แจกเยียวยา ‘เคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์’ ระลอกใหม่ วัดดีกรี ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ เข้าถึงความรู้สึกธุรกิจ…แค่ไหน/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

แจกเยียวยา ‘เคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์’ ระลอกใหม่

วัดดีกรี ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’

เข้าถึงความรู้สึกธุรกิจ…แค่ไหน

 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มแรกเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าประเทศไทยอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 นานถึง 16 เดือนแล้ว

ดูเหมือนสถานการณ์ฝ่าวิกฤตจะคงอยู่ร่วมกันต่อไปอีกนาน และสถานการณ์รุนแรงแค่ไหนไม่อาจประเมินได้

สะท้อนจากเกิดการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ และยังหวาดกลัวต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งสูงทำสถิติหลายรอบ บวก-ลบเฉียดๆ 10,000 คนต่อวัน และน่าตกใจเมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตสูงเกินครึ่งร้อยต่อวัน

สุดท้ายรัฐบาลใช้มาตรการเดิมๆ ประกาศมาตรการยกระดับการควบคุมและจำกัดพื้นที่อีกครั้ง 14 วัน หรือที่เราๆ จะเรียกกันว่าเป็นการล็อกดาวน์ และมาพร้อมกับออกประกาศ “เคอร์ฟิว” นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ปัตตานี, ยะลา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และสงขลา ซึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) โดยเริ่มวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ต่อเนื่อง 14 วัน

มาตรการที่นำมาใช้ครั้งนี้ ได้แก่ ห้ามไม่ให้ออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น งดการเดินทางในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.

และห้ามการเดินทางเคลื่อนย้ายนอกเขตพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ทำการคัดกรองเป็นพิเศษ ในเส้นทางการเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปอีกเรื่องก็คือ เมื่อออกมาตรการดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำงานและการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะพนักงานลูกจ้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากขึ้น เพราะเมื่อไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ รายได้ลดลง รายจ่ายคงเดิม การลดต้นทุนผ่านการเลิกจ้างพนักงาน ถือเป็นทางเลือกที่ต้องทำ

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะต้องมีเงื่อนไขคือ ผลการดำเนินงานของกิจการต้องไม่ขาดทุน ซึ่งขัดแย้งสภาพเป็นจริงที่เกิดโควิด ธุรกิจเดือดร้อนไปทั่ว ต้องมีหลักประกันค้ำ ทั้งที่รัฐบาลมอบให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ค้ำประกันช่วยแล้วเพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุนได้อีกทาง

แต่จากสถานการณ์ระบาดต่อเนื่องต้องปิดๆ เปิดๆ กิจการ บัญชีเงินได้ก็ไม่ดีนัก และส่วนใหญ่เจอภาวะขาดทุน บัญชีกิจการติดตัวแดง และบางส่วนติดขัดเงินจ่ายค่างวดต่อเนื่อง 3 เดือนจนกลายสภาพเป็นกิจการเอ็นพีแอลหรืออยู่ในบัญชีหนี้เสีย พบว่า ตัวเลขล่าสุด ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นเอ็นพีแอลเพิ่ม 7.1% สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่ม 2.5%

เมื่อแบกภาระไม่ไหว หลายกิจการ หลายธุรกิจเอสเอ็มอีต้องปิดตัวลง บ้างก็ปิดชั่วคราว บ้างก็ถอดใจปิดถาวร กรรมก็ไปตกกับแรงงานถูกเลิกจ้าง บางกิจการถูกนายจ้างลอยแพโดยไม่แจ้งล่วงหน้า!!

 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยืนยันว่า หากภายในเดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลยังไม่อาจหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การติดเชื้อรายใหม่ยังสูงต่อเนื่องหลายพันคนต่อวัน และมาตรการล็อกดาวน์ต่ออีกเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการจ้างงาน และอัตราคนว่างงานตกงานจะพุ่งอย่างรวดเร็วอีกหลายแสนคนในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และปิดกิจการของผู้ประกอบการอีกเป็นแสนราย

รวมกับตัวเลขสะสมนักศึกษาจบใหม่ปี 2563 ประมาณ 4 แสนคน และปี 2564 ในเดือนเมษายนอีก 4 แสนคน รวมเป็น 8 แสนคน ที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการหางานทำหรือสร้างอาชีพตนเอง แต่ยังขาดทุนทรัพย์หรือชะลอการเปิดกิจการ จนกว่าโควิด-19 ระบาดจะคลี่คลายจริง

