คุยกับทูต ตีแยรี มาตู นักการทูตอาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 4)

 

คุยกับทูต ตีแยรี มาตู

นักการทูตอาชีพ

และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 4)

 

“การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มีมากมายทีเดียว มีนักเรียนไทยที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 600 คนไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสทุกปี ขณะเดียวกันก็มีนักเรียนฝรั่งเศสราว 110 คนเดินทางมาเมืองไทยทุกปีเช่นกัน”

“นักเรียนฝรั่งเศสเหล่านี้มักจะประสบกับความยากลำบากเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับประเทศ เพราะพวกเขาชอบเมืองไทยมาก”

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เล่าถึงความร่วมมือระหว่างกันในหลายแง่มุม

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

“เนื่องจากฝรั่งเศสให้ความสำคัญและยินดีต้อนรับนักเรียนไทยที่มีความสามารถเป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเสนอโครงการทุนการศึกษามากมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส”

“เรามีโครงการชื่อ ‘นักวิจัยรุ่นเยาว์’ (young researchers) ซึ่งส่งนักวิจัยไทยรุ่นเยาว์ที่มีความคิดใหม่ๆ และมีอนาคตไกลไปฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขาจะได้รับการฝึกอบรมและดำเนินการวิจัยต่อในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดของฝรั่งเศส”

โครงการ นักวิจัยรุ่นเยาว์ 2

“นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์ เนื่องจากฝรั่งเศสได้จัดทุนการศึกษาเฉพาะด้านหลายทุนโดยร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยหลายร้อยคนที่ไปเรียนและอยู่ในฝรั่งเศส”

“นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกของความร่วมมือระหว่างกันในด้านงบประมาณ เนื่องจากโครงการทุนการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 65 ของงบประมาณในการแลกเปลี่ยนของเรา”

“แต่สิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่การทำแบบฉาบฉวย”

“เราพยายามสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยทำงานด้วยวิสัยทัศน์ในระยะยาว ผ่านโครงการทวิภาคีที่มีการร่วมทุนระหว่างฝรั่งเศสกับไทยเป็นส่วนใหญ่ หากทั้งสองฝ่ายออกเงินทุน ก็จะทำให้แต่ละฝ่ายต้องการที่จะประสบความสำเร็จและได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำ”

งานวันประชาคมโลกภาษาฝรั่งเศสประจำปี 2564 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

“โครงการวิจัยร่วมทุนจำนวนมากของเรา อยู่ในสาขาที่ทั้งสองประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ เคมี ชีววิทยา สุขภาพ พืชไร่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ฯลฯ”

“ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจจัดตั้งองค์กรวิจัยหลักของฝรั่งเศสส่วนใหญ่ในประเทศไทย เช่น CIRAD, IRD, IRASEC ฯลฯ สถาบันวิจัยเหล่านี้บางแห่งก็ตั้งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไทย”

“เครือข่ายระดับภูมิภาคของสถาบันวิจัยเหล่านี้ กำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศของงานวิจัยฝรั่งเศสในประเทศไทย ในด้านที่สำคัญต่อประเทศไทย ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษจากพลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“และด้านสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งจากวิกฤตโควิด-19 นั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกัน”

เข้าพบหารือกับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

“แน่นอนว่า สถานเอกอัครราชทูตพยายามเสริมสร้างความน่าดึงดูดของภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยเกือบ 600,000 คนพูดภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย และเด็กไทยในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยอีกกว่า 30,000 คนกำลังเรียนภาษาของเรา แต่เราต้องการให้มีการเรียนภาษาฝรั่งเศสมากขึ้น นั่นคือเหตุผลที่เราได้มุ่งเน้นเรื่องที่มีความสำคัญอันดับแรกสามเรื่อง ได้แก่ การสนับสนุนระบบการเรียนการสอน การแสวงหากลุ่มผู้เรียนใหม่ๆ และการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศส”

