การศึกษา /จับตารัฐบาล แก้ ‘หนี้ครู’ ทำจริง หรือแค่หาเสียง??

การศึกษา

จับตารัฐบาล แก้ ‘หนี้ครู’

ทำจริง หรือแค่หาเสียง??

 

“หนี้ครู” กลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย เพื่อลดภาระคนไทย

เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีหนี้สินมากขึ้น

พร้อมแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ เป็นประธาน ไปหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ได้แก่ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ขีดเส้นตายว่าภายใน 6 เดือน จะต้องหาแนวทางแก้ปัญหา ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา!!

เพราะจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 18 ปี

ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หนี้สินสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 4/2563 โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาส 1/2564 มาจากหนี้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

ดังนั้น งานนี้จะช้าไม่ได้ ต้องดำเนินการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด…

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของ “ครูและบุคลากรทางการศึกษา”

ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล ปัญหานี้ยังคงอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้…

จากข้อมูลเมื่อปี 2563 พบว่า หนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของครูและบุคลากรทางการศึกษา อยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู กว่า 8.74 แสนล้านบาท ธนาคารออมสินมีหนี้อยู่ 3.9 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท

รวมยอดหนี้ทั้งหมด กว่า 1.4 ล้านล้านบาท!!

ยังไม่รวม “หนี้นอกระบบ” ที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนรวบรวมมาก่อน…

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกโรงรับคำสั่งการของนายกฯ ทันที โดยมอบหมายให้นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม หนี้ครูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบก่อนสรุป หรือออกมาตรการช่วยเหลือออกมา โดยมีเป้าหมาย “ลดดอกเบี้ย” โดยเฉพาะครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพราะครูเป็นหนี้มากที่สุด

ส่วนจะลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ หรือจะเริ่มดำเนินการช่วงไหน ศธ.ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง!!

 

ขณะที่นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ต้องมาพิจารณาดูว่าหนี้ของครูเกิดจากอะไร พร้อมกับดูปัญหาอย่างรอบด้าน ครบทุกมิติ ตั้งแต่ระดับเจ้าหนี้ถึงลูกหนี้ เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหา พร้อมกับนำแนวทางที่คณะทำงานชุดก่อนเคยพิจารณาไว้มาวิเคราะห์ รวบรวม และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้สำเร็จโดยเร็ว ก่อนเสนอให้นายกฯ พิจารณาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่นาน

ทั้งนี้ นายสุทธิชัยได้แนวคิดที่น่าสนใจ ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ต้องมองถึงอนาคตคนที่จะมาเป็นครูด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันคนรุ่นใหม่ไม่ให้มีหนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความรู้เรื่องการเงิน การใช้ชีวิตเพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักวางแผนทางการเงิน และไม่ก่อหนี้ในอนาคต

ส่วนสาเหตุที่ครูมีหนี้สินท่วมหัว ซึ่งหลายคนมองว่ามาจากความฟุ่มเฟือย ต้องการมีหน้าตาในสังคม และไม่รู้จักประมาณตนของครูเอง…

แต่นายไพศาล ปันแดน ประธานเครือข่ายองค์กรครูไทย (ค.อ.ท.) กลับมองว่า ปัญหาหนี้ครูเกิดจากที่ครูส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ค่อนไปทางยากจน พ่อ-แม่ต้องกู้เงินส่งลูกเรียน เมื่อลูกเรียนจบ ต้องส่งเงินให้พ่อ-แม่ไปใช้หนี้ ส่วนใหญ่ครูต้องส่งเงินให้ครอบครัวมากกว่า 50% ของรายได้

“หากครูไปสอนที่ต่างจังหวัด หรือโรงเรียนอยู่ไกลจากที่พัก จะต้องซื้อรถ เช่าบ้าน หรือซื้อบ้านอยู่ ทำให้ครูมีรายจ่ายมากขึ้น ที่สำคัญ ครูไม่มีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือน เพราะสมัยก่อนครูจะทำงานอื่นบ้าง แต่ถูกสังคมโจมตีว่าครูไม่ทุ่มเทกับการสอน ครูจึงทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว” นายไพศาลระบุ

ด้านนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มองว่า ทุกอาชีพต่างมีหนี้ และไม่คิดว่าครูที่มีหนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ แต่เพราะครูมีจำนวนมาก จึงทำให้ทุกคนให้ความสำคัญกับหนี้ครู ปัญหาหนี้สินของครูมาจากปัญหาส่วนตัวของครูเอง

เลขาฯ สกสค.มองทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ว่า ต้องแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล และต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือต้องทำให้ครูมีวินัย รู้จักวางแผนทางการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนทุกคนควรจะได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก!!

 

ปิดท้ายที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า ในระยะสั้น ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาครูเบื้องต้น เพื่อแก้ปัญหาที่ครูเจออยู่ ต่อมาควรแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยให้ปรับเงินเดือนครูขึ้น ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ แต่ต้องทำคู่ขนานกับการปรับคุณภาพของครู ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการปฏิรูปการศึกษา เป็นแผนในระยะกลางถึงยาว

พอเงินเดือนครูขึ้น แต่คุณภาพของครูไม่ได้ดีตาม ก็ไปมีผลกระทบต่อเรื่องการศึกษา เรื่องงบประมาณ ต้องมีการทำอย่างครบวงจร เป้าหมายที่จะขึ้นเงินเดือนครู ต้องโยงไปถึงการพัฒนาขีดความสามารถของครู ของระบบการศึกษา ของนักเรียน ต้องมองประเด็นเชื่อมโยงกันด้วย

“เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การศึกษาเปลี่ยน นักเรียน นักศึกษา จะมีความสามารถไม่เท่ากับเด็กสมัยก่อน เพราะเน้นเรียนทางออนไลน์ ต้องมีความพยายามให้ครูมีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง แล้วก็ต้องพยายามช่วยเพิ่มรายได้ของครูด้วยการสอนเสริม เหมือนกับต่างประเทศที่มีกองทุนช่วยติวนักเรียนที่เรียนช้า ให้ครูช่วยติวในเรื่องต่างๆ เพื่อให้นักเรียนตามทันการเรียนได้ทัน” นายสมชายระบุ

จับตาดูว่าภายใน 6 เดือนนี้ “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหาหนี้สินให้ครู และประชาชนหลากหลายอาชีพได้จริงหรือไม่…

หรือเป็นเพียงนโยบายใช้ “หาเสียง” และ “ยาหอม” ให้ครูทั่วประเทศดีใจเก้อ เหมือนที่ผ่านมา!!

 

ภาพครู+เงิน