วิรัตน์ แสงทองคำ/เมืองหลวง หัวเมืองและชนบท (อีกตอน)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เมืองหลวง

หัวเมืองและชนบท (อีกตอน)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองและชนบท พัฒนาไปอย่างมาก ขณะเมืองหลวง-กรุงเทพฯ มีข้อจำกัดมากขึ้นไปถึงจุดหนึ่งที่น่าสนใจ

กรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่ 2554 สร้างแรงปะทะและความสั่นไหวครั้งรุนแรงต่อเมืองหลวง เมื่อน้ำเข้าทะลักกรุงเทพฯ ด้านเหนือ มีแนวโน้มเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน สถานการณ์และพฤติกรรมผู้คนได้เปลี่ยนไป

คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งหนีภัยไปอยู่พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ท่ามกลางปรากฏการณ์ความวิตกกังวลปกคลุม การกักตุนสินค้า ฯลฯ จนภาวะสินค้าขาดตลาดอย่างรุนแรง

บทสรุปทางเศรษฐกิจต้นทุนในการปกป้องกรุงเทพฯ ชั้นในครั้งนั้น นับว่าสูงทีเดียว ทั้งสร้างปัญหาโดยเฉพาะปริมณฑลและเมืองรองใกล้เคียง

อีกด้านหนึ่ง มองเห็นภาพความสัมพันธ์เป็นไปอย่างแตกต่างระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองและชนบทอีกด้วย

ว่าไปแล้ว “ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 เป็นต้นมา พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื่อว่าในช่วงจากนี้ไป แรงกระตุ้นจะเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างมหาศาล ระบบเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทไทยกำลังพัฒนาไปอย่างซับซ้อน และมีแรงดึงดูดมากกว่าครั้งใดๆ” ผมเคยเสนอมุมมองอย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่าด้วยความสำคัญของหัวเมืองและชนบท เมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว อาจถือเป็นทศวรรษของหัวเมืองและชนบท

ภาพความสัมพันธ์มีมิติลึกขึ้น ในปี 2554 เมื่อกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตอีกครั้งจากน้ำท่วมใหญ่ กินเวลาเกือบครึ่งปี (ปลายเดือนกรกฎาคม 2554-มกราคม 2555) จุดปะทุอย่างชัดแจ้ง ด้วยเรื่องราวและปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวง-กรุงเทพฯ กับหัวเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ภาพความขัดแย้งปรากฏขึ้น กรณีน้ำท่วมใหญ่เขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา กับการปกป้องสุดกำลังในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

กรุงเทพฯ – ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันในบางมิติเป็นเมืองซึ่งดูเหมือนพึ่งพิงหัวเมืองและชนบทมากขึ้น สะท้อนความเปราะบางมากกว่าที่คิด เป็นอีกด้านกับว่าด้วยอิทธิพลธุรกิจใหญ่ในเมืองหลวง ผ่านเครือข่ายในหัวเมืองและชนบท

 

เมืองหลวง-กรุงเทพฯ ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างไม่ผนึกผสานเท่าที่ควร เมืองที่มีบุคลิกเฉพาะมากขึ้นๆ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริง หรือภาคการผลิตตอบสนองมีอย่างจำกัด โดยมีผู้บริโภคจำนวนมากที่สุดในประเทศกระจุกตัวอยู่ ขณะหัวเมืองกับชนบทกำลังพัฒนาสร้างระบบเศรษฐกิจค่อยๆ เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ แม้เป็นไปอย่างกว้างๆ แต่ก็เข้าถึงกันได้สะดวกขึ้น

แรงกระตุ้นสำคัญเสริมเข้ามา จากมุมมอง ความเชื่อ และความชัดเจน ว่าด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ รองรับสถานการณ์ใหม่ การหลอมรวมระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค นอกจากมองเป็นโอกาสทางธุรกิจกว้างขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเชื่อว่าหัวเมืองจะเติบโตขึ้น โดยเฉพาะที่ที่มีภูมิศาสตร์สัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

แรงดึงดูดครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับหัวเมืองและชนบท ด้วยการลงทุนและแผนการขยายเครือข่ายอย่างกระตือรือร้น โดยบรรดาธุรกิจใหญ่-น้อยส่วนใหญ่มีฐานอยู่ในเมืองหลวง

