โลกออนไลน์ ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อถกเถียง/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
People relationship. A girl in glasses, dressed in a fashionable denim shirt, on white background, looks at smartphone in hand opening her mouth wide as if screaming on someone via mobile phone

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

โลกออนไลน์

ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อถกเถียง

 

ประสบการณ์การใช้งานโซเชียลมีเดียมานานเกิน 10 ปีทำให้ฉันค้นพบว่าการถกเถียงบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่กัดกินพลังงานชีวิตมากๆ

เทียบกับการถกเถียงตัวต่อตัวการเถียงกันบนออนไลน์ก่อให้เกิดความเครียดได้มากกว่า และจบยากกว่า

การเถียงกันซึ่งๆ หน้าแค่เพียงแยกทางเดินจากกันไป การถกเถียงนั้นก็ต้องจบไปโดยปริยาย

แต่การเถียงบนโลกออนไลน์มันไม่จบง่ายๆ ตราบใดที่โทรศัพท์ยังอยู่ในมือเรา

คิดๆ ดูก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกันที่โซเชียลมีเดียซึ่งน่าจะถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างและทำให้องค์ความรู้ใหม่ๆ งอกเงยขึ้นมาได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการเถียงกันบนออนไลน์กลับก่อให้เกิดประโยชน์ได้น้อยกว่าที่คิด และดีไม่ดีก็ทำให้คนจำนวนมากซึ่งรวมถึงฉันด้วยเริ่มหมดพลังที่จะไปงัดง้างอะไรกับใครเขาอีกต่อไป

Amanda Baughan นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันจึงตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้ไหมที่ปัญหาจะอยู่ที่ดีไซน์ของโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เหมาะกับการถกเถียงความคิดเห็นที่แตกต่างตั้งแต่แรก

เธอและเพื่อนร่วมทีมซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Facebook จึงลงมือทำการสำรวจและค้นหาคำตอบเรื่องนี้

 

ทีมของเบาแกนสำรวจและสัมภาษณ์คน 257 คนเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเน้นหลักๆ ไปที่ Facebook, WhatsApp และ YouTube เพื่อดูว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีการออกแบบที่สนับสนุนให้เกิดการถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์แค่ไหน

ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าสนใจมากและทำให้เห็นถึงธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละโซเชียลมีเดียด้วย

เริ่มจาก Facebook ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าร่วมการสำรวจบอกว่าตัวเองเคยมีส่วนร่วมในการถกเถียงกับคนอื่นบน Facebook

และหลายคนก็บอกว่าประสบการณ์ที่ได้กลับมาก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีด้วย

คนกลุ่มนี้บอกว่าความยากของการโต้เถียงกับคนอื่นบน Facebook เกิดมาจากการที่พวกเขารู้ว่าการเถียงแต่ละครั้งจะมีผู้ชมคอยชม (และเชียร์) อยู่ข้างเวทีด้วยเสมอ

ซึ่งผู้ชมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือเพื่อนคนอื่นๆ บน Facebook นั่นแหละ

คุณผู้อ่านน่าจะเคยสังเกตเห็นว่าอัลกอริธึ่มของ Facebook จะแสดงคอมเมนต์ใต้โพสต์ที่เพื่อนของเราไปคอมเมนต์เอาไว้ให้เราได้เห็นก่อนคอมเมนต์ยอดนิยมจากคนแปลกหน้าเสียอีก

Facebook คิดว่าฟีเจอร์นี้จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น

แต่หนึ่งเสียงของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจบอกว่า การที่เพื่อนเราเห็นคอมเมนต์ด้วยก็ทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเพราะไม่อยากรู้สึกเสียหน้า จากที่ต้องการจะถกเถียงเพื่อหาจุดร่วมก็บานปลายกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันแทน

ขณะเดียวกัน วิธีการแสดงผลคอมเมนต์ของ Facebook ก็ยังไปขัดขวางไม่ให้เกิดการมีส่วนร่วมเพราะบางคอมเมนต์ก็ถูกซ่อนเอาไว้ หรือบางคอมเมนต์ก็ถูกตัดให้สั้นลงด้วย

ฉันคิดว่าไม่ค่อยน่าแปลกใจสักเท่าไหร่เพราะเราเห็นตัวอย่างของการโต้เถียงที่กลายเป็นทะเลาะด่าทอกันบน Facebook มาแล้วนักต่อนัก น้อยครั้งมากที่การถกเถียงจะจบลงด้วยความเข้าใจในความเห็นที่แตกต่างของอีกฝ่ายและแยกย้ายกันไปด้วยดี

ส่วนใหญ่จะจบลงที่การด่ากันไปมาจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหนื่อยและยอมถอยไปก่อนหรือตัดจบด้วยการบล็อกไปเลย

 

กลับกัน ทีมวิจัยพบว่า WhatsApp ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นส่งข้อความแชตเป็นแพลตฟอร์มที่ก่อให้เกิดบทสนทนาและการโต้เถียงที่ตรงไปตรงมากว่ามาก

