ชีวิต ‘คนดนตรี’ กับฝันที่ถูกทำลาย คำอภิปรายจากใจ ‘ส.ส.ปกรณ์วุฒิ’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

ชีวิต ‘คนดนตรี’ กับฝันที่ถูกทำลาย

คำอภิปรายจากใจ ‘ส.ส.ปกรณ์วุฒิ’

 

“ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” คือนักการเมืองหนุ่มวัย 40 ปี ผู้มีสถานะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

เขาเป็นเศรษฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมิใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเคยทำงานด้านสกุลเงินดิจิตอลมาก่อน

แต่ปกรณ์วุฒิยังมีชีวิตอีกด้านหนึ่งในฐานะนักดนตรี แฟนเพลงบางส่วนอาจทราบว่าเขาเคยเป็นมือเบสของวง “แบชเชอร์”

จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมจะได้เห็นภาพเขาและ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไปรับหนังสือร้องเรียนจากเหล่านักดนตรีและผู้ประกอบธุรกิจกลางคืน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด หน้ารัฐสภา

และได้ฟังเขาอภิปรายถึงสภาพปัญหาของผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีอย่างลึกซึ้ง ระหว่างการประชุมพิจารณาญัตติด่วนเรื่องโควิดในสภาผู้แทนราษฎร ดังเนื้อหาต่อไปนี้

“16 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนจากมาตรการที่ไม่ชัดเจน จากการเยียวยาที่ไม่ถ้วนหน้า และจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

“แต่มีหนึ่งอาชีพ ที่ผมกล้าพูดว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนเป็นอันดับต้นๆ แต่กลับไม่เคยถูกเหลียวแลจากรัฐบาลเลย หรือแม้แต่สังคมไทยเอง ผมคิดว่ายังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจและยังมีทัศนคติเชิงลบกับอาชีพของพวกเขา

“วันนี้ในฐานะที่ผมประกอบอาชีพนี้มากว่า 18 ปี ผมขอเป็นตัวแทนของพวกเขา ให้สังคม ให้สภาแห่งนี้ รับรู้ตัวตนของเขา และมองเห็นว่าพวกเขาคือใคร ในช่วงโควิดเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และสิ่งที่พวกเขาต้องการในวันนี้คืออะไร

“อาชีพที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ก็คืออาชีพนักดนตรี นักดนตรีคือใคร นักดนตรีคือกลุ่มคนที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติของสังคม ที่มองว่า (เขา) เป็นพวกมั่วสุมกับอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เพราะพวกเขาทำงานในผับบาร์ เมื่อเจอกับด่านตรวจ เขาจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่โดนตำรวจเรียกค้นตัว

“นักดนตรีคือคนที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันจากครอบครัว ว่าทำไมถึงประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง ซึ่งมันก็เป็นความจริง เพราะสิบร้านที่พวกเขาไปออดิชั่น เขาอาจจะได้งานแค่ร้านเดียว และต้องทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าวันไหนเขาจะถูกแทนที่โดยวงอื่น ไม่รู้ว่าวันไหนที่ฝนตกหนัก เขาจะต้องโดนโทร.มายกเลิกงานหรือไม่ และในช่วงโควิด เขาต้องทำงานโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ร้านจะถูกสั่งปิด

“กับรัฐบาลที่ให้สวัสดิการแบบชิงโชคแบบทุกวันนี้ (ใน) สถานการณ์ปกติ คำว่าความมั่นคงสำหรับพวกเขามันยังเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แต่ทำไมพวกเขายังทำอาชีพนี้อยู่ เพราะพวกเขามีความฝัน ความฝันที่จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ความฝันที่จะได้เล่นบนเวทีใหญ่ๆ มอบความสุขให้กับคนดู

“และที่สำคัญแต่เรียบง่ายที่สุด คือความฝันที่เขาจะได้หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวและคนที่เขารัก ด้วยอาชีพที่เขารัก และผมคิดว่าทุกคนก็มีความฝันนี้กันทั้งนั้น

“สุดท้าย นักดนตรีก็คือคนทั่วไปที่ประกอบอาชีพสุจริต และต้องการจะเลี้ยงดูครอบครัวด้วยอาชีพที่ตัวเองถนัดที่สุด เท่านั้นเองครับ”

 