จากเมืองหลวง-กรุงเทพฯ ดูเปราะบางและอ่อนไหว และแล้วขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่ว่า คลายไปจากความทรงจำ ความวิตกกังวล การหลอมรวมระบบเศรษฐกิจภูมิภาคเป็นไปอย่างช้าๆ

 

ปรากฏการณ์ และ “ภาพต่อ” เมืองหลวง-กรุงเทพฯ ศูนย์กลางแห่งความสนใจ ให้ความสำคัญครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยแผนการโครงการใหญ่ เพื่อพลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ

เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในเมืองหลวง (การชุมนุมใหญ่ของ กปปส.ปี 2556) ตามมาด้วยการรัฐประหาร มีรัฐบาลทหาร และต่อเนื่องด้วยรัฐบาลที่มาจากระบบเลือกตั้ง ว่ากันว่าเป็นไปตามแผนการสืบทอดอำนาจ (2557-ปัจจุบัน)

ภาพค่อยๆ ชัดขึ้น ระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์ที่เมืองหลวง-กรุงเทพฯ มากขึ้นๆ เป็นลำดับ

สอดคล้อง สอดรับกับภาพบางภาพ การผนึกกำลังหลอมรวมโครงการใหญ่ในใจกลางกรุงเทพฯ กรณี “สยามเซ็นตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่-สยามพารากอน” (ปี 2556) ไปจนถึงการเปิดตัวโครงการใหญ่ใหม่ๆ (ปี 2560) จาก “ดุสิตธานี-เซ็นทรัล” มุมถนนสีลม จนถึง “ไอคอนสยาม” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามมาติดๆ) กลุ่มทีซีซีเปิดโครงการ One Bangkok หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ เป็นแผนการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเมืองหลวง คาดว่ามีมูลค่าราวๆ 2-3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

นั่นคือ “ชิ้นส่วน” ซึ่งจับต้องได้ ท่ามกลางภาพใหญ่เป็นไปอย่างคึกคัก ด้วยความเชื่อมั่น ว่าด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้วยแรงขับเคลื่อนจากรายใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ครั้งใหม่ซึ่งแตกต่างอย่างคาดไม่ถึง

 

ว่าไปแล้วแผนการใหญ่ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นไปตามจังหวะเวลา ในช่วงเวลาเมืองหลวง รัฐได้เร่งเดินหน้าตามแผนการสร้างเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน

ในภาพที่ใหญ่ขึ้น อาจตีความใหม่ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงกับหัวเมืองและชนบท มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

ภาพหนึ่งซึ่งปรากฏใหม่ สะท้อนแง่มุมที่น่าไตร่ตรอง สะท้อนผ่านจำนวนประชากรในเมืองหลวง ว่าด้วยสถิติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ตามสำมะโนประชากร ดูแล้วไม่เพิ่มขึ้น อาจถือว่ามีแนวโน้มลดลงก็ได้ (อ้างอิงสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) จาก 5,701,394 คน (2553) เป็น 5,588,222 คน (2563)

แต่ที่น่าสนใจคือจำนวนแรงงานต่างชาติ (โปรดพิจารณาตาราง “จำนวนแรงงานต่างชาติ” ประกอบด้วย) จากประเทศเพื่อนบ้าน มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล และช่างบังเอิญ เป็นช่วงเมืองหลวง-กรุงเทพฯ กำลังได้รับความสนใจครั้งใหม่

ส่วนตัวเลขแรงงานจากภาคเกษตรกรรมของไทยในหัวเมืองและชนบทที่มาทำงานในเมืองหลวง ไม่มีตัวเลขแน่ใจ แต่เชื่อว่ามีจำนวนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า อันเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก ตามหัวเมืองและชนบทที่เกี่ยวข้องที่ว่านั้น

ภาพใหญ่ ตัวเลขแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งทศวรรษมานี้ สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยหลายมิติ จะเป็นความสัมพันธ์อันยั่งยืนหรือเปราะบางในทางเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องน่าศึกษาวิจัย

แต่ภาพหนึ่งในเวลานี้ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ COVID-19 สะท้อนความสัมพันธ์อันเปราะบางหลายมิติ ความเปราะบางบางมิตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา กำลังถาโถมเมืองหลวง-กรุงเทพฯ อย่างหนัก และเชื่อมโยงไปยังหัวเมืองกับชนบทด้วยอย่างมิพักสงสัย

โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวข้องกับแคมป์แรงงานหลายร้อยแห่งในกรุงเทพฯ นั้น จะมองอย่างง่ายๆ หยาบๆ คงไม่ได้