ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
โล่เงิน
ระดม 1.4 หมื่นตำรวจ ตั้งด่านเคอร์ฟิว
พรึบ! ลุยต่อ ค่าตอบแทนก่อนยังชวด
‘บิ๊กปั๊ด’ ฮึ่ม อย่าซ้ำรอย อมเบี้ยเลี้ยงโควิดอีก
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สงขลา มีข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจําเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา
บุคลากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถือเป็นด่านหน้าในการออกปฏิบัติงานตั้งด่านยับยั้งโควิด โดย “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กำชับไปยังทุกหน่วยงานในสังกัด ให้ปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ในการควบคุม ระงับ ยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
โดยให้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครอง เพื่อตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจตราห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาเคอร์ฟิว
สําหรับการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ในพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 10 จังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ดังนี้
1.กรุงเทพมหานคร 88 จุด 2.นนทบุรี 2 จุด 3.ปทุมธานี 4 จุด 4.สมุทรปราการ 5 จุด 5.นครปฐม 5 จุด 6.สมุทรสาคร 5 จุด 7.นราธิวาส 7 จุด 8.ปัตตานี 11 จุด 9.ยะลา 12 จุด 10.สงขลา 9 จุด รวมตั้งจุดตรวจทั้งสิ้น 148 จุด ใช้กำลังตำรวจ 1,553 นาย ทหาร 846 นาย และปกครอง 394 นาย
และมีจุดตรวจอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ จุดตรวจคัดกรองโรค จุดตรวจคมนาคม จุดตรวจพื้นที่ตอนในและพื้นที่ตามแนวชายแดน รวมจำนวน 1,267 จุด ใช้กำลังตำรวจรวมทั้งหมด 7,559 นาย จัดชุดสายตรวจร่วม จำนวน 613 ชุด กำลังพล 2,560 นาย ชุดเคลื่อนที่เร็วออกตรวจตราผู้ฝ่าฝืนนอกด่านอีก จำนวน 816 ชุด กำลังพล 2,949 นาย
รวมใช้กำลังตำรวจทั้งสิ้น 14,621 นาย
สถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดระลอก 3 “มดงาน” ที่ออกไปตั้งด่าน นอกจากจะกังวลเรื่องเสี่ยงติดเชื้อแล้ว ยังกังวลเรื่องเบี้ยเลี้ยงค่าตอบแทนที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย
เพราะมีบทเรียนจากการระบาดครั้งแรกต้นปี 2563 ซึ่งมีปัญหาการเบิกจ่าย ทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยร้องเรียนผ่านทางโซเชียล สะท้อนปัญหาถูกผู้บังคับบัญชา “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด” จนนำไปสู่การตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ “บิ๊กหิน” พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) เป็นประธาน
ผลปรากฏว่า ทุกกองบัญชาการมีข้าราชการตำรวจที่เข้าสู่กระบวนการทางวินัยประมาณ 189 นาย มีตั้งแต่ระดับ พล.ต.ต. หรือผู้บังคับการ 5 นาย พ.ต.อ. 48 นาย นอกนั้นเป็นระดับรอง ผกก., สว., รอง สว. และ ผบ.หมู่ รวม 136 นาย ซึ่งมีการพิจารณาโทษตามแต่มูลเจตนาของผู้กระทำผิดตั้งแต่เบาไปถึงหนัก ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน การภาคฑัณฑ์ การกักยาม การกักขัง การตัดเงินเดือน
และหนักสุดคือ การเสนอเข้าสู่การสอบสวนพิจารณาวินัยร้ายแรง ซึ่งหากมีหลักฐานยืนยัน ก็จะเข้าสู่การลงโทษ ปลดออก ไล่ออก และดำเนินคดีทางอาญา
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 “บิ๊กปั๊ด” ผบ.ตร.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ด่านเคอร์ฟิว 3 จุด บริเวณด้านหน้า สน.พหลโยธิน, ตรงข้ามปากซอย กรุงเทพฯ-นนทบุรี 26 พื้นที่ สน.เตาปูน และหน้าปั๊ม ปตท.คลองบ้านใหม่ พื้นที่ สภ.ปากเกร็ด พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญ อาทิ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ พร้อมแสดงข้อห่วงใยกำลังพลที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเน้นย้ำให้นำเทคโนโลยี หรือแอพพลิเคชั่น TPCC มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ตลอดเวลาการทำงาน
“บิ๊กปั๊ด” ได้กล่าวถึงกรณีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนตั้งด่านว่า ได้พูดคุยไปหลายครั้งแล้วว่าอย่าให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาดอีก ซึ่งครั้งนี้ได้กำชับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) เรื่องการจัดกำลังไปปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ดูให้ละเอียดว่าผู้ที่ไปปฏิบัติหน้าที่จริง กับผู้ที่มีชื่อในคำสั่งตรงกันหรือไม่ มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย
ด้าน “บิ๊กหิน” จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายๆ โรงพักตั้งใจทำงานทำเต็มที่ ไม่ได้คิดอะไร แต่พอเบี้ยเลี้ยงมา จะจ่ายตามรายชื่อในคำสั่ง บางครั้งรายชื่อไม่ตรงกับคนที่ไปปฏิบัติงาน เขาอาจเจตนาดี มันอาจจะถูกต้องแต่ผิดระเบียบ บางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา
ทั้งนี้ กรณีการตั้งด่านช่วงแพร่ระบาดครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2564 ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ปฏิบัติไปแล้วหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่พบมีปัญหาร้องเรียนเข้ามา
ขณะที่สำนักงบประมาณและการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สงป.ตร.) ระบุว่า ปัญหาการอมเบี้ยเลี้ยงตั้งด่านการระบาดรอบแรก สำนักงบประมาณฯ ได้เบิกจ่ายเงินให้ทุกหน่วยครบแล้ว ซึ่งเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 หรืองบฯ กลาง ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยงการทำงานในช่วงระบาดครั้งที่ 2 ทางสำนักงบประมาณฯ ได้ทำเรื่องขอจัดสรรจากรัฐบาล เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ทางหน่วยยังไม่ได้รับงบฯ ดังกล่าว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นอนุมัติ และเนื่องจากขณะนี้อยู่ในห้วงสถานการณ์ไม่ปกติ งบประมาณค่อนข้างจะต้องใช้อย่างจำกัด มีเหตุมีผล ทำให้มีขั้นตอนต้องกลั่นกรองอย่างละเอียด และเมื่อเกิดการระบาดครั้งที่ 3 สำนักงบประมาณฯ ก็ต้องขอเบิกงบฯ กลางมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของหน่วยเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้มีงบประมาณเบี้ยเลี้ยงการตั้งด่านด้วย
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ตำรวจได้นำงบประมาณปกติของปี 2564 ที่มีอยู่ มาปรับแผนใช้ในหน้างานพิเศษก่อน
สำหรับเบี้ยเลี้ยงการตั้งด่าน ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องได้รับชั่วโมงละ 60-70 บาท วันละไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน แต่การทำงานช่วงระบาดครั้งที่ 2 ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับเมื่อไหร่ ยังต้องออกมารับมือการระบาดรอบที่ 3-4
ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาต้องดูแลเพื่อให้ขวัญกำลังใจ และอย่าไปเบียดบังลูกน้องที่ต้องทำงานเป็นด่านหน้าสกัดไวรัสร้ายภายใต้สถานการณ์วิกฤตขณะนี้