ไวรัสเจาะเกราะ vs ไวรัสกัดกันเอง/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ไวรัสเจาะเกราะ

vs

ไวรัสกัดกันเอง

 

เป็นข่าวใหญ่กันทีเดียวเมื่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสามารถตีป้อมทะลุปราการภูมิต้านทานที่สร้างจากวัคซีนซิโนแวคแม้จะฉีดครบโดสสองเข็มแล้วได้ จนมีการเอามาโพสต์เตือนกันจนเป็นกระแสสะเทือนเลื่อนลั่นในโลกโซเชียลแทบทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก คลับเฮาส์ ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ไอจี ซึ่งส่วนใหญ่เคสเหล่านี้ก็มักจะเป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ

จนกลายเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่าเราควรใส่เกราะให้นักรบเสื้อกาวน์ของเราด้วยวัคซีนเข็มสามหรือไม่ ถ้าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นยังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนกันเลยสักเข็ม แล้วแพทย์ที่ออกมาเรียกร้องเหล่านั้น “เห็นแก่ตัว” หรือไม่

แนวคิดในเรื่องนี้ถือว่าละเอียดอ่อน เพราะมองต่างมุมจะตีความได้ต่างแง่

ถ้ามองในมุมของความเหลื่อมล้ำ

แน่นอนว่าควรกระจายวัคซีนไปปูพรมฉีดให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม และถ้าวัคซีนมีจำกัดก็กระจายเท่าที่มีให้ครบก่อน

แต่ปัญหาก็คือ ถ้าบุคลากรด่านหน้าติดเชื้อ แล้วใครจะมาช่วยเราต่อสู้กับโรคระบาดร้าย

ใครจะมาช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่ในห้องฉุกเฉิน ยิ่งในเวลานี้ โควิด-19 ติดไปทั่วแทบทุกหัวระแหง เปรียบก็เหมือนข้าศึกที่กระจายไปทั่วซุกซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบในเมืองคอยไล่ล่าลอบทำร้ายผู้คนในเมืองแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว

และถ้าบุคลากรทางการแพทย์ที่เปรียบเสมือนนักรบด่านหน้าที่คอยต่อต้านและช่วยดูแลรักษาผู้คนที่ถูกทำร้ายค่อยๆ ถูกตบตายไปทีละหนึ่ง เพราะไม่มีเกราะจะป้องกัน ไม่นาน หายนะอาจจะมาเยือน

และที่สำคัญการรุกไล่ของไวรัสโรคระบาดอย่างโควิด-19 ติดหนึ่งไม่ได้จะกักตัวเท่ากับหนึ่ง อาจจะต้องปิดไปทั้งแผนก เพราะทั้งหมอและพยาบาลที่ทำงานด้วยกันกับผู้ติดเชื้อต้องกักตัวทั้งหมด แล้วผู้ป่วยที่รอการรักษาอยู่จะทำอย่างไร จะมีแพทย์ที่ไหนมาผลัดเปลี่ยนช่วยเหลือ นี่คือคำถามที่ต้องคิดให้ดี

ปัญหาก็คือ ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย แถมคุณภาพยังเป็นที่ถกเถียง ลำดับความสำคัญของการกระจายวัคซีนนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบว่าถ้ามีวัคซีนประสิทธิภาพดีๆ ที่เทียบได้กับเกราะเหล็กกับวัคซีนประสิทธิภาพกลางๆ ที่อาจจะเปรียบได้กับเกราะไม้

มองในแง่ของกลยุทธ์และความจำเป็นในการรับมือกับวิกฤตตรงหน้า ถ้าต้องเลือกระหว่าง หนึ่ง เอาเกราะเหล็กไปใส่ให้ชาวบ้านที่อาจจะได้แต่นั่งรอลุ้นอยู่ในบ้านว่าเมื่อไรสงครามจะจบ ส่วนนักรบก็ใส่แค่เกราะไม้ไผ่สานผุๆ ที่ค่อยๆ เปื่อยลงเรื่อยๆ เข้าสมรภูมิไป

หรือสอง ชาวบ้านใส่เกราะไม้ไผ่รอในเมืองไปก่อน ถ้ากลัวโดนลอบทำร้าย ก็แค่อย่าไปที่เสี่ยง ส่วนเกราะเหล็กชั้นดีเอาไปใส่ให้นักรบที่ต้องลงไปลุยในสงคราม เผื่อจะควบคุมสถานการณ์วิกฤตได้เร็วยิ่งขึ้น

ถ้าทางเลือกมีแค่สองทางนี้ คงจะคิดไม่ยากว่าควรจะเอาเกราะอะไรไปใส่ให้ใครก่อน เราถึงจะชนะไปด้วยกันให้ไว

