ก้าวหนึ่งในนโยบายเอเชียของไบเดน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ก้าวหนึ่งในนโยบายเอเชียของไบเดน

 

ท่ามกลางความสำคัญและความยิ่งใหญ่จากวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีปฏิกิริยาจากทั่วโลกมากมาย

แน่นอนย่อมมีปฏิกิริยาจากทางสหรัฐอเมริกาประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกด้วย

เท่าที่ผมติดตามมา ผมอยากให้ลองพิจารณา คำแถลงอันสะท้อนท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทีเดียว

คำแถลงนี้คือ คำแถลงของ Kurt Campbell ผู้ประสานงาน (coordinator) Indo-Pacific สหรัฐอเมริกา แน่นอน คำแถลงของ Kurt Campbell ไม่ได้เป็นคำแถลงเพียงอันเดียวและเป็นตัวแทนทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

แต่เป็นคำแถลงที่บอกอะไรได้หลายอย่างทีเดียว

นโยบายเอเชีย

 

Kurt Campbell ได้พูดต่อสาธารณะที่ Asia Society นิวยอร์ก การพูดของ Kurt Campbell เป็นการพูดต่อสาธารณะครั้งแรกหลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) กล่าวเฉลิมฉลอง 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เรียกร้อง การรวม ไต้หวัน เป็นภารกิจประวัติศาสตร์และเปลี่ยนแปลงพันธะนี้ของพรรคไม่ได้

ในคำแถลงของเขาทำให้น่าทึ่งโดยมีเป้าหมายที่จีน กล่าวแสดงคำมั่นสัญญาการมีบทบาทในระดับโลก และจะเพิ่มความผูกพันของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาในทิศทางนี้

ในประเด็นไต้หวัน เรายอมรับเต็มที่และเข้าใจความอ่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวกับไต้หวัน Kurt Campbell กล่าวว่า

“…เราเชื่อว่า ไต้หวันมีสิทธิดำรงชีวิตอย่างสันติ เราต้องการเห็นบทบาทของไต้หวันในนานาชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ วัคซีน และประเด็นต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับ โรคระบาด พวกเขา (ไต้หวัน-ขยายความโดยผู้เขียน) ควรแสดงบทบาทอันนี้ พวกเขาไม่ควรหลีกเลี่ยงชุมชนนานาชาติ…”

เราจะเห็นได้ว่า หัวใจ ของคำแถลงกล่าวได้ว่าคือประเด็น ไต้หวัน ซึ่งยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดแต่ก็สำคัญและตรงที่สุดต่อสาระหลักอันสำคัญยิ่งในวาระฉลองครบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในขณะเดียวกัน รัฐบาล โจ ไบเดนจะเดินเกมอย่างต่อเนื่อง ด้วยใช้การทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Kurt Campbell เข้าใจว่า การผูกพันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ กุญแจแห่งความสำเร็จ ด้วยกลไก Indo-Pacific

อย่างไรก็ตาม วิธีการและกระบวนการทางการทูตของสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนผสมผสานกลไกอื่นๆ ด้วย Kurt Campbell หยิบยกความร่วมมือในกลไก Indo-Pacific เขากล่าวว่า

“…เรายอมรับเต็มที่ถึงยุทธศาสตร์เอเชียที่มีประสิทธิภาพ แนวทาง Indo-Pacific อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องทำมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…”

เขาเสนอให้ฝ่ายต่างๆ ขัดขวาง Shangri-La Dialoque ซึ่งเป็นที่รวมเจ้าหน้าที่ทหารระดับนำ นักการทูตชั้นสูง ผู้ผลิตอาวุธจากทั่วโลก และการประชุมสุดยอดในภูมิภาคอื่นๆ ที่การจัดประชุมมีผลและความหมายสำคัญในปีที่ผ่านมา

 

เราจะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของ Kurt Campbell กลับมาเน้นที่ ความมั่นคง นั่นเอง เพราะนอกจากจีนจะเป็นแกนนำหลักของ Shangri-La Dialoque ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมประชุมแล้ว Shandri-La Dialoque เป็นการประชุมด้าน ความมั่นคงทางทหาร เป็นหลัก ในเวลาเดียวกัน Kurt Campbell นำเสนอเครื่องมือใหม่ที่อยู่ในกระแสหลักของโลกนั่นคือ วัคซีน และโรคระบาด เขาพูดว่า

“…การใช้วัคซีนผ่านทางนี้และเงินทุนใหม่เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน สหรัฐอเมริกาแสวงหาแผนงานที่ต่อเนื่องอีกด้วย…” เขายังพูดต่อไปด้วยว่า

“…เราได้ส่งวัคซีนออกไป แล้วนำเรื่องส่งออกวัคซีนเข้ากับโครงการระดับชาติของเราเอง…และยังทำงานกับ QUAD (สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) อีกทั้ง เราได้ดำเนินการอันเกี่ยวข้องอย่างสำคัญและอย่างลึกเพื่อให้แน่นอนว่า เราจะจัดสรรวัคซีนในปี 2022 ให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก…”

