีความรู้สึกชาบริเวณอวัยวะเพศ

กลุ่มที่ปั่นนานที่สุดใน 1 วัน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการน้องชายไม่แข็ง

คนที่ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนอานจักรยานเยอะๆ จะเป็นกลุ่มที่เจอปัญหามากที่สุด

 

มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ได้วิจัยเจาะลึกถึงผลกระทบของการปั่นจักรยานว่าจะทำให้เกิดอาการน้องชายไม่แข็ง (Erectile Dysfunction) และภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ในระยะยาวได้หรือไม่

โดยทำการศึกษาผู้ชายอังกฤษจำนวน 5,300 คน

ได้ข้อสรุปว่าผู้ชายที่ปั่นจักรยานตั้งแต่ 3.75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไปจนถึง 8.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่พบความเกี่ยวข้องระหว่างการปั่นจักรยานกับภาวะน้องชายไม่แข็งหรือมีบุตรยากแต่อย่างใด

และคนที่ปั่นจักรยานถึง 320 กิโลเมตร ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่หลายคนกลัวกัน

โดยรวมแล้วงานวิจัยพบว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการปั่นจักรยานมีมากมายกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความบกพร่องทางเพศและระบบปัสสาวะ

อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของหัวใจ เผาผลาญแคลอรี สร้างกล้ามเนื้อ และบริหารข้อต่อสำคัญๆ โดยไม่เกิดแรงกระแทก เหมือนกับการวิ่งและการจ๊อกกิ้ง