พรรคเล็ก อาสาเป็น “หางเครื่อง” หนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ คนนอก จับตาสูตรผสมพันธุ์ทางการเมือง : ในประเทศ

เสียงยุเสียงเชียร์ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดตั้งพรรคการเมืองและประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้ง ต้องสงบนิ่งทันที หลังครบกำหนด 90 วัน ต้องกลายเป็นบุคคลต้องห้าม

เพราะตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 263 วรรคเจ็ด บังคับไว้เลยว่า เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ เว้นเสียแต่จะพ้นตำแหน่งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ

รวมไปถึงคนที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน คสช. นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีร่วม ครม. และเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้นำมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวด้วย

นั่นจึงเท่ากับว่า ทั้ง คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนช. และ สปท. หากไม่ลาออกภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ หรือก่อนวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีอันต้องถูกล็อกห้ามลงเลือกตั้ง ส.ส. ไปโดยปริยาย

จึงไม่แปลกที่ก่อนวันครบกำหนด สปท. จะแห่สละเก้าอี้กันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ สปท.การเมืองที่มีสังกัดพรรคที่ขอชิ่งกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง

ยกเว้น นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกระดับอาหารดี ดนตรีไพเราะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ขอไม่ลาออก เพราะตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า จะขอเว้นวรรคไม่ลงเลือกตั้งสมัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสียงยุเสียงเชียร์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งพรรคลงเลือกตั้งจะเงียบสงัดลง ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ แต่หนทางสู่การสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งก็ยังมีอยู่อย่างเพียบพร้อม

ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน ที่มีบทบัญญัติที่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกรอบ โดยแทบไม่ต้องลงไปเกลือกกลั้วกับการเลือกตั้งด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะช่องทางตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ถูกปรับแก้ตามเนื้อหาของคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามตินั่นเอง ที่ให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่ คสช. จะเป็นผู้แต่งตั้งนั้น มีอำนาจในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ในช่วง 5 ปีแรกได้

ทั้งนี้ “ขยักแรก” ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอ โดยต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาด้วย

แต่ถ้าเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งมีเหตุให้ไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ก็ยังเปิดช่องให้มี “ขยักที่สอง” ตามมา

นั่นคือ สมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดสามารถเข้าชื่อเพื่อเข้ายื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อจัดประชุมเพื่อยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ โดยต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึงจะสามารถยกเว้นได้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เลือกคนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั่นเอง

แต่การจะไปถึงขยักที่สองได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเสียง ส.ส. คอยสนับสนุนด้วย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่บรรดาลูกแหล่งตีนมือ จะมาประสานเสียงอย่างพร้อมเพรียงเพื่ออาสาลงสนามเลือกตั้งแทน เพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบโดยไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง และไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งด้วย

ทั้งจากบรรดา สปท. ที่ลาออกและเตรียมจะจัดตั้งพรรคการเมือง ทั้งจากพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งจาก พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีต สปท. พร้อมกลุ่มก๊วนที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ก็ประกาศชัดว่า จะไม่กลับไปซบพรรคชาติพัฒนาของกลุ่มนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อีกต่อไป แต่จะร่วมกับพรรคพวกอดีต สปท. ที่ลาออกมา จัดตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ให้จงได้

หรือแม้แต่ก๊วนอดีต 50 ส.ส. ที่นำโดย นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ กับ นายจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีต ส.ส.ระยอง ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร อดีต ส.ส.กทม. ก็ประกาศชัดพร้อมหนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ อีกหน

เพราะหากทำสำเร็จจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับพรรคทหาร อันได้แก่ 250 ส.ว. นั่นเอง

และนั่นก็ยังหมายถึงโอกาสที่จะได้เป็น “หางเครื่อง” เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

คําถามว่า อะไรที่ทำให้คนเหล่านี้มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งในวันที่ประชาชนมุ่งเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล อย่างที่ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าประชาธิปัตย์ เคยตั้งข้อสังเกต โดยที่ไม่จำต้องอยู่ใต้ชายคาพรรคขนาดกลางและขนาดใหญ่

แน่นอนว่า คำตอบก็คงอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อีกนั่นแหละ

โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่มุ่งบอนไซไม่ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่สามารถได้ที่นั่งในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ด้วยการปรับลด ส.ส.เขตลงเหลือ 350 ที่นั่ง ขณะที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มให้เป็น 150 ที่นั่ง เปลี่ยนจากการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยจะนำคะแนนของ ส.ส.เขตทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมาคิดคำนวณเพื่อหาที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้

จึงคาดหมายกันว่า ด้วยระบบเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคขนาดกลาง อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย มีโอกาสได้รับที่นั่งในสภาจากโควต้าบัญชีรายชื่อมากขึ้นกว่าระบบเดิมๆ ที่เคยใช้มา

นี่เองจึงเป็นที่มาของข่าวการหยั่งกระแสของบรรดาพรรคเล็ก รวมไปถึงพรรคที่จะถูกตั้งขึ้นใหม่ ในการ “ผสมพันธุ์” ควบรวมเข้าด้วยกันให้เป็นพรรคขนาดกลางให้ได้

หรือไม่ก็รวมกลุ่มกันเพื่อเข้าร่วมกับพรรคที่มีอยู่เดิมเพื่อไปขยายฐานเสียงให้กับพรรคขนาดกลาง อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ตามที่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต สปท. แย้มสูตรไว้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันหาสมาชิกพรรค ลดภาระความยุ่งยากเรื่องการหาสมาชิกพรรคและการตั้งสาขาพรรคประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในระบบ “ไพรมารีโหวต” ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ได้มีแต่บรรดาลูกแหล่งตีนมือเท่านั้นที่เริ่มขยับ เพราะแม้แต่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ยังออกมาขยับเปิดช่องพร้อมคุยกับผู้ที่มีแนวคิดจะรวมพรรคเล็กเพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ถือเป็นบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เป็นต้นแบบเพื่อนำพาการเมืองกลับไทยไปอยู่ในยุค “เปรมโมเดล” โดยแท้

และหากเป็น “เปรมโมเดล” ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกฯ คนนอกจริงๆ โดยที่ไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 ต้องเจออภิปรายในสภาด้วยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เจอสื่อที่มีเสรีภาพมากกว่าเดิม มีการเมืองมวลชนเคลื่อนไหว ครม. ต้องมีสัดส่วนจากนักการเมือง การต่อรองแบบพรรคการเมืองจะกลับมา

จึงน่าสนใจมากว่า จะมีสภาพเป็นอย่างไร??