เครื่องเคียงข้างจอ : บททดสอบของโลก / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

บททดสอบของโลก

 

หากโลกเป็นห้องเรียน และแต่ละประเทศเป็นนักเรียน ตอนนี้นักเรียนทั้งชั้นกำลังเผชิญกับ “ข้อสอบใหญ่” นั่นคือ “วิชาเอาตัวรอดในสถานการณ์โควิด-19”

เด็กนักเรียนแต่ละคนมีความสามารถในการทำข้อสอบแตกต่างกันไป

เด็กที่ทางบ้านมีฐานะดี ก็อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้นักเรียนคนนั้นผ่านการสอบได้ แม้จะไม่ได้คะแนนเต็ม แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับดีพอควร

เด็กที่ยากจนออกจะเสียเปรียบ เพราะขาดกองหนุนที่ดี ไม่ได้มีหนังสือเรียนดีๆ ไม่มีโอกาสได้กวดวิชาเพื่อเสริมสร้างความรู้ เพราะจองที่เรียนช้า ไม่ทันเพื่อนๆ หรือไม่มีเงินจะจับจองก็ว่ากันไป

แต่ไม่ใช่ปัจจัยด้านฐานะเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเองด้วยว่า จะมีสติและปัญญา ในการนำพาครอบครัวของเขาผ่านการสอบนี้ไปได้ดีหรือไม่

อยู่ที่ผู้ปกครองว่าจะคาดการณ์ข้อสอบล่วงหน้าว่าจะยากง่ายได้ดีแค่ไหน และยอมรับความจริงในการจัดการปัญหาหรือไม่

นักเรียนบางคนเหมือนจะทำคะแนนได้ดีในการสอบภาคแรก แต่ในภาคหลังเล่นเอาสะบักสะบอมเหมือนกัน ด้วยชะล่าใจเกิน ไม่อ่านหนังสือ หรือค้นคว้าตำราให้ครบถ้วน นึกว่าจะเอาอยู่ สุดท้ายต้องมาโหมอ่านหนังสือจนร่างกายบักโกรก เจียนอยู่เจียนไปก็มี

ยิ่งตอนนี้มีวิชาใหม่ ส่งตรงจากประเทศอินเดียมาท้าทายเหล่านักเรียนว่าจะเข้าใจ และเอาตัวรอดได้ดีแค่ไหน แว่วว่าวิชานี้โคตรยากเลยล่ะ

 

แต่ก็มีภาพที่เดินคู่ขนานกันไปยามนี้ที่ดูจะย้อนแย้งกันไม่น้อย ในขณะที่นักเรียนต้องคร่ำเคร่งกับการร่ำเรียนและเอาตัวให้รอดจากวิชาโควิด-19 อยู่นั้น ทางโรงเรียนยังจัดให้มีการแข่งขันกีฬาสีอยู่เลย

ปรากฏเป็นกีฬาฟุตบอลยูโรในทวีปยุโรป กีฬาการแข่งขันของสโมสรฟุตบอลแห่งเอเชียในรอบคัดเลือกในทวีปเอเชีย กีฬาเทนนิสแกรนด์สแลมลำดับที่สาม คือ วิมเบิลดัน ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกโจมตีด้วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลต้าอยู่ในขณะนี้

กีฬาจักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มแข่งสเตจแรกไปแล้ว

และที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในไม่กี่วันนี้คือ มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ นั่นคือ กีฬาโอลิมปิก 2020 ที่เลื่อนมาจัดในปี 2021 นี้ เนื่องจากพิษสงโควิดที่ตอนนี้ก็ยังคงมีพิษสงอยู่

หลายฝ่ายให้ความห่วงใยว่าจะจัดได้จริงหรือ จัดแล้วจะปลอดภัยจากโควิดแค่ไหน และผลพวงที่ตามมาของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่

ดูได้จากตัวอย่างของการแพร่ระบาดหลังจากแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามของฟุตบอล ยูโร 2021 ดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ยิ่งมีการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศก็ยิ่งควบคุมได้ยาก และในระหว่างการแข่งขันก็ปรากฏการติดเชื้อออกมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะในหมู่ผู้ชม หรือจากนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ก็ตาม