สาระสำคัญในคำกล่าวของผู้ประสานงาน ทำให้เราเห็นว่า สหรัฐอเมริกาได้ใช้วัคซีน เป็นเครื่องมือทางการทูตท่ามกลางกระแส โรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลกเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า วัคซีนของสหรัฐอเมริกามิได้เป็นเครื่องมือการทูต แนว อำนาจอ่อน (soft power) อย่างที่จีนใช้ ในความหมายว่า อำนาจอ่อน เพื่อสร้างความนิยมชมชอบและคะแนนนิยม ใช้วัคซีนเพื่อรักษาพยาบาลจากโรคภัยที่แพร่ระบาดที่ส่งผลต่อสุขภาพ อนามัย เศรษฐกิจและความยากจน

แต่วัคซีน กลับไปใช้เน้นด้าน ความมั่นคง อาจจะเป็น ความมั่นคงทางทหาร ด้วยซ้ำไป

เพราะนัยระหว่างบรรทัดของคำแถลงของผู้ประสานงาน และเมื่ออ่านรายละเอียดตำแหน่งของ Kurt Campbell เป็น ผู้ประสานงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council Coordinator) แล้วใช้วัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือของ QUAD ด้วย

น่าสนใจ เขากลับมาสู่ QUAD อันเป็นกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการทหาร เป็นหลักอีกทั้งเป็นกรอบความร่วมมือที่สหรัฐอเมริกาผลักดันอย่างมาก แล้วสหรัฐอเมริกาถักทอกรอบความร่วมมือนี้มากับมือเมื่อปีที่ผ่านมา

QUAD ผสมและมีหลากหลายเครื่องมือ แต่…

 

นับจากปี 2020 สมัยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา Mike Pompeo QUAD เป็นความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย รัฐมนตรีต่างประเทศ Mike Pompeo เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Asia Nikkei ว่า*

“…เขาเชื่อว่า QUAD จะเป็นกรอบความร่วมมือที่ช่วยส่งเสริมเสรีภาพ ความรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ ทำให้อินโด-แปซิฟิกเปิดมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ความร่วมมือเท่านั้นที่พัฒนาขึ้น…ความร่วมมือนี้ไม่ใช่การหารือแค่เพียงประเด็นทหาร แต่ยังมีความมั่นคง เศรษฐกิจ การทูต การค้า ลิขสิทธิ์ทางปัญญา หลักนิติรัฐ จะเป็นความร่วมมือเชิงลึกและเชิงกว้างมากขึ้น มันเป็นอำนาจที่มาจากประชาธิปไตยที่ระบอบเผด็จการไม่สามารถทำได้…”

แล้วก็คล้ายคลึงกัน Kurt Campbell ได้ขยายความเรื่องเครื่องมือการดำเนินงาน QUAD ได้แก่ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แต่ไม่ใช่ก่อสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ และอื่นๆ กลับเป็นพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร

โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อยู่ในแผนนโยบายของรัฐบาล ไบเดน คือ แผนงาน Build Back Better World ในแง่นี้ต้องทำความเข้าใจว่า แผนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานมุ่งใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับพิษจากโรคระบาดโควิด-19 ที่สำคัญมาตรฐานชีวิตและความเป็นอยู่ของคนอเมริกันย่อมแตกต่างจากชีวิตความเป็นอยู่ของคนประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พื้นที่ยุทธศาสตร์ของท่านผู้ประสานงานความมั่นคงแห่งชาติของอินโด-แปซิฟิก

แหล่งเงินทุนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็มาจากการปรึกษาและระดมทุนจาก U.S. International Development Finance Corporation ที่มาจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศ G7 ที่ประเทศสหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา

Kurt Campbell กล่าวถึง การทูตวัคซีน การมอบวัคซีนให้ประเทศต่างๆ ต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก แต่นัยสำคัญ ทำเนียบขาวก็ได้มอบวัคซีนให้ไต้หวันเสียด้วย ไต้หวัน ดินแดนที่ยังเป็น หัวใจด้านอธิปไตย ของจีนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหน้าที่และพันธะให้ลุล่วง

เขาหยิบยกกรอบความร่วมมือ QUAD แล้วบอกว่า เป็นมากกว่า กรอบความร่วมมือความมั่นคง แต่เป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมเสรีภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาค ไม่ใช่แค่การหารือแค่เพียงประเด็นทหาร แต่เขาก็เสนอให้ยับยั้ง Shangri-La Dialoque อันเป็นที่ประชุมปรึกษาด้านการทหารเป็นหลัก

ดังนั้น นิยามที่แท้จริงของ QUAD นั่นคือ ภาคี 4 ฝ่ายต่อต้านจีน

Indo-Pacific และ QUAD และกิจกรรมบรรดามีล้วนเป็นอะไรเท่ๆ กลวงๆ สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ผลาญเงิน

จะว่าไปแล้ว นโยบายต่อเอเชียของไบ เดน ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า จีน ขวบปีแรก ไต้หวัน ก็สะอึกเสียแล้ว

* “Q&A with Mike Pompei” Asia Nikkei, October 6, 2020.