 

ล่าสุด นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม สามารถแสดงความจำนงเข้ารับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสได้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 โดยถ้าจะเข้าฉีดเลยจะฉีดให้เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และเปิดออปชั่นให้ว่าถ้ายินดีจะรอ ก็อาจจะได้วัคซีนเอ็มเอาร์เอ็นเอไฟเซอร์-บิยอนเทคที่น่าจะเข้ามาจากการบริจาคของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนนี้ หนึ่งจุดห้าล้านโดส

รอหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งไปเกือบวันละหมื่น และรู้อยู่เต็มอก ว่าภูมิตกก็อาจจะติด แถมจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์กลายเดลต้าที่ระบาดได้ง่ายและติดไปทั่วแล้ว

สายพันธุ์กลายเดลต้า คือไวรัสที่ทำให้นักวิจัยต้องมานั่งพิจารณาผลทดลองทางคลินิกรวมทั้ง real world data ของวัคซีนหลายๆ ตัวกันใหม่ เพราะนอกจากจะระบาดได้ไว ยังสามารถติดเชื้อเจาะทะลุเกราะภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ไปหลายเคสแล้ว ทั้งในอินโดนีเซีย ไทย อิสราเอล หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา

และในความเป็นจริง ไม่ใช่เฉพาะกับวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มแค่นั้น แต่เกิดขึ้นแล้วกับวัคซีนหลายตัว

 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวนตัวเลขการระบาดเริ่มพุ่งถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้งในสาธารณรัฐเซเชลส์ (Seychelles) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากที่สุดในโลก

ทางการเซเชลส์เชื่อว่าการติดเชื้อระลอกใหม่นี้น่าจะมีตัวการก็คือสายพันธุ์กลายเดลต้า และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการเซเชลส์ก็ได้รายงานเพิ่มเติมว่าสายพันธุ์กลายเดลต้าได้คร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้ว 6 คนในเซเชลส์ ทั้ง 6 คนได้รับวัคซีนครบโดสกันหมดเรียบร้อย ห้าคนฉีดวัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ “โควิชิลด์ (Covishield)” ที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “แอสตร้าเซนเนก้าเวอร์ชั่นอินเดีย” ส่วนคนสุดท้ายได้ซิโนฟาร์มไป

รายงานครั้งนี้เป็นที่น่ากังวลใจเพราะหลายคนคิดว่าเชื้อตายเท่านั้นที่น่ากังวล แต่ในความเป็นจริง วัคซีนอะดิโนโควิชิลด์ซึ่งเทียบเท่ากับแอสตร้าเซนเนก้าสองโดสก็ยังต้านเดลต้าไว้ไม่อยู่

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และมองโกเลียก็กำลังประสบปัญหาหนักเช่นกัน เพราะแม้จะระดมฉีดวัคซีนสัญชาติจีนไปแล้วเกินครึ่งประเทศ ก็ยังไม่สามารถกดการระบาดให้ลดลงได้อย่างที่ควรจะเป็น

ถ้าดูแค่อัตราส่วนประชากรในประเทศที่ระดมฉีดวัคซีนไปแล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มองโกเลีย เซเชลส์ และอิสราเอลนั้นทำได้ดีไม่ต่างกันเลย และในทางทฤษฎี ฉีดประชากรได้เยอะขนาดนี้ ทุกประเทศที่ว่ามาควรจะเริ่มเห็นผลของภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นมาบ้างได้แล้ว

แต่ในขณะที่ทั้งมองโกเลีย เซเชลส์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการติดเชื้อที่ปะทุขึ้นมาระลอกใหม่ แม้ว่ากราฟการติดเชื้อดูจะมีแนวโน้มที่จะเชิดหัวขึ้นเล็กน้อย แต่สถานการณ์การติดเชื้อในอิสราเอลกลับดูแทบจะไม่เป็นปัญหา จำนวนคนติดเชื้อรายวันนั้นน้อยจนไม่มีทางเลยที่จะล้นระบบสาธารณสุขของประเทศ

ชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันหมู่ได้เกิดขึ้นบ้างแล้วในประเทศอิสราเอล แม้จะเป็นสายพันธุ์ดุอย่างเดลต้า ก็ยังดูเหมือนว่าพอจะเอาอยู่ในระดับที่ดี และถ้าไม่มีไวรัสสายพันธุ์กลายตัวใหม่ที่ดื้อวัคซีนหลักที่ใช้ในอิสราเอลอุบัติขึ้นมา อิสราเอลก็น่าจะลอยลำอยู่ได้อีกสักพักใหญ่