ซึ่งไม่รู้ว่าหลังรอบชิงในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จะมีของแถมเป็นการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ยูโรนี้มากน้อยแค่ไหน

 

สําหรับกีฬาโอลิมปิกเองแล้ว ก็ได้พยายามจัดการเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่ระบาดให้มากที่สุด จนอาจจะต้องงดให้มีการเข้าชม หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความคิดให้ผู้ชมมีได้ เป็นเฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น และในจำนวนจำกัด พร้อมห้ามการส่งเสียงเชียร์เป็นอันขาด ทำได้แค่ปรบมือ

รวมทั้งเพิ่มมาตรการคัดกรองนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เดินทางเข้ามาแข่งขันให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าอยู่ในขณะนี้

ยังนึกภาพบรรยากาศของการแข่งขันไม่ออกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จะแห้งแล้ง ขาดชีวิตชีวาและสีสันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกว่าจะจัดได้ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านและไม่เห็นด้วยจากประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งตัวแทนรัฐบาลเองด้วย

บางเสียงบอกว่าเป็นอาถรรพ์ 40 ปีของกีฬาโอลิมปิก

 

ในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกที่ผ่านมา ปรากฏไว้ว่าในการจัดโอลิมปิกปี 1940 และ 1980 ก็ประสบกับปัญหาใหญ่มาแล้ว

โอลิมปิกปี 1940 ญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพทั้งกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในโตเกียวและฤดูหนาวที่ซัปโปโร แม้โอลิมปิกครั้งนี้จะมีหลังเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี 1937 และมีการตอบโต้ญี่ปุ่นโดยการคว่ำบาตรจากประเทศอื่นๆ แต่ญี่ปุ่นก็ยังยืนกรานที่จะจัดต่อไป คล้ายๆ กับตอนนี้เลย แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำสงครามรวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในโตเกียว โยโกฮามา และโกเบ ในช่วงนั้นด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการโอลิมปิกมีการพิจารณาให้ย้ายการจัดโอลิมปิกไปที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์แทน แต่ในปี 1940 สหภาพโซเวียตได้นำทหารบุกฟินแลนด์ซะยังงั้น จนต้องยกเลิกการจัดการแข่งขันไป

สำหรับโอลิมปิกปี 1980 นั้น สหภาพโซเวียตรัสเซียรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันที่กรุงมอสโก ได้มีการคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ประท้วงที่รัสเซียส่งทหารบุกอัฟกานิสถาน โดยมี 66 ประเทศเข้าร่วมการคว่ำบาตรครั้งนี้ รวมไปถึงญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนีตะวันตก

ครั้นอีก 4 ปีต่อมา สหภาพโซเวียตตอบโต้โดยการนำ 14 ประเทศร่วมกันคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิก 1984 ที่จัดขึ้นในนครลอสแองเจลิส เพื่อเอาคืนการคว่ำบาตรของสหรัฐเมื่อปี 1980 นั่นเอง

 

เดิมทีการก่อตั้งขึ้นมาของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคบุกเบิกที่ประเทศกรีกเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลนั้น มีจุดประสงค์เป็นเชิงสันทนาการ และสุขภาพ เปิดโอกาสให้ผู้ชายที่มีรูปร่างสมส่วน เป็นนักกีฬามาแข่งขันกันใน 5 ชนิดกีฬาคือ วิ่ง, กระโดด, มวยปล้ำ, พุ่งแหลน และขว้างจักร ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งๆ จะต้องเล่นทั้ง 5 ประเภท โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล คือมงกุฎที่ทำด้วยกิ่งไม้มะกอกซึ่งขึ้นอยู่บนยอดเขาโอลิมปัสนั่นเอง และยังได้รับเกียรติเดินทางท่องเที่ยวไปทุกรัฐในฐานะตัวแทนของพระเจ้า

