จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2564

จดหมาย

แรงงานต่างชาติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

พบว่ามีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อสะสมจำนวน 41,784 คน (ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2564)

แบ่งเป็น เมียนมา 35,377 คน กัมพูชา 4,707 คน และลาว 1,700 คน

การแพร่ระบาดในระลอกที่สาม รุนแรงและกระจายตัวออกเป็นวงกว้างของการระบาดมากกว่าทั้งสองระลอกที่ผ่านมา

มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อทั้งหมด 26,241 คน

เป็นเมียนมา 20,163 คน กัมพูชา 4,478 คน และลาว 1,600 คน

สาเหตุของการกระจายตัวส่วนหนึ่งมาจากถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างปิดกิจการโดยเฉพาะในภาคบริการ เพราะวิกฤตโควิด หรือตามคำสั่งของ ศบค.

บีบให้แรงงานข้ามชาติต้องหางานอื่นเพื่อเลี้ยงตัวเอง

ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นผิดกฎหมายไป

เพราะทำงานผิดประเภท หรือเอกสารแรงงานไม่ตรงกับนายจ้างปัจจุบัน

แม้ทั้งตัวแรงงานและนายจ้างไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่กระทรวงแรงงานกลับตั้งชุดเฉพาะกิจ 6 ชุดขึ้นมากวาดล้างคนเหล่านี้

ทำให้มีความกังวล แรงงานยิ่งหลบซ่อน

ไม่สบายก็ไม่กล้าไปพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกจับ

ทำให้การควบคุมโรคติดต่อจะทำได้ยากขึ้น

ภาครัฐควรต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

คือ ให้คนงานเข้าถึงการควบคุมโรค ทั้งการตรวจ และวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด

และจะต้องใช้หลัก 4 อ.ในการจัดการ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย อาชีพ และมีการดูแลรักษาเมื่อมีอาการ

ซึ่งตอนนี้ไม่มีการใช้ 4 อ.เลย

ส่วนการเข้าถึงวัคซีน แรงงานข้ามชาติที่มีเอกสาร มีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน

พบข้อจำกัดว่า ยังไม่มีภาษาประเทศต้นทางของแรงงาน และทั้งแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์สำหรับจองไม่เอื้อต่อการลงทะเบียน

ส่วนแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคนนั้น

แม้มีช่องทางจองวัคซีนผ่านสำนักงานประกันสังคม และระบบจองของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายจ้างจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนให้

แต่มีโอกาสตกหล่น และระยะเวลาในการลงทะเบียนจำกัด ไม่มีแผนขยายระยะเวลาการลงทะเบียน อีกทั้งไม่รับทราบข้อมูลนัดหมาย

ส่วน “ผู้ติดตามแรงงาน” ซึ่งมีประมาณ 1 แสนคน มีระบบจองหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฉีดในเด็กอย่างไร

และยังพบลูกแรงงานต่างชาติ ไม่มีเอกสารเพราะไม่ได้เกิดในไทย

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเอกสารเลย ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1-2 ล้านคนนั้น ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงวัคซีน นอกจากวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

ประเมินว่ากระทรวงแรงงานกลัวกระแสสังคมมากกว่าว่าเหตุใดถึงไม่จัดการแรงงานที่ผิดกฎหมาย

กระแสนี้มาพร้อมกับข่าวคนลักลอบเข้าประเทศ แต่เมื่อไม่สามารถจัดการคนลักลอบเข้าประเทศได้ ก็มาเข้มงวดกับคนที่อยู่ข้างในประเทศแทน

ดังนั้น ใน ศบค.จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ และกล้าเสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องการแบบไหน

เพราะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด

นายอดิศร เกิดมงคล

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group)

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

Website : https://mwgthailand.org/

 

น่ารับฟัง

น่าห่วง

น่าเอาใจใส่ ถึงจะเป็น “คนนอก” แต่ก็อยู่ข้าง “ใน”

น่าแก้ไข รีบด่วน

 

ไทยในต่างแดน

ภาพเก่าเล่าเรื่อง

นายอรรณพ ตันติสุนทร (คนซ้าย) นักศึกษาแพทย์ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น พ.ศ.2502

เยี่ยมคำนับจอมพล ป.พิบูลสงคราม (คนกลาง) ที่พำนักอยู่ ณ กรุงโตเกียว

หลังจากจบแพทย์ที่ญี่ปุ่น นพ.อรรณพไปเรียนแพทย์เฉพาะทางที่สหรัฐอเมริกา

และทำงานเป็นแพทย์ที่รัฐแมรีแลนด์

มีครอบครัวอยู่สหรัฐนานกว่า 50 ปี

พ.ศ.2564 มีสถานการณ์โควิด-19 ที่ไทย

นพ.อรรณพ (อายุ 81 ปี) ได้บริจาคเงินให้โรงพยาบาลอำเภอ 9 แห่งใน จ.ตาก โรงพยาบาลละ 1 ล้านบาท

จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือ รักษาประชาชนที่เจ็บป่วย

จาก

อุดร ตันติสุนทร

 

ดูจะเป็นภาพ-ข่าวสังคมไปบ้าง

แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีในร้าย

เงิน 9 ล้านคงช่วย 9 โรงพยาบาลได้ตามสมควร

ส่วนภาพเก่าเล่าเรื่องจอมพล ป.กับญี่ปุ่น

มีแง่มุมน่าสนใจ สมควรที่คนรุ่นหลังน่าเรียนรู้

ต้องไม่ลืม ญี่ปุ่นคือประเทศ “ลี้ภัย” ที่จอมพล ป.ไปถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น

เมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ.2507 หลังหมออรรณพพบไม่กี่ปี