“แต่ในช่วงโควิด เขาต้องเจออะไรบ้าง แน่นอนครับ นักดนตรีกับสถานบันเทิงคือสิ่งที่อยู่คู่กัน 16 เดือนที่ผ่านมา หรือ 400 กว่าวัน รัฐบาลสั่งปิดสถานบันเทิงไปสามรอบ รวมแล้ว 230 กว่าวัน ประมาณ 8 เดือน ตลอดปีครึ่ง พวกเขาไม่เคยได้เปิดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มแม้แต่วันเดียว

“แต่พอตอนเยียวยา รัฐบาลบอกเป็นเกษตรกรบ้าง เป็นเจ้าของธุรกิจบ้าง พอตอนนึกจะปิด จะสั่งปิดเมื่อไหร่ก็สั่ง ไม่มีการเยียวยาโดยตรง ทำราวกับว่าพวกเขาเป็นคนนอกระบบ ไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมนี้

“จากรายได้นักดนตรีในกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วค่าแรงเริ่มต้นประมาณชั่วโมงละ 600 บาท หรือบางคนอาจจะเป็นหลักพัน หนึ่งคืนเล่นได้ 2-3 รอบ รับงานอีเวนต์งานหนึ่งไม่ต่ำกว่าคนละ 3-5 พัน ตอนกลางวัน บางคนสามารถไปสอนดนตรีได้ ขยันๆ นี่บางคนเงินเดือนเยอะกว่า ส.ส.

“แต่มาตรการของ ศบค.ที่ผ่านมา ปิดสถานบันเทิง ห้ามจัดเลี้ยง ปิดโรงเรียน ทุกช่องทางการหากินของพวกเขาถูกปิดหมด รัฐบาลพรากทั้งอาชีพและความฝันไปจากพวกเขา

“บางคนบอกให้นักดนตรีไปปรับตัว ปรับตัวอะไรครับ งานหาง่ายเหรอครับ ขับเดลิเวอรี่ ทุกคนมีมอเตอร์ไซค์เหรอครับ ขายอาหาร แม่ครัวใช้เวลาฝึกกี่ปีครับกว่าจะขายอาหารได้ แล้วพวกเขาฝึกฝนมาเป็นสิบปีเพื่อมาเป็นนักดนตรีอาชีพ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้เพราะว่าคำสั่งของรัฐ รัฐก็มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน มีหน้าอะไรไปบอกให้เขาปรับตัว

“และไม่ใช่แค่อาชีพและความฝันที่ถูกพรากไป สิบวันที่แล้ว มีหนึ่งชีวิตที่ถูกพรากไป เพราะไม่อาจทนกับวิกฤตครั้งนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ทั้งๆ ที่เธอปรับตัวทำทุกอย่าง ขายขนมจีน ขายก๋วยเตี๋ยว ทำสตูดิโอถ่ายภาพ ทำช่องยูทูบ ผมอยากฝากถามไปถึงรัฐบาล ว่าเขาต้องปรับตัวแค่ไหนมันถึงจะสาแก่ใจพวกคุณครับ”

 

“พฤหัสฯ ที่แล้ว ผมได้ไปรับหนังสือจากกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่หน้าสภา ผมขอสรุปข้อเรียกร้องของพวกเขาคร่าวๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร

“หนึ่ง ในช่วงระบาดหนัก มันจำเป็นต้องปิดจริงๆ เขาเข้าใจและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่เมื่อปิดแล้ว เมื่อคำสั่งของรัฐทำให้พวกเขาไม่สามารถทำมาหากินได้ รัฐก็ต้องเยียวยาครับ จริงๆ มันต้องใช้คำว่าชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งธุรกิจและแรงงาน

“ร้านถูกปิดแต่ค่าเช่ามันวิ่งทุกวัน เงินกู้ตอนนี้ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ยังไงก็ต้องเยียวยาก่อน ถึงวันที่ฟื้นฟูก็ต้องจัดให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างเหมาะสม และนี่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนผู้เสียภาษี และประชาชนคือเจ้าของประเทศ เป็นนายจ้างของพวกท่านทุกคน

“ไม่ใช่สั่งแล้วไม่รับผิดชอบอะไรเลย แล้วบอกให้ประชาชนเสียสละๆ แล้วเขาจะเลือกคุณมาทำไมครับ

“สอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายต้องหยุดการสั่งปิดแบบเหมารวม ในช่วงปีที่แล้วที่การระบาดไม่รุนแรง เราก็พิสูจน์แล้วว่าการเปิดแบบมีเงื่อนไขมันไม่เกิดการระบาด ร้านที่เกิดการระบาดขึ้นมีแค่ไม่กี่ร้านเท่านั้น และลองคิดกันบ้างไหมครับว่าที่ร้านเหล่านั้นยอมละเมิดมาตรการ ก็เพราะว่าแขกที่ไปเที่ยวเป็นวีไอพีไงครับ ร้านอื่นๆ เขาทำตามมาตรการทุกอย่าง

“แล้วต้องขอมาตรการที่ชัดเจนจาก ศบค.ด้วยครับ มีตัวเลขว่าถ้าผู้ติดเชื้อมีเท่านี้ จะปิดกลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มที่สอง เท่านี้จะปิดกลุ่มที่สาม กลุ่มที่สี่ เขาจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะถูกใกล้ปิดแล้ว เขาจะได้ทำตัวถูก ไม่ใช่นึกจะสั่งก็สั่งแบบนี้

“ข้อที่สาม ท่านนายกฯ ให้นโยบายไว้ว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน และแน่นอนครับ การเปิดประเทศ เป้าหมายคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และถ้าจะเปิดประเทศจริงๆ ผมอยากให้ท่านนายกฯ ไปดูแมตช์ฟุตบอลยูโรที่ปุสกัสอารีน่าที่ฮังการี อยากให้ไปดูการแสดงของวงฟูไฟเตอร์ส ที่เมดิสันสแควร์การ์เดน แบบนั้นครับที่เขาเรียกว่าเปิดประเทศ

“ดูว่าเขาจัดการวัคซีนกันยังไง เขาถึงทำแบบนั้นได้ ถ้าเราจัดการกันแบบนี้ เปิดมามีแต่รอวันปิดอย่างเดียวครับ

“สรุปแล้วกลุ่มคนกลางคืนเขาไม่ต้องการอะไรมากมายเลยครับ เขาขอแค่อาชีพของพวกเขาคืน และขอให้รัฐบาลรับผิดชอบ ถ้ากล้าสั่งก็ต้องกล้ารับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“แน่นอนว่าการที่จะจัดการแบบนี้ได้มันต้องมีฐานข้อมูล ท่านเริ่มได้เลยครับ ฐานข้อมูลจากใบอนุญาตต่างๆ ที่สถานบันเทิงมีอยู่ แล้วค่อยไปเก็บตกเอาทีหลัง และให้สถานบันเทิงรวบรวมข้อมูลแรงงานทั้งหมดมา”

 

“ผมขอสรุปครับ จากหัวใจของคนหาค่ำกินเช้า ผมว่าเราต้องเลิกค่านิยมในการมองว่าผับบาร์เป็นธุรกิจสีเทาได้แล้ว เราเอาภาษีเหล้า บุหรี่ที่เก็บรายได้เข้ารัฐปีละเป็นแสนล้าน เอาเงินไปให้หน่วยงานไปทำโฆษณาวาดภาพคนกินเหล้า สูบบุหรี่ให้เป็นเหมือนปีศาจ

“แล้วผมอยากให้ประเทศเราให้คุณค่าของคนที่ทำงานศิลปะบ้าง ผมอยากรู้ว่าทุกวันนี้กระทรวงวัฒนธรรมนิยามคำว่าศิลปวัฒนธรรมว่ายังไงบ้าง ลองไปดูเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษครับ ว่าเขาสร้างรายได้จากวัฒนธรรมยังไง

“ประเทศเรา ปี 2020 เรายังเรียกคนที่เป็นนักดนตรีว่าพวกเต้นกินรำกินอยู่เลย พวกเขาทำอาชีพที่มอบความสุขให้ทุกคนมาตลอดในภาวะปกติ วันนี้ผมขอว่าอย่าได้ทอดทิ้งพวกเขาให้เผชิญกับวิกฤตเพียงลำพัง

“ทุกวันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำกับพวกเขา มันทำให้พวกเขามีคำถามอยู่ในหัวเต็มไปหมด ผมคิดว่าเราอย่าปล่อยให้ถึงวันที่เขาต้องถามตัวเองว่า ตกลงแล้วประเทศนี้อนุญาตให้ประชาชนมีความฝันหรือไม่”