เสียงจากสมรภูมิโควิดต่างจังหวัด : ล็อกดาวน์เป็นแค่การซื้อเวลา/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เสียงจากสมรภูมิโควิดต่างจังหวัด

: ล็อกดาวน์เป็นแค่การซื้อเวลา

 

ถ้าอยากรู้ว่าสถานการณ์การต่อสู้กับโควิด-19 เป็นอย่างไร ต้องถาม “นักรบเสื้อขาวในสมรภูมิรบ” ต่างจังหวัด

สัปดาห์ก่อนผมชวนคุณหมอรุ่นใหม่ 3 คนจากแม่สอด (ตาก), สมุทรสาครและปราจีนบุรีเปิดใจความหนักหน่วงของปัญหาที่เผชิญอยู่ด้วยตัวเองคือ

พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม (หมอเบียร์) อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร (หมอแน็ท) อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ (หมอโอ) สูตินรีแพทย์

ต่อไปนี้คือบันทึกย่อของการสนทนาวันนั้น

หมอเบียร์ : หมอที่ดูเรื่องโควิดก็ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน ตลอดปีตลอดชาติ สถานการณ์ที่แม่สอด (1 ใน 5 อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก) มีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอยู่เนืองๆ

ล่าสุดเราเจอ outbreak เป็นคลัสเตอร์ในโรงงานต่างๆ ตัวเลขล่าสุดวันนี้ (เสาร์ที่ 3 กรกฎาคม) น่าจะใกล้ 800 และก็ยังพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ

(“นี่คิดว่าจะหยุดตรวจแล้ว จะได้ไม่เจอ” …พูดเล่น)

เราก็ทำการ Area Lockdown เป็นจุดๆ และทำ Bubble and Seal ก็ปิดโรงงานให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนาม ตอนนี้เราได้มา 6 แห่งแล้ว

นอกจากนี้ เราก็จะมีโรงงานรายย่อย คือเป็นโรงงานที่ไม่เกิน 50 คน ทำเป็น Home isolation หลายจุด

สำหรับชาวบ้านคนไทยเราก็ใช้ Area Lockdown ใช้วิธีการยกการ์ดกันอย่างเต็มที่และเข้มข้น

ทั้งๆ ที่เราเป็นบริเวณที่มีการฉีดวัคซีนเยอะมากๆ แล้ว

เราได้ Sinovac เป็นพื้นที่แรกของประเทศไทย

เราฉีดกันไปทั้งหมดเกือบ 6 หมื่นคนแล้ว

เข็มสองเราก็ฉีดมาเกินสองเดือนแล้วด้วยซ้ำ

แต่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

แต่เราไม่ได้ฉีดทุกคน โดยเฉพาะเราไม่มีโควต้าสำหรับต่างด้าว

“สถานการณ์ที่นี่แย่เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเตียงหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตึงมือกันมากๆ

เตียงอาจจะเบ่งได้ แต่บุคลากรไม่สามารถจะเบ่งได้ทันที

ตอนนี้เรามีพยาบาล 400 หมอมี 50

สัดส่วนของเจ้าหน้าที่กับคนไข้มันไม่ไปด้วยกันแน่ๆ อยู่แล้ว

เราต้องใช้คนให้น้อยที่สุด ให้ lean ที่สุด ให้ทำงานได้มากที่สุดเผื่อว่าถ้ามีใครป่วย ถ้าไม่ได้พัก บุคลากรของเราจะไม่ไหว”

ผมถามว่าบุคลากรทางการแพทย์มีใครป่วยบ้างไหม

“มี มีทุกที่ พอติดก็ต้องแยกทันที สอบสวนทันที”

 

หมอแน็ท : สถานการณ์ที่สมุทรสาครเหมือนของหมอเบียร์ ตั้งแต่ธันวาคมเป็นต้นมามีการตรวจเชิงรุกกันอย่างมาก โดยเฉพาะตามโรงงาน ตอนนั้นยังไม่หนัก

แต่พอถึงเมษายน เคสก็หนักขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่เดือนธันวาคม บุคลากรทางการแพทย์ที่นี่ไม่ได้พักเลย ก็ครึ่งปีแล้ว ต่างล้ากันมาก อยู่เวร 12 ชั่วโมง บางคนบางวันก็ทั้งเช้าและบ่าย ประเภท day-night 24 ชั่วโมงเลยก็มี

แน็ทเป็นหมอปอด ก็เป็นหลักในการดูเคส ทำงานจาก 8 โมงถึง 4 ทุ่ม กลับบ้านบางทีก็ยังมีการเรียกตัว

“มันเกินลิมิตของพวกเราไปมากแล้ว”

เคสที่มาตอนนี้จะต่างจากช่วงเมษายนมาก

ตอนเมษายนจะเป็นเคสวัยรุ่น หนุ่มๆ แข็งแรง อาจจะอ้วนบ้าง

ไม่ค่อยมีโรคอะไร

แต่ตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นมา เราเจอเคสอายุ 70, 80 เยอะมาก เคสเยอะขึ้นมาก หนักขึ้นมาก

 

หมอเบียร์ : เราเจอ Delta ในหมู่คนทำงานโลจิสติกส์ ทั้งหมดเป็นคนขับรถบรรทุก

“โลจิสติกส์ในไทยเราไม่ได้ห้าม คนขับรถคนเดียวไปทั่วทุกจังหวัด รวมถึงข้ามไปฝั่งเมียนมาด้วย พอกลับมาเราก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ หรือไปติดจากที่ไหนมา เป็นกลุ่มที่เราต้องระวังมาก”