“เจ้าหน้าที่ของเรากำลังช่วยเหลือเครือข่ายครูภาษาฝรั่งเศสชาวไทย โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมทางภาษาอย่างถาวรให้แก่ครูภาษาฝรั่งเศสชาวไทย พวกเขาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้เรียนภาษาฝรั่งเศส และแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของภาษาฝรั่งเศสในอนาคต อาทิ การไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส”

เข้าพบหารือกับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

ท่านทูตเปิดเผยว่า

“ล่าสุด เรากำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างโรงเรียนภาษาฝรั่งเศสในเชียงใหม่ร่วมกับสมาคมฝรั่งเศส (Alliance française) ซึ่งเป็นสถาบันด้านวัฒนธรรมของฝรั่งเศส”

วิกฤตไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

“คนฝรั่งเศสชอบอาหารรสเลิศ และอาหารไทยก็ดึงดูดเพื่อนร่วมชาติของผมมาโดยตลอด ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเคยต้อนรับครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสเกือบล้านคนหรือมากกว่า 800,000 คน มาเยือนไทยทุกปี”

เข้าพบหารือกับรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ส่วนในทางกลับกัน ฝรั่งเศสเคยต้อน รับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยเฉลี่ยปีละ 100,000 คน”

“แต่ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นโลกก่อนหน้านี้ ส่วนโลกหลังโควิดเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าอนาคตของการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไรหลังจากที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในโลกได้พังทลายลง”

“ฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยภาคส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP มีการจ้างงานคนกว่า 2 ล้านคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ค.ศ.2020 เป็นปีแห่งความหายนะสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านยูโร หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท”

จะทำอย่างไรให้สามารถลุกขึ้นและเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หลังวิกฤตครั้งใหญ่นี้

เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จ.อุดรธานี

“มีบางรายงานระบุว่า เชื้อไวรัสมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายกลางแจ้งได้น้อยกว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเพลิดเพลินกับสถานที่ห่างไกลในธรรมชาติ โดยสามารถเดินป่า ปีนเขา พายเรือคายัค ตั้งแคมป์ หรือพักผ่อนตามชายหาดโดยหลีกเลี่ยงกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งหมดนี้เหมาะสำหรับประเทศไทย”

“บางรายงานชี้ว่านักท่องเที่ยวมักจะให้ความสนใจกับการส่งเสริมสุขภาพ การฝึกสติ หรือการฝึกจิต การทำสมาธิ และการสัมผัสประสบการณ์กับธรรมชาติ นี่ก็เหมาะกับประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จ.อุดรธานี-

“ทางออกเดียวในตอนนี้ คือการหาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด-19 และการหาวิธีเดินทางท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รวมถึงรูปแบบที่ใช้ธรรมชาติ การฝึกสติ ความปลอดภัย การเคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเกณฑ์กำหนด”

“แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ประเทศไทยก็เหมือนกับฝรั่งเศสซึ่งโดยแก่นแท้แล้วต่างก็เป็นประเทศท่องเที่ยวและเปิดกว้างต่อโลก”

 

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยและทั่วโลกได้พบเจอ ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอย่างมหาศาลกับธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย

เยี่ยมชมอุทยานมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ของกลุ่มมิตรผล โดยมีวิศวกรชาวฝรั่งเศสซึ่งทำงานที่นั่นนำชม

ท่านทูตให้ความเห็นว่า

“ประเทศไทยมีชายหาดหลายแห่งที่สวยที่สุดในโลก มีทิวทัศน์อันน่าทึ่งทั้งในชนบทและเทือกเขาน้อยใหญ่ คนไทยน่าจะเป็นผู้ที่มีน้ำใจไมตรีในการต้อนรับมากที่สุดในโลก ประเทศไทยมีสินทรัพย์มากมายเหลือคณานับในฐานะประเทศท่องเที่ยว ดังนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะหาทางฟื้นคืนกลับมาได้อย่างแน่นอน”