วิธีการจัดเรียงข้อความบน WhatsApp ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโฟกัสให้ความสำคัญกับเรื่องที่กำลังเถียงกันได้แบบไม่วอกแวก โดยมีข้อดีก็คือคนที่อยู่ในวงถกเถียงสามารถเลือกโต้ตอบกลับได้ตามความสะดวกของตัวเอง ไม่เหมือนการเถียงกันซึ่งหน้าที่จะต้องตีปิงปองกันไปมาแบบเรียลไทม์

แต่การเถียงกันบน WhatsApp ที่ไม่ต้องโต้ตอบทันทีก็เหลือเวลาให้เราได้คิดทบทวนก่อนที่จะพิมพ์อะไรกลับไป และยังช่วยให้อารมณ์ไม่กรุ่นจนเกินไปด้วย

แต่ข้อดีนี้ก็แลกมาด้วยข้อเสียว่าจะทำให้การโต้เถียงยืดเยื้อออกไปได้นานกว่าที่ควรจะเป็น

และอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับการตอบกลับก็จะรู้สึกถูกเพิกเฉยได้

 

ส่วน YouTube นั้นทีมวิจัยทีมนี้พบว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่แทบจะไม่ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงอะไรสักเท่าไหร่

บางคนบอกว่าเวลาคอมเมนต์อะไรไปก็จะไม่ค่อยมีคนอื่นมาตอบ ก็เลยให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับการเขียนรีวิวทิ้งเอาไว้มากกว่าจะเป็นบทสนทนา

ยกเว้นฟีเจอร์ไลฟ์แชตที่อาจจะทำให้ได้เถียงกันบ้างถ้าหากว่าเจ้าของแชนนอลไม่ได้เข้ามาคอยควบคุมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานก็รู้สึกว่า YouTube มีข้อดีก็คือมีวิดีโอเป็นจุดศูนย์กลาง เราจะอัดคลิปวิดีโออธิบายความคิดของตัวเองให้ยาวเท่าไหร่ก็ได้ และยังสามารถแสดงออกถึงสีหน้า ท่าทาง ปฏิกิริยาให้ผู้ชมได้เห็นชัดๆ ด้วย

แต่เรื่องจะถกเถียงอะไรได้อย่างอิสระเสรีแค่ไหนนั้นดูเหมือนจะมีเสียงตอบรับที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็บอกว่าเราจะพูดอะไรบน YouTube ก็ได้ ในขณะที่บางคนก็บอกว่ามีวิดีโอที่ถูก YouTube ลบทิ้งไปก็มี

อีกปัญหาหนึ่งก็คือการที่เจ้าของแชนนอลเลือกกรองและลบบางคอมเมนต์ที่ไม่ตรงใจออกไปก็ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าการถกเถียงทำได้ยากกว่าเดิม

 

ตอนท้ายของการสำรวจ ทีมนักวิจัยก็ถามผู้เข้าร่วมว่าพวกเขาคิดว่าอะไรที่จะช่วยทำให้การโต้เถียงออนไลน์เป็นไปได้ดีขึ้นบ้าง ก็พบว่าหลายๆ ฟีเจอร์ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นฟีเจอร์ที่โซเชียลมีเดียเหล่านั้นมีให้อยู่แล้ว อย่างการบล็อกคนที่ทำให้การถกเถียงหลุดประเด็นออกนอกเรื่อง หรือการใช้อีโมจิเพื่อสื่อสารอารมณ์ที่แฝงอยู่ในตัวอักษร เป็นต้น

มีอยู่หนึ่งไอเดียที่น่าสนใจก็คือการเสนอให้มีฟีเจอร์ที่จะสามารถสลับสับเปลี่ยนระหว่างการถกเถียงกันออกสื่อไปยังพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อาจจะออกแบบให้แอพพ์ถามขึ้นมาอัตโนมัติว่าอยากจะย้ายการพูดคุยไปอยู่ในแชตส่วนตัวหรือเปล่า ซึ่งก็จะช่วยให้คนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องมาเสียเวลาอ่านไปด้วยและยังลดความรู้สึกอับอายขายหน้าของการทุ่มเถียงกันในพื้นที่สาธารณะได้ด้วย และในที่สุดก็น่าจะทำให้การถกเถียงกันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง กันได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่าไม่มีโซลูชั่นไหนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกประปราย อย่างฟีเจอร์สลับที่พูดถึงก็อาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกว่าถูกก้าวก่ายได้ ดังนั้น ก็ต้องพัฒนากันอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในระหว่างที่ดีไซน์และฟีเจอร์ยังไม่ปรับเปลี่ยน หากคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการทะเลาะทุ่มเถียงกับคนบนออนไลน์จนใกล้จะเป็นบ้า

ฉันก็อยากจะบอกว่าหยุดพักบ้างสักหน่อยก็น่าจะดีเหมือนกันนะ