ถาม คุณหมอโอ ว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ช่วยได้แค่ไหน

ถ้าเสนอได้ คุณหมอโอจะแนะนำอย่างไร

“ในความเห็นของผม ถ้าจะปิดให้ปิดบางที่ เพื่อบางท่าน ทำบางอย่าง และสุดท้ายมาตรการต้องเข้มข้น…”

ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลไม่เคยปิด เราเปิดบางที่เพื่อบางท่านคือเพื่อคนไข้

ทำบางอย่าง…คือทำการรักษา

ที่สำคัญที่สุดคือมาตรการต้องเข้มข้น

ถ้าใช้มาตรการแบบเดียวกันกับจุดอื่น เช่น โรงเรียน ก็คือเปิดบางแห่งเพื่อนักเรียนบางกลุ่มที่จำเป็นต้องมา

ทำบางอย่าง…ก็เพื่อเรียน

มาตรการต้องเข้มข้นเหมือนกัน

ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องล็อกดาวน์ 100%

การเปิดภูเก็ตก็เหมือนกัน…เพื่อบางคนคนสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

เพื่อนักท่องเที่ยวที่เอาเงินมาเข้าประเทศ

ทำบางอย่างคือ…มาท่องเที่ยว

แต่สุดท้ายก็เหมือนกันคือมาตรการต้องเข้มข้น วัคซีนต้องเป๊ะ ถ้าไปเที่ยว ต้องรู้ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง นอนโรงแรมไหน

แต่ถ้ามาตรการไม่ดีพอ หลุดออกมาก็จะแพร่ได้อีก

 

ที่แม่สอดมีการล็อกดาวน์เป็นช่วงๆ ผลเป็นอย่างไร

หมอเบียร์ บอกว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องราคาถูก ทำได้เลย แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน

ถ้าเราเห็นว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่ไหว การทำ active case findings ก็คือการไปตรวจเชิงรุกในชุมชนและเฝ้าระวังในจุดเสี่ยง

“แต่เมื่อเราได้เคสแล้วเราก็ไม่มีเตียงให้เขา ดังนั้น การทำล็อกดาวน์เป็นจุดๆ ก็จะผ่อนปัญหาเจ้าหน้าที่เราตึงมือ หรือเรามีเตียงไม่พอ จึงเป็นมาตรการที่ช่วยได้ ทำได้ทันที อาศัยการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารกับชุมชนและความร่วมมือ…”

เมื่อชาวบ้านไม่เคลื่อนที่ อยู่กับที่ ก็สามารถจะเลือกเขาออกมาได้เร็วขึ้น และคัดแยกกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และเราก็ลงไปตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจริงๆ เพื่อประหยัดทั้งทรัพยากรและคน

“ที่เหลือเราก็ถือว่าเป็นเขียวทิพย์…”

“เขียวทิพย์” หมายถึงให้ทุกคนคิดว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว ต้องแยกตัวและกักตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่ปะปนกับใคร เหมือนคุณเป็นแล้วแต่ยังไม่มีอาการ เราต้องทำอย่างนี้จึงพอที่จะบริหารทรัพยากรที่มีอยู่กับสิ่งที่มันเป็นอยู่ได้

ดังนั้น ที่แม่สอดจะมีการล็อกดาวน์บ่อย เพราะเป็นมาตรการที่ทำแล้วสำเร็จ

“ในสถานการณ์ที่มีความจำกัด…เราล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แล้วทำให้เราเอาอยู่”

การล็อกดาวน์จุดใด คนในพื้นที่นั้นต้องมีความรู้และต้องยกการ์ดสูง และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่หยุดๆ หย่อนๆ เช่น ถอดหน้ากากก็ไม่ได้

ที่แม่สอดคนใส่หน้ากากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ต้องยอมรับว่าการล็อกดาวน์ไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะไม่สามารถจะส่งอาหารให้ได้ตลอดโดยใช้หลักวิชาการว่าด้วย incubation และ spreading periods

“เราก็ขอให้ชุมชนนั้นใช้ชีวิตที่ตั้งการ์ดสูง หากเกิดการแพร่ระบาดอีกในจุดนั้นเราก็จะล็อกดาวน์อีก…”

 

หมอแน็ท : การล็อกดาวน์ก็เหมือนการซื้อเวลาเป็นพักๆ ให้พวกเรามีโอกาสเงยหน้ามาหายใจบ้าง แต่มันไม่ใช่ทางออกจริงๆ

ทางออกระยะยาวจริงๆ ก็คือการเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด

หมอเบียร์เตือนว่า “เราอย่าคิดว่าโควิดจะหายไปในสองสามเดือน มันอาจจะอยู่กับเรา 5 ปี 10 ปีก็ได้…ที่สำคัญที่สุดก็การควบคุมโรค…”

การควบคุมโรคหมายความว่าทุกคนต้องมีอาวุธที่ดี

อาวุธที่ดีก็คือวัคซีนที่ดี

และต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 60% ของประชากรโดยเร็วที่สุด

ถ้าเราทำไม่ได้เราไม่มีทางชนะมันได้แน่นอน

“เราต้องทำเรื่องนี้เป็นข้อที่หนึ่งและข้อสองคือต้องทำให้ทุกคนเป็นเขียวทิพย์ นั่นคือทุกคนต้องถือว่าตัวเองเป็นคนไข้สีเขียว คือต้องคิดว่าตัวเองป่วยแต่ไม่มีอาการ ต้องดูแลตัวเอง ไม่ไปแพร่เชื่อให้คนอื่น และไม่รับเชื้อมาเพิ่ม นั่นคือสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน การล็อกดาวน์เป็นแค่มาตรการเสริมในบางพื้นที่แต่ต้องมีการสื่อสารกัน…”

(สัปดาห์หน้า : “เราไม่ได้แค่รักษาโรค, เรารักษาประเทศด้วย”)