Pop Aye : ยินดีต้อนรับสู่สังคมผู้สูงวัย [คนมองหนัง]

คนมองหนัง

“Pop Aye” หรือ “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับฯ ของ “เคิร์สเตน ธาน” คนทำหนังชาวสิงคโปร์

นอกจากจะเป็นหนังสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จบนเวทีการประกวดนานาชาติมากที่สุดเรื่องหนึ่งแล้ว (ได้รางวัลจากเทศกาลสำคัญอย่างซันแดนซ์และร็อตเตอร์ดัม)

“Pop Aye” ยังถือเป็นหนังลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ เพราะแม้ผู้กำกับฯคน จะเป็นชาวสิงคโปร์ แต่นักแสดงทั้งหมดก็เป็นคนไทย ถ่ายทำในเมืองไทย และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมไทย

หนังเล่าเรื่องของ “ธนา” สถาปนิกรุ่นใหญ่ผู้เคยผ่านช่วงชีวิตและเส้นทางการประกอบอาชีพที่รุ่งโรจน์มาก่อน แต่เมื่อย่างก้าวเข้าสู่วัยชรา เขาก็เริ่มตระหนักว่าตนเองกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะร่วงโรย

ธนาค่อยๆ หมดความสำคัญในที่ทำงาน เมื่อลูกชายเจ้าของบริษัทเข้ามาบริหารงานแทนผู้เป็นพ่อ อาคารห้างสรรพสินค้าที่เป็นผลงานการออกแบบชิ้นสำคัญของธนากำลังจะถูกทุบทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยอาคารใหม่ ที่ออกแบบโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้งสูงและทันสมัยกว่า

พอกลับไปที่บ้าน ธนาก็เริ่มประสบวิกฤตความสัมพันธ์กับภรรยาหนักหน่วงขึ้น โดยประเด็นที่ทั้งสองไม่อาจมีลูกด้วยกันได้ คือปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งของปัญหา

บ่ายวันหนึ่งบนท้องถนนกลางกรุงเทพฯ ธนาเดินไปพบกับ “ช้าง” เชือกหนึ่ง ที่ถูกควานพาเข้ามาหากินในเมืองหลวง สถาปนิกใหญ่พลัน “ระลึก” ได้ ว่านี่คือ “ป๊อปอาย” ช้างเพื่อนเก่าของเขาสมัยอยู่จังหวัดเลย

ธนาตัดสินใจซื้อช้างเชือกนั้นโดยทันที และเมื่อภรรยาแสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ธนาก็ตัดสินใจพาป๊อปอายเดินเท้ากลับจังหวัดบ้านเกิด ที่ตนเองห่างหายมานานหลายปี

โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนวัยเกือบๆ หรือกว่า 60 (ตัวละครหลักของหนัง) โดยคนรุ่นประมาณ 30 ต้นๆ (คนทำหนัง)

คล้ายว่า เคิร์สเตน ธาน จะเลือกมองโลกและเข้าใจชีวิต จากที่ทางของคนที่ยังไม่แก่ชรา แต่ก็ไม่ใช่คนหนุ่มสาวผู้เปี่ยมพลังแห่งความเยาว์วัยอีกต่อไป

ฟากหนึ่งของที่ทาง “กลางๆ” แบบนี้ คือคนรุ่นอายุไม่เกิน 30 หรือเพิ่งเกิน 30 มาไม่นาน ซึ่งมีความเข้าใจ-เข้าถึงเทคนิควิธี เทคโนโลยี ตัวเลขสถิติ หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มากมาย

ส่วนอีกฟาก คือ คนรุ่น 50-60-70 ที่บ่อยครั้ง พวกเขามักมองโลกผ่าน “คุณค่า” “ประสบการณ์” “ความฝังใจ” บางชุดจากอดีต ซึ่งทาบไม่สนิทกับ “ข้อเท็จจริง” ณ ปัจจุบัน

นำไปสู่การ “ชน” หรือ “ปะทะ” กันระหว่างคนสองเจเนอเรชั่น ด้วยความไม่เข้าใจหรือมุมมองต่อโลกที่ต่างกันจนยากประสาน

ธานเลือกทำหนังเรื่อง “Pop Aye” จากจุดยืนที่พยายามจะเข้าใจ “คนแก่” มากกว่าจะเป็นปากเสียงแทน “คนหนุ่มสาว”

