ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

สุทธิชัย หยุ่น ไปจิบ “กาแฟดำ” กับ “ดร.นก” ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ

แบงก์ชาติที่ ดร.นกบอกสุทธิชัย หยุ่น ว่า ‘ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น’

“ผมพยายามปลอบใจตัวเองว่าหน้าที่ของคนแบงก์ชาติ คือ เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหน้าที่เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว”

อะไรคือสิ่ง “กังวล”

 

กังวลแรก คือ การจัดการความคาดหวังของคน

กังวลที่สอง คือ ความเร็วในการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้เท่าทันกับการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19

กังวลที่สาม คือ จะมีวัคซีนพอฉีดไหม

กังวลที่สี่ คือ ภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม

กังวลที่ห้า คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น

รายละอียดของความกังวลเหล่านี้ พลิกอ่านที่หน้า 89

อ่านแล้วคงจะตอบด้วยตนเองได้ว่า จะกังวลร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติไปด้วยหรือไม่

ซึ่ง ดร.นกได้เรียกร้องต่อทุกฝ่ายว่า การหยุดวิกฤตนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน

“ไม่เช่นนั้น ก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น”

 

ดร.นก แม้จะรับสภาพ ‘ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น’ อย่างที่บอกไว้ข้างต้น

แต่ก็สารภาพเช่นกันว่า โดยส่วนตัวเป็นคน “ขี้กังวล” โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

“โดยธรรมชาติ ผมเองก็เป็นคนขี้กังวลอยู่แล้ว มาทำงานที่นี่มีข้อดีคือพอเจอกับสถานการณ์ที่ต้องคิดหนักคิดมาก ก็รู้จักที่จะบังคับตัวเองให้หยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่ไหว ก็เลยได้ปรับตัวและปรับปรุงตัว”

ดร.นกบังคับตัวเองให้หยุดอย่างไร–สุทธิชัย หยุ่น ซักไซ้มาให้เราทราบแล้ว

ส่วนจะนำไปปรับใช้ได้บ้างหรือไม่ ก็ตามสะดวก

แต่ตอนนี้ ดูเหมือนคนไทยทั้งประเทศจะวิตกกังวลกับวิกฤตโควิด-19

และหลายคนคงจะบังคับตัวเองให้หยุดวิตกไม่ได้

แถมดูเหมือนยังเพิ่มความวิตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

 

ว่าที่จริง เดือนกรกฎาคม น่าจะเป็นเดือนแห่งความผ่อนคลาย

โดยเฉพาะคนรักกีฬา

ฟุตบอลยุโรป และโคปา อเมริกา กำลังจะได้ประเทศที่เป็นแชมป์ของ 2 ทวีป “เจ้าแห่งฟุตบอล”

ส่วนในเอเชีย ที่ประเทศญี่ปุ่น กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 หรือชื่อที่เป็นทางการ กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 โตเกียว 2020 จะเริ่มขึ้นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564

นายจอห์น โคตส์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เคยเรียกการแข่งขันครั้งนี้ว่า “มหกรรมกีฬาแห่งชัยชนะเหนือโควิด-19”

แต่มาถึงวันนี้ ไม่เพียงคนญี่ปุ่น แต่รวมถึงคนทั้งโลกกำลัง “กังวล”

กังวลว่านี่จะเป็น “มหกรรมกีฬาแห่งความพ่ายแพ้ต่อโควิด-19” หรือไม่

 

วัชระ แวววุฒินันท์ นำเกร็ดและข้อมูลของโอลิมปิกขึ้นเป็น “เครื่องเคียง” ในมติชนสุดสัดาห์ฉบับนี้

โดยห่วงว่า โตเกียวเกมส์จะเผชิญอาถรรพ์ 40 ปีของกีฬาโอลิมปิกหรือไม่

ซึ่งแน่นอน เมื่อเป็นอาถรรพ์ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องดี

แต่เราก็คาดหวังว่า มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งนี้ จะเป็นเกมแห่งชัยชนะเหนือโควิด-19 อย่างที่หวังเอาไว้

แม้จะเป็นความหวังที่ริบหรี่เหลือเกิน

ริบหรี่เหมือนมองย้อนกลับเข้ามาที่บ้านเราตอนนี้