แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ (23)

จากที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ คือ พัฒนาการ พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของอังกฤษ ที่มีการแก้ไขถึงสามครั้งนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 เพราะสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่เหนือการคาดการณ์ของคณะผู้ร่างกฎหมาย

ดังนั้น หากทำความเข้าใจในประเด็นนี้ให้ดี ก็จะเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปตามกาลเวลา

ขณะเดียวกัน ในกรณีของอังกฤษและน่าจะรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ การแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์ (ไม่ว่าจะเป็นองค์รัชทายาทที่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่เป็นทางการก็ตาม)

และหากมีการแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์นั้นจะต้องอายุ 21 ปีขึ้นไป

กรณีของอังกฤษในปี ค.ศ.1952 อันเป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ หากพระองค์ทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด และเข้าข่ายที่จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะต้องแต่งตั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์

แต่ขณะนั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา และตามกฎหมายถือว่า พระองค์ทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ เพราะยังทรงพระเยาว์ แต่พระองค์จะทรงบริหารพระราชภารกิจได้ก็ต่อเมื่อทรงพระชนมายุครบ 18 พรรษา (ในกรณีของอังกฤษ เกณฑ์อายุขึ้นที่ครองราชย์ได้และสามารถบริหารพระราชภารกิจได้คือ 18 ปี แต่ในกรณีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีอายุ 21 ปี) ซึ่งพระองค์จะทรงพระชนมายุ 18 พรรษาในปี ค.ศ.1966

ดังนั้น ตาม พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น จะต้องแต่งตั้งเจ้าหญิงมากาเร็ตในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์อันดับถัดไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมายด้วย

ส่วนดยุคแห่งเอดินเบอระ (Duke of Edinburgh) ผู้เป็นพระสวามีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและพระราชบิดาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์จะไม่ทรงสามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้

และไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมายอีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ที่สร้างความยุ่งยากให้กับทั้งสามพระองค์ นั่นคือ ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินเบอระและเจ้าหญิงมากาเร็ต

จึงทำให้ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ.1937 เป็นครั้งที่สามในปี ค.ศ.1953 หลังจากที่มีการแก้ไขครั้งแรกไปแล้วในปี ค.ศ.1943 ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

 

ดังนั้น หากศึกษาและพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวของอังกฤษ จึงน่าจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ความยุ่งยากที่คล้ายคลึงกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศอื่นๆ

รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนรัชกาล

อย่างที่เกิดขึ้นในคราวที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1952

ซึ่งนอกจากอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังทรงพระเยาว์) ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีปัญหาความยุ่งยากอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับลำดับชั้นของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินด้วย

นั่นคือ จากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก ทำให้พระมเหสีของพระองค์ไม่อยู่ในรายนามตำแหน่งของผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป

ดังนั้น ในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงควรทำความเข้าใจลำดับชั้นของพระบรมวงศานุวงศ์ยามและผู้ที่อยู่ในลำดับชั้นที่จะสืบราชสันตติวงศ์เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล

อีกทั้งรัฐบาลก็ควรจะเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้เข้าใจกฎเกณฑ์ประเพณีดังกล่าว รวมทั้งกฎมณเฑียรบาลด้วย

 

ซึ่งในกรณีของไทยนั้นกฎมณเฑียรบาลก็เป็นเอกสารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านกูเกิล (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การสืบราชสันตติวงศ์)

อย่างในกรณีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี สถานะของพระองค์ภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ในสถานะ “ราชกุมารี” หรือ “princess royal” เช่นเดียวกันกับเจ้าฟ้าหญิงแอนในขณะนี้ภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

และในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” ถือเป็นพระรัชทายาทโดยสันนิษฐาน (presumptive heir) ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ในฐานะ “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” และเมื่อทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตําแหน่งสมเด็จพระยุพราช พระองค์ก็จะทรงเป็นพระรัชทายาท (apparent heir)

เฉกเช่นในปี พ.ศ.2515 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย

ณ ขณะนี้ “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” ทรงมีพระชนมายุ 12 พรรษา และจะทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษาในปี พ.ศ.2568 นั่นคืออีกแปดปีนับจากนี้

ขณะเดียวกัน ก็ควรพึงตระหนักถึงความจำเป็นของสถานการณ์ที่อาจต้องมีแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ด้วยเช่นกัน

ดังที่ปรากฏในกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของอังกฤษในปี ค.ศ.1943 และ ค.ศ.1953 และนักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษเองก็คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะต้องมีปรับปรุงให้ทันสมัยอีกในไม่ช้า

เพราะอย่างในกรณีของอังกฤษที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงไปแล้ว เช่น สภาวะที่มีปัญหายุ่งยากของอังกฤษในปี ค.ศ.1788 ที่พระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามทำให้พระองค์ไม่ทรงสามารถแสดงพระราชประสงค์ (the royal will) ผ่านพระราชหัตถเลขาในช่วงเวลาหนึ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระสติปัญญาสมบูรณ์ปรกติ และกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า พระราชประสงค์ขององค์พระประมุขจะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้นึกถึงกรณีของญี่ปุ่น

 

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคมที่ผ่านมา

ในการเสด็จเยือนประเทศไทย สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรและทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ผู้เขียนได้สอบถามถึงพิธีการดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่สำนักข่าวญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทราบความว่า ในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของญี่ปุ่น องค์สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะพระราชทานพระราชสาส์นแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษรแก่เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร

ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตคือ หากในกรณีใดที่พระองค์ไม่ทรงสามารถแสดงพระราชประสงค์ (the royal will) ผ่านพระราชหัตถเลขาในช่วงเวลาหนึ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระสติปัญญาสมบูรณ์ปรกติก็ตาม!