เธอค่อยๆ ลำดับเรื่องราวอันสลับซับซ้อนเพื่อสร้างเหตุผลรองรับว่าทำไมคนสูงวัยจำนวนมากจึงต้องยึดโยงตัวเองอยู่กับนามธรรมลอยๆ หรือข้อเท็จจริงที่ตกยุคไปแล้วบางอย่าง

และถ้าไม่ยึดติดกับชุดคุณค่าพวกนั้นหรือหันหลัง 180 องศาให้กับมัน ชีวิตของพวกเขาจะพังพินาศย่อยยับขนาดไหน

“Pop Aye” เป็นหนังโร้ดมูฟวี่ที่มีตัวละครหลักเป็นชายวัยกลางคน ซึ่งกำลังล่วงเข้าสู่วัยชรา และช้างอีกหนึ่งเชือก

การเดินทางของคน-สัตว์คู่นี้ ต้องพานพบกับผู้คนและสถานการณ์ที่หลากหลาย

ตั้งแต่อาการประสาทกิน-ภาวะอ่อนแอทางร่างกายตามประสาคนชั้นกลางวัยประมาณ 60 ของตัวละครนำ เมื่อเขาเริ่มเดินเท้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เลย

การเล่นกับสัญลักษณ์ “แตงโมเหลือง-แดง” ที่ตกแตกเรี่ยราดกลางถนน โดยไม่ผลิดอกออกผลใดๆ (พอคนจะหยิบกิน เจ้าหน้าที่รัฐก็สั่งห้าม)

ชีวิตกับความใฝ่ฝันของหมอดูบุคลิกเพี้ยน ที่เริ่มต้นด้วยบทสนทนาแข็งๆ แปลกๆ ก่อนจะคลี่คลายไปสู่ความโศกเศร้าระคนความงดงาม พร้อมปมปัญหาค้างคาใจในทางจริยธรรมบางประการ

เรื่องราวหลากมุมในร้านเหล้าบ้านๆ ริมทางหลวง ทั้งปัจจุบันอันขมขื่นของกะเทยรุ่นใหญ่ และการตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจเชิงกายภาพอันเสื่อมทรุดของเพศชาย

แน่นอนว่าประเด็น “สังคมชนบทปัจจุบัน” ที่ไม่เป็นดัง “ความคาดหวัง/ความทรงจำครั้งอดีต” ของคนชั้นกลาง กทม. (ที่เติบโตมาจากการเป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุง) ก็นับเป็น “จุดไคลแมกซ์” ที่คล้ายจะราบเรียบ ทว่า ทรงพลังมากๆ ในหนังเรื่องนี้

บนเส้นทางอันระหกระเหินและอิ่มเอม เรื่องราวต่างๆ ใน “Pop Aye” ถูกจัดวางไว้ในกรอบโครงที่เป็นระบบระเบียบ

อย่างน้อย พอดูหนังจบ คนดูน่าจะพอสัมผัสได้ว่าชีวิตของหมอดูซอมซ่อ, กะเทยขายบริการ และสถาปนิกหนุ่มใหญ่นั้นมีความเชื่อมโยงหรือสอดคล้องต้องตรงกันอยู่

พวกเขาเหล่านั้นต่างไขว่คว้า-โหยหา-คิดถึง “อดีต” บางอย่าง ซึ่งเอาเข้าจริง แต่ละคนต่างไม่รู้ว่า “ภาพฝันครั้งอดีต” ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่หรือไม่? หรือเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไหน?

“อดีต” บางชนิดอาจไม่มีตัวตนอยู่บนโลกมนุษย์แล้วด้วยซ้ำ แต่พวกเขาบางคนก็เชื่อมั่นว่าตนเองกำลังจะได้พบกับ “อดีต” ที่ว่า อีกครั้งในไม่ช้า

พี่ชายบนสวรรค์และผู้หญิงที่ตนแอบรักเมื่อกาลครั้งโน้นของหมอดูจรจัด, ความรุ่งโรจน์ในทางวิชาชีพของกะเทยบ้านนอกและสถาปนิกชาวกรุง ตลอดจนช้างและบ้านเกิดที่เคยถูกเด็กหนุ่มผู้หนึ่งทอดทิ้งและหนีเข้าเมืองหลวง จึงถูกมัดรวมให้เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง

ตามมุมมองของผม หากหนังเรื่องนี้จะมี “จุดอ่อน” อยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นเส้นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจและพระสงฆ์ที่แลดู “แบน” หรือนำเสนอภาพเหมารวมในแง่มุมลบๆ ของคนสองกลุ่มนี้แบบ “แข็งทื่อ” ไปหน่อย