เขาระบุอีกว่า นั่นคือเหตุส่วนหนึ่ง ส่งผลให้ตัวเลขว่างงานสะสมในไตรมาสแรก 2564 กว่า 2 ล้านคน อีกทั้งผลสำรวจภาคธุรกิจเอสเอ็มอีออกมายืนยันแล้วว่า หากเดือนกรกฎาคมนี้ วิกฤตโควิดยังอยู่ และรัฐเยียวยาไม่เพียงพอ แรงงานต้องตกงานเพิ่มอีกมาก

โดยจากตัวเลขภาคเอกชนพบว่า 11 ล้านคนเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม อีกประมาณ 20 ล้านคนอยู่นอกระบบประกันสังคม ในส่วนนี้เป็นผู้ประกอบการประกันตน 4.6 แสนคน ก็วิตกว่าโควิดรอบนี้อาจไม่สามารถจ่ายเงินประกันตนเอง กลุ่มนี้ก็จะหายไปจากระบบอีกจำนวนมาก

“ตัวเลขที่พุ่งมาจากมาตรการล็อกดาวน์ส่วนหนึ่ง และต้องปิดกิจการจากกลายเป็นผู้มีหนี้เสีย เพราะเจอปัญหาค้างจ่ายมาตั้งแต่ระบาดปีก่อน และกำลังซื้อที่ลดลงมากจากการระบาดรอบต่อๆ มา เป็นโจทย์ที่รัฐต้องเตรียมแล้วว่าจะพยุงไม่ให้คนว่างงานหรือปิดกิจการเพิ่มพรวดอย่างไร เพราะจะส่งผลตรงต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจจากนี้ น่ากังวลมากแล้วตอนนี้ดูจากตัวเลขจีดีพีเอสเอ็มอี ไตรมาส 2 อาจต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ 1.4 ล้านล้านบาท”

“จึงกังวลว่าไตรมาส 3 หากเริ่มด้วยการล็อกดาวน์ จีดีพีอาจต่ำกว่า 1 ล้านล้านลงไปอีก ก็จะกระทบต่อจีดีพีเอสเอ็มอีทั้งปี 2564 เดิมเราเคยตั้งไว้สูงกว่าปีก่อนที่มีจีดีพี 5.4 ล้านล้านบาท คงพลาดเป้าแล้ว ขณะที่จีดีพีประเทศปีนี้หลายฝ่ายประเมินไว้ 16.2 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 15.7 ล้านล้านบาท ก็อาจไม่ถึง เพราะรายใหญ่เองก็เริ่มมีปัญหาจากรายได้ที่ลดลง และเลิกจ้างแรงงานแล้ว” นายแสงชัยระบุ

 

ย้อนมาดูภาครัฐ ล่าสุดวันที่ 12 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมด่วนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบด้วย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อพิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน 10 จังหวัด เน้นไปที่บรรเทาร้อนจากคำสั่งล็อกดาวน์ จึงเป็นความหวังของแรงงานทั้งในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบประกันสังคม รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระ ว่ามาตรการรัฐบาลครั้งนี้จะได้รับการคัดกรองอย่างดีจากทีมเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ที่ให้การเยียวยาประชาชนและช่วยเหลือกิจการเจาะจงที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์โดยตรงและโดยอ้อมบางประเภทเพิ่มเติม อาทิ ร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม ซึ่งต่างจากการเยียวยาปี 2563 ใช้แบบปูพรมทั่วประเทศ

โดยคาดหวังเงินคงค้าง 3 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นแค่ยาบรรเทาปวดบรรเทาอาการ หรือเป็นยาแรง จะเพียงพอรักษาโรคทรัพย์จาง แก้จน และเข้าถึงความรู้สึกประชาชนได้จริง!

เพราะวันนี้คนไทยเลยคำว่ากลัวเจ็บไปไกลแล้ว แต่กลัวว่าจะเจ็บซ้ำซาก ไม่จบ ก็ขึ้นกับว่ารูปแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาครั้งล่าสุดนี้ จะเป็นยาแก้ตรงอาการจริง จนธุรกิจและเศรษฐกิจหายป่วย ผ่านพ้นวิกฤตจีดีพีไทยปีนี้ติดลบอีกครั้งได้