แต่ละรัฐจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ หากในกำหนดเวลาการแข่งขัน มีการรบพุ่งทำศึกสงครามกันอยู่ ก็มีธรรมเนียมให้หยุดมาเชียร์นักกีฬาของตนก่อนจะกลับไปรบกันต่อ ก็แปลกดีนะ

ต่อมาการแข่งขันถูกยกเลิกไปเพราะมีการเล่นไม่ซื่อ เช่น จ้างวานคนมาแข่งขันเพื่อเอารางวัล มีการพนันขันต่อ อย่างไรก็ดี ในภายหลังได้มีการฟื้นการแข่งขันขึ้นมาเป็นกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่เช่นในปัจจุบัน

แม้จะมีวัตถุประสงค์ให้เป็นการรวมตัวกันของคนทั้งโลกโดยมีกีฬาเป็นศูนย์กลางที่อุดมไปด้วยความร่วมมือและมิตรภาพ โดยห้ามข้องเกี่ยวกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริง โอลิมปิกก็ถูกแปดเปื้อนด้วยเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์ จนด่างพร้อยไปหลายครั้ง

อย่างเช่น โอลิมปิกในปี 1916 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่ในปี 1914 สถานการณ์ของยุโรปกำลังคุกรุ่นด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1 จนมีมติให้ย้ายไปจัดที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาแทน แต่ก็ไม่มีความพร้อมในการส่งนักกีฬาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม จนสุดท้ายต้องยกเลิกการแข่งขันในปีนั้นไป

โอลิมปิกปี 1936 ได้กลับมาจัดที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้ง ในขณะนั้นประเทศเยอรมนีโดยการนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการเหยียดเชื้อชาติอย่างมาก โดยเฉพาะกับชาวยิว สร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศสมาชิก จนมีการเคลื่อนไหวในการคว่ำบาตรโอลิมปิกครั้งนี้ทั้งในอเมริกา บริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส สวีเดน และประเทศอื่นๆ

ที่น่าสลดใจอย่างมาก คือโอลิมปิกปี 1972 ไม่มีใครลืมเหตุโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญที่มิวนิกเกมส์ลงได้ เมื่อนักกีฬาและโค้ชชาวอิสราเอล 11 คนถูกจับเป็นตัวประกันและปลิดชีพโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสสไตน์ที่เรียกตัวเองว่า Black September แม้จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่การแข่งขันโอลิมปิกก็ยังดำเนินต่อไปจนจบ

 

สําหรับกีฬาโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ แม้จะไม่ได้มีปัญหามาจากการเมืองและผลประโยชน์ระหว่างประเทศ แต่ก็มาจากผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกที่ชื่อโควิด-19 จนต้องเลื่อนจัดการแข่งขันมาอีก 1 ปี

แต่ที่จำต้องดำเนินการจัดอยู่ก็เป็นผลพวงมาจากผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจและเม็ดเงินในเชิงเศรษฐกิจ ที่ญี่ปุ่นได้ลงทุนไปแล้วหลายแสนล้านบาท เป็นการลงทุนในการก่อสร้างต่างๆ และการลงทุนของสปอนเซอร์จัดการแข่งขันที่เป็นเม็ดเงินมหาศาล

อย่างไรก็ตาม โลกกำลังจะนับถอยหลังสู่การแข่งขันในราวสองสัปดาห์นี้แล้ว ครั้งนี้มีนักกีฬาไทยหลายสิบชีวิตร่วมทำการแข่งขันด้วย โดยมีความหวังสูงสุดที่น้องเทนนิส-พาณิภัค จากกีฬาเทควันโด แฟนกีฬาชาวไทยก็ต้องเอาใจช่วยทั้งนักกีฬาไทย และการจัดการแข่งขันให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้

อย่าให้เจ้าโควิดแผลงฤทธิ์จนเอาไม่อยู่แล้วกัน

และนี่คือบททดสอบของโลก ในมหกรรมกีฬาระดับโลก และ “ระดับโรค” จริงๆ