เนื่องจากตำรวจกับพระเป็น “ตัวแทนอำนาจรัฐ” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาจนพรุนแล้วในสื่อบันเทิงแขนงต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์ระลอกหลังๆ ไม่มีอะไร “ใหม่” จริง จึงย่อมก่อให้เกิดความจำเจขึ้นเป็นธรรมดา

อีกส่วนหนึ่งที่ “Pop Aye” เกือบจะทำได้ “เนียน” แต่ก็ยังมีอะไรแปลกๆ หลุดออกมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ นั่นคือ วิธีการพูดจาหรือบทสนทนาของตัวละคร ที่บางครั้ง คนดูยังพอจับได้อยู่ว่า “นี่ไม่ใช่หนังไทยที่คนไทยกำกับฯ”

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นผลงานของคนทำหนังต่างชาติ ที่กำกับนักแสดงไทย-เรื่องราวแบบไทยๆ ได้ดีมาก (เผลอๆ อาจดีที่สุด) เรื่องหนึ่ง

องค์ประกอบและเรื่องราวปลีกย่อยต่างๆ ได้ค่อยๆ สั่งสมและถ่ายทอดพลังมายังบทสรุปสุดท้ายของ “Pop Aye”

การคืนดีกับภรรยาแล้วหวนกลับมายังอาคารเก่าที่ตนเองเคยออกแบบด้วยความภาคภูมิใจ ทว่า มันกำลังจะถูกรื้อถอนทิ้ง เกิดขึ้นหลังจากธนาเพิ่งจะตระหนักถึง “ความจริงที่คาดไม่ถึง” หรือ “ความจริงที่สวนทางกับภาพฝันความทรงจำ” ณ บ้านเกิด

ภาวะ “กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง” ดังกล่าว ทำให้ผู้ชมพบว่าตัวละครรุ่นธนานั้นกำลังลอยเคว้งคว้างและต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากมายขนาดไหน

ธนาทั้งเป็นชายที่บกพร่องในแง่ความเป็นสามี (รวมไปถึงการเป็นหัวหน้าครอบครัว)

เขาคือคนที่พยายามไขว่คว้าหาอดีตอันบริสุทธิ์งดงาม แต่อดีตก็คือ “อดีต” ซึ่งไม่มีทางแนบสนิทกับ “ปัจจุบัน”

เขาคือคนที่พยายามจะยึดกุมช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ในทางวิชาชีพของตนเองเอาไว้ ทว่า กาลเวลาก็ผ่านเลยไปเรื่อยๆ หรือกัดกินตัวเองอยู่ทุกวัน พร้อมๆ กับคลื่นลูกใหม่ที่สาดซัดทับถมเข้ามา

สิ่งท้ายๆ ที่ธนาพยายามยึดเกาะไว้ จึงได้แก่ “อดีต” ที่จวนจะเสื่อมสลายในเมืองใหญ่ แต่ยังไม่สูญสลายหายไปเหมือน “อดีต” ในชนบท

อย่างไรก็ดี แม้แต่ซาก “อดีต” ที่เหลืออยู่อย่างร่อยหรอ ก็จะต้องถูกทุบทำลายทิ้งไปในไม่ช้า แล้วแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ผู้คนในสังคมร่วมสมัยได้มากกว่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากธนาจะต้องย้อนกลับไปหา “ภรรยาคู่ชีวิต” และ “ช้างเพื่อนยาก” ในวัยเยาว์ แล้วโอบกอด-เหนี่ยวรั้งคนและสัตว์เหล่านั้นเอาไว้ให้แนบแน่นที่สุด ผ่านอารมณ์ความรู้สึก/สายสัมพันธ์ที่ทั้งโรแมนติก ชวนฝัน รำลึกความหลัง และอ้างว้างเดียวดายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เพราะนั่นคือ “คุณค่าในชีวิต” สองลำดับสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของชายผู้จวนจะปลดเกษียณรายนี้

โดยสรุปแล้ว ในภาวะที่สังคมต้องเผชิญหน้ากับ “ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า “Pop Aye” พยายามจะสนทนากับปัญหาดังกล่าวและ “ตัวละครหลัก” ของปัญหา อย่าง “ผู้ (ใกล้จะ) สูงอายุ” ผ่านท่าที, น้ำเสียง และกลวิธีที่อ่อนโยน-ละมุนละม่อม-พร้อมจะทำความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง แต่ก็ทรงพลังไปพร้อมๆ กัน