จึงเริ่มเกิดคำถามว่าเป็นไปได้มั้ยว่าที่ภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังไม่มาในหลายประเทศ อาจจะเป็นเพราะประสิทธิผลของวัคซีนหลักที่ใช้ในแต่ละประเทศนั้นยังไม่ถึง

 

และเพื่อเป็นการป้องกัน สาธารณสุขของหลายประเทศทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน รวมทั้งไทยด้วย จึงได้เริ่มพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้กับประชากรในประเทศ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษไปกับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ไฟเซอร์-บิยอนเทค และโมเดอร์นา

ข่าวร้าย ด้วยอิทธิฤทธิ์ของไวรัสสายพันธุ์กลายเดลต้า แม้แต่โมเดอร์นาหรือไฟเซอร์-บิยอนเทค ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าประสิทธิภาพสูงเทียมเมฆ เจอตัวนี้เข้าไป ผลก็ยังตกลงไปเยอะ แต่อย่างน้อย แม้จะร่วงลงไปบ้าง แต่โดยรวมก็ยังน่าจะพอกันได้ค่อนข้างดี

“เห็นได้ชัดว่าวัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้เบากว่าจะเสียความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ไปค่อนข้างไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับสายพันธุ์กลาย แม้แต่วัคซีนที่ดูจะกระตุ้นภูมิต้านเชื้อได้แรงกว่าก็ยังไม่รอด ในตอนนี้ ก็เริ่มมีรายงานวัคซีนล้มเหลวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากไวรัสกลายพันธุ์” ด๊อกเตอร์นิโคไล เปตรอฟสกี (Nikolai Petrovsky) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฟลินเดอส์ (Flinders University) ประเทศออสเตรเลียกล่าว

รายงานล่าสุดในฐานข้อมูลพรีปรินต์ medRxiv (ซึ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่รวบรวมงานวิจัยทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่จะใหม่มากจนยังไม่ได้ผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ) โดยทีมวิจัยของศาสตราจารย์โจเซฟ เปโตรซิโน (Joseph Petrosino) จากวิทยาลัยแพทย์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยถึงกรณีการติดเชื้อทะลุภูมิวัคซีนที่น่าสะพรึงเป็นอย่างมาก

 

เรื่องราวนั้นเริ่มต้นมาจากแขกสองคนเดินทางจากประเทศอินเดียเพื่อมาร่วมในงานแต่งงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ภายหลังกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล พวกเขาฉีดวัคซีนครบโดสมาเรียบร้อยแล้วเป็นสิบวัน ด้วยวัคซีนเชื้อตายโควาซิน (BBV152) ก่อนการเดินทางทั้งสองคนตรวจไม่พบเชื้อ

ทว่าหกวันหลังงานแต่ง หนึ่งในสองเริ่มมีอาการและต้องเข้าแอดมิดในโรงพยาบาล และหนึ่งเดือนต่อมาเขาก็เสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ในงานแต่ง แขกผู้มาร่วมงานคนอื่นๆ อีกสี่คนติดเชื้อ ทั้งสี่ยืนยันว่าได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดชื้อทั้งสองคนจากอินเดีย และก็คาดว่าจะติดเชื้อมาจากสองคนนี้แหละ เป็นที่น่าตกใจเพราะทั้งสี่คนที่ติดในครั้งนี้ได้รับวัคซีนครบโดสหมดแล้ว และพวกเขาฉีด “วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ” สองคนฉีดไฟเซอร์-บิยอนเทค และอีกสองคนฉีดโมเดอร์นา

หนึ่งในสี่ผู้ติดเชื้อเกิดอาการทรุดหนักและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยการให้ยาโมโนโคลนัลแอนติบอดี้ทางกระแสเลือด

นั่นหมายความว่าต่อให้เอ็มอาร์เอ็นเอก็ยังเอาไม่อยู่ ไม่ใช่แค่กันติดไม่ได้ แต่ทรุดหนักก็มี ของแบบนี้มันขึ้นกับคน (host factor)

“พวกเราเชื่อว่าเข็มบูสเตอร์น่าจะจำเป็นเพื่อการันตีผลการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าการตอบสนองของแอนติบอดี้จากการฉีดเข็มบูสเตอร์เข้าไป 6 เดือนหลังจากเข็มสอง จะสูงขึ้นราวๆ 5-10 เท่า และแม้ผลการทดลองของพวกเราจะดูมีความหวัง แต่เราก็ยังไม่นิ่งนอนใจ และยังจะมุ่งพัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่นต่อไปเพื่อมาจัดการกับสายพันธุ์กลายแสบๆ อย่างสายพันธุ์เดลต้าให้ได้”

อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์-บิยอนเทค ทวีตเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

แม้ว่าผลของเข็มบูสเตอร์ของไฟเซอร์จะดูดี แต่ทว่าในสื่อกลับมีข่าวน่าตกใจออกมาอีกข่าวหนึ่ง นั่นคืองานวิจัยที่เผยแพร่ออกมาใหม่ๆ สดๆ จากห้องแล็บของศาสตราจารย์เดวิด วีสเลอร์ (David Veesler) มหาวิทยาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเติล เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในวารสาร Science พบว่าการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามของไวรัสสายพันธุ์กลายที่เรียกว่าสายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon) ทำให้มันดื้อต่อวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอได้เช่นกัน ข่าวนี้เป็นเหมือนสายฟ้าที่ฟาดลงมาทำให้หลายคนที่คาดหวังกับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเริ่มซวนเซหวาดหวั่น และหมดกำลังใจว่าถ้าขนาดวัคซีนที่ดูผลจะดีที่สุดยังเอาไม่อยู่ แล้วเราจะอยู่กันยังไงต่อไป

สายพันธุ์กลายเอปซิลอนนี้เดิมชื่อสายพันธุ์กลายแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีสองสายพันธุ์ย่อยนั่นคือ B.1.427 และ B.1.429 ทั้งคู่มีการกลายพันธุ์อยู่หลายจุด และมีบางจุดที่ส่งผลให้มันดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้อย่างหนักหนา ไวรัสสายพันธุ์นี้ เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2020 และระบาดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในท้องถิ่น และด้วยการกลายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะดื้อวัคซีนทำให้สายพันธุ์กลายแคลิฟอร์เนีย หรือเอปซิลอนเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นที่จับตามอง (variants under investigation)

ในข่าวร้ายยังมีข่าวดี แม้ว่าเอปซิลอนจะดื้อต่อวัคซีนได้ แต่สายพันธุ์เดลต้านั้นแสบยิ่งกว่า นอกจากจะดื้อวัคซีนแล้วยังกระจายติดเชื้อได้ไวกว่าอีกด้วย ทำให้เกิดกระบวนการธรรมชาติคัดสรร คัดเอาเอปซิลอนออกไป ถ้าดูแนวโน้มจำนวนคนติดเชื้อ เอปซิลอนดูโอกำลังลดลงเรื่อยๆ ค่อยๆ หมดไป จนท้ายที่สุด คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปเองเพราะแข่งขันสู้กับไวรัสสายพันธุ์กลายดุๆ อย่างเดลต้าและอัลฟ่าไม่ไหว

และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้สายพันธุ์นี้ไม่ได้ถูกอัพเกรดให้เป็นสายพันธุ์ที่ควรกังวล (variants of concern) ต้องบอกว่าอ่อนแอก็แพ้ไป

 

แต่แม้ว่าเอปซิลอนอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่อย่าลืมว่าเดลต้ายังอยู่ และชัดเจนว่าสามารถติดเชื้อทะลุภูมิจากวัคซีนได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าไม่มีวัคซีนตัวไหนจะกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์กลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมยังมีหลักฐานชัดเจนมากมายอีกด้วยว่าต่อให้ฉีดแล้วก็ยังอาจจะป่วยได้

แต่ถ้าถามผมว่าควรจะฉีดหรือไม่ คำตอบของผมยังคงเดิมก็คือ ฉีดไปก่อนครับ มีอะไรฉีดไปก่อน เพราะมีเกราะอ่อน ก็ยังดีกว่าไม่มีเกราะเลย

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักก็คือ ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังประมาทไม่ได้ ต้องทั้งระวังและป้องกัน หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยก็จนกว่าอัตราการติดเชื้อในสังคมจะลดลงจนคุมอยู่

ถ้าถามว่าเมื่อไร บอกตรงๆ เลยว่าไม่รู้ เพราะแม้จะล็อกดาวน์ไปแล้ว ก็บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ แน่นอน คลัสเตอร์โควิด-19 ส่วนใหญ่ติดจากซูเปอร์สเปรดเดอร์ ติดแค่คนเดียว ถ้าไม่ระวัง อาจจะกระจายไปได้ทั่วเมือง ถ้าอยากชนะ ทุกคนจะต้องชนะไปด้วยกัน

ดังนั้น คำถามที่ว่าเมื่อไรชีวิตเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม คงไม่มีใครตอบได้ เพราะท้ายที่สุด มันขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน